จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์
โรดแมปการทำงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในเวลานี้เรียกได้ว่าเข้าสู่รอยต่อระหว่างระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ซึ่งในระยะที่ 1 ว่าด้วยการควบคุมอำนาจและการรักษาความมั่นคงนั้นถือว่ามีความคืบหน้าไปมากพอ สมควร พร้อมกับเร่งจัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปทั่วประเทศ
โดย คสช.คาดว่าจะพาประเทศเข้าสู่ระยะที่ 2 ว่าด้วยการตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาปฏิรูปการเมืองได้ในเร็วๆ นี้ หลังจาก คสช.มอบหมายให้ “วิษณุ เครืองาม” อดีตรองนายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษากฎหมายของ คสช. ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว
หัวใจสำคัญของการมีรัฐธรรมนูญชั่วคราว คือ การกำหนดโครงสร้างของสถาบันการเมืองจำนวน 3 สถาบัน ได้แก่ คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ สภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งการรัฐประหารเมื่อปี 2549 ได้กำหนดให้มีสถาบันทางการเมืองทั้งสามเอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว
หากมองถึงภูมิหลังของอาจารย์วิษณุที่เคยเป็นอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติ แห่งชาติ (สนช.) เมื่อปี 2549 ย่อมมีความเป็นไปได้ที่จะยึดหลักการเดิมของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวของเมื่อ ปี 2549 เอาไว้ เพียงแต่อาจมีการปรับเปลี่ยนในรายละเอียดบางส่วนเล็กน้อย
สำหรับประเทศไทยแล้วในระยะหลังมานี้ ผ่านการปฏิรูปประเทศด้วยกระบวนการตรารัฐธรรมนูญที่สำคัญๆ มาแล้ว 3 ครั้ง ซึ่งโครงสร้างของการทำงานเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญในแต่ละครั้งมีความแตกต่าง กันไป
ครั้งที่ 1 การยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 : ภายหลังคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้ยึดอำนาจและยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 ต่อมา รสช.ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองชั่วคราว ซึ่งการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในเวลานั้น รสช.ไม่ได้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เป็นการเฉพาะแต่ให้ สนช. ที่ รสช.เป็นผู้แต่งตั้งมาดำเนินการตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมี “มีชัย ฤชพันธุ์” เป็นประธาน และมี “วิษณุ” ร่วมเป็นกรรมาธิการด้วย
แต่กระนั้นการจัดทำรัฐธรรมนูญในปี 2534ไม่ได้จบลงที่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการ เพราะธรรมนูญการปกครองชั่วคราวบัญญัติว่า เมื่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วจะต้อง ส่งมาให้ สนช.พิจารณาอีกครั้ง ซึ่งที่สุดแล้วรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุม สนช. และประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2534
ครั้งที่ 2 การยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 : เป็นครั้งแรกที่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้นโดยฉันทามติร่วมกันของ ทุกฝ่าย ไม่ใช่การยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีเหตุมาจากการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งเหมือนกับทุกครั้งที่ผ่านมา
ปี 2539 รัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา ตัดสินใจแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 มาตรา 211 เพื่อตั้ง ส.ส.ร.ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จภายใน 240 วัน โดยมีสมาชิก ส.ส.ร. จำนวน 99 คน แบ่งเป็นจากการเลือกตั้ง 76 คน และตัวแทนนักวิชาการ 23 คน
ต่อมาที่ประชุม ส.ส.ร. มีมติให้ “อุทัย พิมพ์ใจชน” เป็นประธานและตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 29 คน ให้ “อานันท์ ปันยารชุน” อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมี “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ซึ่งเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในตอนนั้นเป็นเลขานุการ
แม้การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีกลไกพิเศษอย่างสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่การอนุมัติเห็นชอบในขั้นตอนสุดท้ายยังคงเป็นของรัฐสภาเหมือนกับการจัดทำ ร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2534 ซึ่งที่ประชุมรัฐสภาก็ให้ความเห็นชอบก่อนที่ประธานรัฐสภาจะนำร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ขึ้นทูลเกล้าฯ และทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ในวันที่ 11 ต.ค. 2540
ครั้งที่ 3 การยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 : เป็นอีกครั้งที่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาจากการรัฐประหาร ทั้งนี้ เมื่อปี 2549 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้ออกแบบโครงสร้างของ ส.ส.ร.เอาไว้ค่อนข้างซับซ้อนและแฝงไว้ด้วยการเข้าคุมการยกร่างรัฐธรรมนูญของ คมช.ในทางอ้อมถึง 3 ชั้น
-ชั้นที่หนึ่ง รัฐธรรมนูญชั่วคราวบัญญัติให้คมช.มีอำนาจคัดเลือกผู้ที่ผ่านการเห็นชอบจาก ที่ประชุมสมัชชาแห่งชาติ 200 คน ให้เหลือ 100 คน เพื่อดำรงตำแหน่ง ส.ส.ร.ที่มีหน้าที่ต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จภายใน 180 วัน
-ชั้นที่สอง ประธาน คมช.มีอำนาจแต่งตั้งบุคคลไปดำรงตำแหน่งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ จำนวน 10 คนจากทั้งหมด 35 คน โดยส่วนที่เหลืออีก 25 คนมาจากความเห็นชอบของที่ประชุม ส.ส.ร. ซึ่งครั้งนั้นผู้ที่ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คือ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ
-ชั้นที่สาม ในกรณีที่ ส.ส.ร.ได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วจะสามารถประกาศบังคับใช้ก็ต่อเมื่อ ผ่านการทำประชามติและได้รับความเห็นชอบจากประชาชน แต่หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ผ่านการทำประชามติ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวบัญญัติให้ คมช.สามารถประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรีเพื่อนำรัฐธรรมนูญที่เคยบังคับใช้ในอดีต มาทำการปรับปรุงและประกาศใช้ได้ต่อไป
ดังนั้น เมื่อดูโครงสร้างของการปฏิรูปการเมืองผ่านกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญในอดีต ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าคณะรัฐประหาร หรือรัฐบาลในฐานะผู้ถืออำนาจจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินการทั้งทาง ตรงและทางอ้อมทุกครั้งซึ่งแน่นอนว่าโมเดลของสภาปฏิรูปที่จะเข้ามายกร่างรัฐ ธรรมนูญฉบับแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับที่ 19 ในครั้งนี้ย่อมเกิดสภาพของการมีส่วนร่วมของ คสช.เช่นกัน แต่จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และเป้าหมายของการปฏิรูปการเมือง
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน