สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ : แผนการปฏิรูปกฎหมายและภาษีแบบเร่งด่วน (Fast Track) 1

จากประชาชาติธุรกิจ

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์
ประธานคณะกรรมการภาษี สภาหอการค้าไทย
กรรมการสภาหอการค้าไทย
กรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
อาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

ผมได้เขียนบทความเรื่องการปฏิรูปภาษีมาตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านมาหลายครั้ง  รวมทั้งบทความแผนปฏิบัติ (Roadmap) เพื่อปฏิรูปประเทศไทยใน 4 ด้าน (LETS Reform Thailand)  คือ (1) การปฏิรูปกฎหมาย (Legal Reform) (2) การปฏิรูปการศึกษา (Education Reform) (3) การปฏิรูปภาษี (Tax Reform) และ (4) การปฏิรูปสังคม (Social Reform)  แต่ช่วงเวลาที่ผ่านมาดูเหมือนว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่ได้ให้ความสำคัญ
 

 

ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในสภาวะรัฐประหารที่หัวหน้าคณะ คสช. มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ทั้งด้านบริหารและนิติบัญญัติ ที่สามารถบริหารราชการแผ่นดินและตรากฎหมายได้ตามความจำเป็น
แม้กระบวนการนี้จะไม่เป็นที่ยอมรับตามหลักประชาธิปไตยในสายตานักวิชาการและบรรดาประเทศตะวันตกบางประเทศก็ตาม 
 

 

ในห้วงวิกฤติทางการเมืองและความเชื่อมั่นของประชาชนและในสายตารัฐบาลต่างประเทศบางประเทศเช่นนี้ การเร่งที่จะเรียกความเชื่อมั่นของประชาชนในประเทศและต่างประเทศโดยเฉพาะนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศคืนมาโดยเร็วนั้นเป็นสิ่งที่ คสช. ควรต้องรีบเร่งดำเนินการ
 

 

ผมจึงขอเสนอว่าประเทศไทยต้องพลิกวิกฤติเหล่านี้ให้เป็นโอกาสของประเทศ  โดยมีแผนปฏิบัติ (Roadmap) โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปกฎหมายและภาษีในรูปแบบการปฏิรูปประเทศด้วยกระบวนการแบบเร่งด่วน หรือที่เรียกว่า Fast Track โดยวิธีการตรากฎหมายที่มีความสำคัญในการปฏิรูป ด้านต่างๆ ด้วยความรวดเร็ว เร่งด่วน เพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยทันที เพราะในอดีตที่ผ่านมาประเทศไทยติดกับดักในเทคนิคทางกฎหมายมากมายหลายเรื่อง เช่น กระบวนการเรื่องความชอบด้วยกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญ ความล่าช้าในการร่างและผ่านกฎหมายในระบบรัฐสภา  และที่สำคัญมาตรการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ ไม่เลือกปฏิบัติ อันเป็นปัญหาเชิงระบบและตัวบุคคล รวมทั้งการกล่าวอ้างระบบเสียงข้างมากในการตรากฎหมายโดยไม่คำนึงถึงหลักนิติธรรมและสิทธิประชาชนเสียงข้างน้อยที่จะทำอะไรก็ไดั
 

 

การที่สถานการณ์ในประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงไปที่มีคณะ คสช. ที่สามารถบริหารราชการแผ่นดินและตรากฎหมายได้ด้วยความรวดเร็วกว่าสถานการณ์ปกติ  ผมจึงขอเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปในแต่ละด้านที่สำคัญ  โดยนำผลการศึกษาที่มีอยู่มาพิจารณาและจัดลำดับความสำคัญของกฎหมายในส่วนของประเด็นแต่ละเรื่อง กรณีเป็นเรื่องเร่งด่วนก็นำเสนอให้ออกประกาศมีสถานะเป็นกฏหมายให้มีผลบังคับโดยทันที  โดยเฉพาะโครงสร้างอำนาจของ คสช. ที่แบ่งเป็นฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายสังคมจิตวิทยา ฝ่ายเศรษฐกิจ และฝ่ายกฎหมายยุติธรรม นอกเหนือจากฝ่ายเลขาธิการ กองกำลังรักษาความสงบ และกิจการพิเศษ ก็ย่อมจะสอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูป 4 ด้านที่ประเทศไทยต้องปฎิรูป  จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีคณะกรรมการดังกล่าว
                      

 

ประเด็นการปฏิรูปในแต่ละเรื่องที่ คสช. จะพิจารณาก็ควรจะมีการดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานหรือคณะกรรมการที่พิจารณาประเด็นที่จะปฏิรูป โดยคณะกรรมการดังกล่าวควรประกอบจากผู้แทนหลายภาคส่วนทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ที่จะสามารถมาช่วยกลั่นกรองข้อเสนอหรือผลการศึกษาที่มีอยู่ในแต่ละเรื่อง ทั้งที่มีมาจากหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศเพื่อนำมาพิจารณาคัดเลือกผลการศึกษาที่ดีที่สุดในการเสนอกฎหมายโดยออกเป็นประกาศ คสช. แบบ Fast Track (กรณีเร่งด่วน) เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการออกประกาศของแต่ละฝ่ายนั้นจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่ประโยชน์ส่วนตัวโดยต้องไม่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์  และที่สำคัญคือความโปร่งใสในกระบวนการทำงานโดยสามารถตรวจสอบได้
                       

 

การตรากฎหมายในระบบ Fast Track นี้ต้องมีเป้าหมายในการลดการใช้ดุลพินิจของภาครัฐ โปร่งใสตรวจสอบได้ เพื่อป้องกันการทุจริตและการเอื้อประโยชน์ให้แก่พวกพ้องหรือบุคคลเฉพาะกลุ่ม หรือสร้างระบบอุปถัมภ์  รวมทั้งสามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีกลไกการตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายและวัดผลการบังคับใช้กฎหมายได้อยู่ภาย ใต้กรอบหลักนิติธรรม  หากผู้ร่างกฎหมายยึดหลักดังกล่าวใด้อย่างมั่นคงแล้ว ประเทศไทยก็จะสามารถปฏิรูปประเทศได้ตามที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการ การคิดนอกกรอบการตรากฎหมายอาจไม่อยู่ในกรอบนิติวิธี Fast Track นี้  จึงควรให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมที่ให้ภาคเอกชนหรือเครือข่ายปฏิรูปที่ได้เคย จัดตั้งมามีส่วนร่วมนั้น ผมเชื่อว่าวิธีการนี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศไทยในการดำเนินการ เช่นว่านี้ กรณีนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาควรทำหน้าเป็นเลขานุการและให้คำแนะนำดูแล ด้านเทคนิคทางกฏหมายไม่ให้ขัดกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่เพื่อที่จะตรากฎหมาย ด้วยความรวดเร็ว มากกว่ากระบวนการร่างกฎหมายที่ทำอยู่ในปัจจุบัน
 

 

กฎหมายที่ผ่านกระบวน Fast Track เหล่านี้ ควรจะได้มีการกำหนดกระบวนการที่จะให้สภานิติบัญญัติสามารถนำมาปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในรูปกฎหมายที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญในภายหลัง เพื่อให้สอดคล้องกับนิติวิธี  กรณีเรื่องที่มีสำคัญกฎหมายบางฉบับอาจต้องมีกระบวนการประชามติไปพร้อมกับร่างรัฐธรรมนูญก็ได้ 
 

 

ข้อเสนอนี้ไม่ได้มุ่งให้การแก้ไขหรือปฏิรูปกฏหมาย  ทุกฉบับต้องใช้กระบวนการ Fast Track แต่อย่างใด แต่ คสช. ควรจัดลำดับความสำคัญว่ากฎหมายใดที่มีความสำคัญเร่งด่วนในการปฏิรูปประเทศไทย ส่วนที่มีความเร่งด่วนน้อยอาจเป็นระยะกลางก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลเฉพาะกาล และสภานิติบัญญัติ ที่จะมีการจัดตั้งตามธรรมนูญชั่วคราว ดำเนินการต่อไปภายใต้กรอบเวลาและรัฐธรรมนูญชั่วคราว

 

 

ข้อเสนอการปฏิรูปกฎหมายทั่วไป


ในความเห็นของผมมีเรื่องสำคัญที่จะต้องผ่านกฎหมายโดยเร่งด่วนที่โปร่งใสตรวจสอบได้ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรมโดยไม่เป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายกลั่นแกล้งคนบริสุทธิ์หรือฝ่ายตรงข้ามได้  และการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวต้องสามารถตรวจสอบได้  มีดังนี้

 

1. กฎหมายการปฎิรูปภาษีที่ประเทศไทยต้องปฏิรูปใหญ่เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ระบบการคลัง สร้างความโปร่งใส และสร้างความเข้มแข็งและให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันได้ในเวทีการค้าโลกและสามารถใช้เป็นมาตรการต่อต้านการทุจริตของนักการเมือง ข้าราชการ และนักธุรกิจที่ประพฤติมิชอบ รวมทั้งมาตรการลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ว่าเป็นภาษีทรัพย์สิน ภาษีสิ่งแวดล้อมภาษี น้ำท่วม ภาษีการซื้อขายหุ้นที่เก็งกำไร  ทั้งนี้ ตามรายละเอียดที่ผมเสนอในท้ายข้อเสนอนี้
 

2.กฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันการต่อต้านการทุจริต การจัดตั้งศาลชำนาญการพิเศษและกระบวนพิจารณาคดีทุจริตที่ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วภายใต้กรอบเวลาที่กำหนด มีหน่วยงานอิสระฟ้องร้องคดี อาจเพิ่มเติมอำนาจ ปปช. คปท. หรือให้ประชาชนสามารถฟ้องร้องคดีได้เอง  ทั้งนี้ อาจต้องมีการสรรหาเจ้าหน้าที่หน่วยงานพิเศษเข้าปฏิบัติงานใหม่เช่นเดียวกับที่ประเทศฮ่องกง  คดีทุจริตดังกล่าวต้องไม่มีอายุความ รายละเอียดกฎหมายที่องค์กรต่อต้านคอรรัปชั่นหรือ ปปช. เคยเสนอร่างกฎหมาย คสช. จึงควรนำมาพิจารณาให้เป็นกฎหมายโดยเร่งด่วน
 

3.กฎหมายที่ให้ความเป็นอิสระแก่ข้าราชการ ทหารตำรวจในการปฏิบัติงานโดยมิให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซงทำนองเดียวกับศาลอัยการ  รวมทั้งการแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจที่ต้องมีกระบวนการโปร่งใส ปราศจากกจากการแทรกแซงและเป็นการตอบแทนประโยชน์แก่พรรคพวกของตนเองโดยกำหนดคุณสมบัติของกรรมการที่เหมาะสม  โดยอาจมีองค์กรอิสระจากภาคเอกชนที่มาจากบริษัทจดทะเบียนหรือสมาคมกรรมการไทยเป็นผู้สรรหากรรมการอิสระเพื่อเสนอให้ผู้ถือหุ้นเลือกต่อไป
 

4.กฎหมาย การเลือกตั้งทั้งระดับท้องถิ่นและประเทศที่ต้องป้องกันการทุจริตและห้ามมิ ให้บุคคลดังกล่าวหรือบุคคลที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนทำธุรกิจกับหน่วยงานที่ตน ดำรงตำแหน่ง รวมทั้งการได้มาของผู้แทนที่สุจริตและการกระจายอำนาจอย่างจริงจัง
 

5.การปฎิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะตำรวจควรทำคดีอาญาที่เกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินเท่านั้น  ไม่ควรทำดดีอาญาอื่นๆ ที่ควรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานนั้นและอัยการ  การถ่วงดุลอำนาจ รวมทั้งจำกัดอำนาจของ ดีเอสไอ หรือ ปปง. ที่ต้องไม่ให้ฝ่ายการเมืองมาใช้อำนาจกลั่นแกล้งปรปักษ์ทางการเมืองหรือรับคดีตามอำเภอใจจนไม่สามารถตรวจสอบได้

 

 

ข้อเสนอการปฏิรูปภาษี:  เพื่ออนาคตประเทศไทย
 

การปฏิรูปภาษีเป็นเรื่องหนึ่งที่ควรพิจารณาใช้มาตรการแบบ Fast Track ต่อเมื่อมีการจัดตั้งคณะรัฐบาลและสภานิติบัญญัติ แล้วก็สามารถนำประกาศดังกล่าวมาเพื่อให้สภานิติบัญญติพิจารณาปรับปรุงการปฏิรูปภาษีให้สมบูรณ์โดยแบ่งว่าเรื่องใดเป็นมาตรการเร่งด่วน มาตรการระยะกลาง และมาตรการระยะยาวที่จะต้องดำเนินการเพราะการปฏิรูปในเรื่องอื่น ๆ จะทำไม่ได้เลยหากรัฐบาลไม่มีรายได้มาลงทุนและนำรายได้มาพัฒนาประเทศ

เหตุผลที่ต้องให้มีการปฏิรูปภาษีแบบระบบ Fast Track มีดังนี้
 

1.ประเทศไทยไม่เคยมีการปฏิรูปภาษีใหม่เลย นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2481 (จนถึงปัจจุบัน  76 ปีที่ผ่านมา)  โดยเฉพาะในช่วงประชาธิปไตยเต็มใบด้วยเหตุผลที่ไม่มีรัฐบาลใดกล้าที่จะปฏิรูป ภาษีโดยการตรากฎหมายที่จะกระทบฐานเสียงของตนเองและอาจกระทบต่อผลประโยชน์ของ บรรดานักการเมืองเอง  ดังนั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นการแก้ไขเป็นเรื่องการแก้ไขตามนโยบายของรัฐบาลในแต่ละยุค  ถ้าเปรียบเทียบโครงสร้างภาษีกับบ้านก็คือ ที่ผ่านมาเราเพียงแต่คอยซ่อมแซมปะผุบ้านทีละจุดทั้ง ๆ ที่บ้านของเราควรต้องรื้อแล้วสร้างใหม่ดังเช่นการปฏิรูปภาษีนั่นเองแม้แต่ การนำภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้เมื่อปี พ.ศ. 2535  ซึ่งอาจถือว่าเป็นการปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของประเทศก็เป็นช่วง รัฐบาลนายกอานันท์ ปันยารชุน จากคณะ รสช.  ในอดีตที่ผ่านมากว่า 10 ปีผมได้เคยเขียนเสนอให้รัฐบาลที่นำโดยพรรคไทยรักไทยและพรรคเพื่อไทย ที่มีเสียงข้างมากในสภานิติบัญญัติเพียงพอที่จะผลักดันผ่านกฎหมายภาษี หรือแม้แต่พรรคประชาธิปัตย์เอง   แต่ก็ไม่เคยได้รับการตอบสนองแต่อย่างใด  จึงยากที่จะรอพรรคการเมืองเข้ามาปฏิรูปภาษีของประเทศได้
 

2.ปัจจุบันความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวยมีมากขึ้น  ไม่ว่าจากการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติกับสภาพัฒน์ซึ่งต่างกันเกือบ 1 ล้านล้านบาท และความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งของไทยอยู่เกือบอันดับสุดท้ายของโลก (อันดับที่ 162)  ทั้งนี้ ผมขอให้นำผลการศึกษาของสถาบันอนาคตไทยศึกษาที่ ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นประธาน ที่ปรากฏในบทความเรื่อง "8 ข้อเท็จจริง ความเหลื่อมล้ำในไทย" มาพิจารณามาตรการการปฏิรูปภาษีเป็นทางหนึ่งที่จะลดความเหลื่อมล้ำลงได้เพื่อให้มาตรการภาษีที่สร้างความเป็นธรรม  รวมถึงการลดช่องว่างโดยการเก็บภาษีเงินได้จากภาษีใหม่  เช่น ภาษีทรัพย์สิน ภาษีสิ่งแวดล้อม หรือภาษีอื่นให้มากขึ้น
 

3.สถานะการคลังของประเทศกำลังมีปัญหา  รัฐบาลจำเป็นต้องหารายได้มาเพิ่มเพราะปัจจุบันมีผู้ที่เสียภาษีอยู่ในระบบน้อยมาก ๆ  และยังมีผู้หนีภาษีอยู่มาก จะทำอย่างไรที่จะเพิ่มจำนวนผู้เสียภาษีที่ทำให้ผู้อยากเสียภาษีรู้สึกว่าอัตราภาษีไม่สูงเกินไปและเป็นธรรม ทั้งนี้ รัฐบาลไม่นำเงินภาษีไปใช้จ่ายในโครงการที่ก่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นได้

โจทย์ที่สำคัญคือ ประเทศไทยจะหามาตรการการเพิ่มจำนวนผู้เสียภาษีให้มากขึ้นได้อย่างไร
 

ข้อมูลจากทางการ (สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงการคลัง และธนาคารโลก) ที่พบว่าระบบแรงงานไทยมีกว่า 35 ล้านคนจากประชากรกว่า 70 ล้านคน มีมนุษย์เงินเดือน 5.5 ล้านคน และอาชีพอิสระ หรือผู้ประกอบการค้า (รายย่อย ๆ อีก 21 ล้านคน)  ซึ่งประเทศไทยน่าจะมีผู้เสียภาษี 26.5 ล้านคน มีผู้ยื่นเสียภาษีในปี 2556 ในปี 2557 (ภงด. 90/91) เพียง 10 ล้านคน  แต่มีผู้เสียภาษีเพิ่มเพียง 2 ล้านคน)  และภาษีนิติบุคคลมีผู้เสียภาษีราย 1 แสนนิติบุคคล (ทั้ง ๆ ที่นิติบุคคลมีกว่า 3 แสน) 
 

ผมเห็นว่าประเทศไทยต้องมีอัตราภาษีที่เป็นธรรมและส่งเสริม สมรรถภาพการแข่งขันของภาคเอกชนในประเทศโดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยจะมีการเปิด ตลาด AEC ที่สมาชิกของ AEC และ ผู้ประกอบการสามารถทำให้การเคลื่อนย้ายเงินทุน สินค้า และบริการ ไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำกว่า ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบประเทศอื่น ๆ  โดยเฉพาะสิงคโปร์ มาเลเซีย  ดังนั้น การพิจารณาลดอัตราภาษีในอัตราที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญเพราะจะทำให้มี การค้าการลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้นและจะทำให้ผู้คิดจะหนีภาษีไม่อยากทำเพราะ ไม่คุ้ม  รวมทั้งกฎหมายภาษีต้องง่ายในการปฏิบัติและรัฐควรให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้เสีย ภาษีเป็นการตอบแทนกรณีมีการปฏิรูปภาษีในอัตราที่เหมาะสม 

 

 4. ปัจจุบันธุรกิจ SME ของไทยซึ่งมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะในต่างจังหวัดมีปัญหาการหนีภาษีและทำบัญชี 2 เล่ม อันเป็นผลเนื่องจากในอดีตประเทศไทยมีอัตราภาษีที่สูง)  รวมทั้งการทุจริตร่วมกันของผู้เสียภาษีกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐทำให้รายได้เก็บได้ต่ำกว่าที่ควรเป็น แม้ปัจจุบันมีการลดอัตราภาษีนิติบุคคลเหลือ 20% เงินปันผลอีก 10% (ภาษีสุทธิรวมจึงเป็น 28%) และบุคคลธรรมดาอัตราสูงสุด 35%  ผมเสนอว่าอัตราภาษีที่บริษัทสมควรจ่ายจะเป็น 20% และเก็บภาษีเงินปันผลเพียง 5% จากเดิม 10%  โดยยกเลิกการเครดิตภาษี จะทำให้อัตราภาษีสุทธิของบริษัทเป็น 24%  แม้จะสูงกว่าสิงคโปร์ก็ไม่มาก  ทั้งนี้ อัตราภาษีอาจกำหนดขั้นบันไดของภาษีนิติบุคคล SME เช่น หากกำไรที่ไม่เกิน 10 ล้านบาท ให้เรียกเก็บตามขั้นบันไดเริ่มจาก 5-15% และลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหลือสูงสุด 25% และเมื่อมีการลดและปฏิรูปภาษีแล้ว รัฐบาลควรจะออกกฎหมายยกเว้นไม่ตรวจสอบภาษีย้อนหลังกับผู้ที่เสียภาษีครบถ้วนในปีภาษี 2557  รวมทั้งขยายเวลาให้ผู้เสียภาษีที่เสียภาษีไม่ครบ ยื่นเสียภาษีเพิ่มสำหรับปี 2555-2556 โดยไม่เรียกเก็บเบี้ยปรับเงินเพิ่ม
 

 

หากประเทศไทยมีอัตรา ภาษีเป็นธรรม การบังคับใช้กฎหมายเป็นธรรมชัดเจน ก็จะทำให้มีบุคคลและนิติบุคคลเข้ามาในระบบภาษีมากขึ้น  รวมทั้งบุคคลเหล่านี้ต่างก็ยินดีที่จะปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายโดยไม่ถูกตรวจ สอบย้อนหลังก็ย่อมจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์เพื่อระดมทุนได้ ประเทศก็จะได้ประโยชน์จากความอยู่รอดของ SME และนอกจากนั้นประชาชนที่เสียภาษีโดยถูกต้องก็ควรจะสามารถได้รับความสนับสนุน จากรัฐบาลได้อย่างเต็มที่ (ขอให้ดูบทความที่ผมเขียน "ทำไมต้องปฏิรูปภาษีเงินได้: ศึกษาต้นทุนภาษีของไทย)  ทั้งนี้ เมื่อมีการลดและขยายเวลาการปรับปรุงการเสียภาษีแล้ว ควรจะมีบทลงโทษผู้หนีภาษีอย่างเคร่งครัดและรุนแรงทั้งทางแพ่งและทางอาญา

 


มาตรการปฏิรูปภาษี 3 ระยะ
 

ผมขอแบ่งข้อเสนอมาตรการปฏิรูปภาษีเป็น 3 ระยะ
 

1.มาตรการระยะเร่งด่วน:   โดยการตราเป็นประกาศของ คสช. ให้มีผลบังคับเป็นกฎหมายโดยทันทีก่อนจะมีการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลเพื่อสร้างความเชื่อมั่น สร้างความเป็นธรรมและส่งเสริมความเข้มแข็งตลอดจนความโปร่งใสของธุรกิจ SME เพิ่มจำนวนผู้เสียภาษีที่จะสามารถเพิ่มรายได้แก่รัฐบาล รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขกฎหมายศุลกากร สรรพสามิต ที่เคยได้มีการศึกษามาแล้ว  เช่น เรื่องรางวัลนำจับรวมทั้งจัดตั้งองค์กรการระงับข้อพิพาททางภาษีระหว่างผู้เสียภาษีอากรกับภาครัฐในกระบวนการอุทธรณ์ 

มาตรการนี้ควรดำเนินการภายใน 1-3 เดือน  โดยขอให้นำข้อเสนอผลการศึกษาของภาครัฐและภาควิชาการที่ได้ทำมาแล้วมาให้คณะ กรรมการปฏิรูปภาษีเฉพาะกิจที่ประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐและเอกชน  ร่วมกันพิจารณาดำเนินการตามความจำเป็นของมาตรการแต่ละเรื่องและออกเป็น ประกาศให้มีผลทันที
 

2.มาตรการระยะกลาง:  ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปภาษีแห่งชาติที่มาจากนักวิชาการ ผู้ชำนาญการจากภาครัฐและเอกชน เพื่อทำการศึกษาคัดเลือกข้อเสนอพร้อมเสนอร่างกฎหมายต่าง ๆ เช่น กฎหมายภาษีทรัพย์สิน ภาษีสิ่งแวดล้อม ภาษีศุลกากร สรรพสามิต ให้รัฐบาลและสภานิติบัญญัติเพื่อตราเป็นกฎหมายก่อนมีการเลือกตั้งและจัดตั้ง รัฐบาลใหม่และคณะกรรมการทำหน้าที่ยกร่างประมวลรัษฎากรใหม่โดยควรใช้ร่าง กฎหมายประเทศสิงคโปร์ในการยกร่าง รวมทั้งการรปรับปรุงกฎหมาย ศุลกากร สรรพสามิต ภาษีทรัพย์สิน และภาษีอื่น ๆ ขึ้นมาใหม่เพื่อให้ทันสมัยและสอดรับกับการเปิดเสรี AEC ทั้งที่ให้นำประกาศกฎหมายที่เคยยกร่างและประกาศตามมาตรการระยะเร่งด่วนข้าง ต้นมาพิจารณา ปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์  มาตรการระยะกลางนี้ควรดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6-12 เดือน (สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ควรเป็นเลขานุการของคณะกรรมการชุดนี้)
 

3.มาตรการ ระยะยาว  ให้มีการจัดตั้งหน่วยงานจัดเก็บภาษีที่เป็นอิสระปราศจากการแทรกแซงจากฝ่าย การเมืองเพื่อสร้างความเข้มแข็งของระบบการคลังของประเทศอย่างถาวรและยั่งยืน โดยพร้อมให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้  โดยองค์กรนี้ไม่ตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองและป้องกันไม่ให้ใช้อำนาจตาม อำเภอใจ เพื่อแสวงหาประโยชน์จากผู้ประกอบการหรือผู้เสียภาษีที่สุจริตและให้คณะ กรรมการปฏิรูปภาษีแห่งชาติแปลงบทบาทเป็นองค์กรปฏิรูปภาษีแห่งชาติ ทำหน้าที่พิจารณาแก้ไขกฎหมายอย่างต่อเนื่องและเป็นสถาบันให้ความรู้แก่ข้า ราชการ ประชาชน และเป็นองค์กรคานอำนาจกับหน่วยงานจัดเก็บภาษีอิสระและการลงทุนในระบบ IT ในการจัดเก็บภาษีทุกระบบอย่างสมบูรณ์
 

ผมขอเสนอมาตรการปฏิรูปภาษีแบบมาตรการเร่งด่วน (Fast Rack) และมาตรการระยะกลาง 7 เรื่อง เพื่อประกอบการพิจารณาดังนี้คือ
 

1. มาตรการเร่งด่วนของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
   

ผมมีข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปภาษีบุคคลธรรมดา (มาตรการระยะเร่งด่วนในข้อ 1.1-1.4)  ดังนี้
   

1.1 แก้ไขอัตราภาษีบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลไทยอยู่ในอัตราเดียวกันและไม่สูงเกินไป  เช่น ไม่เกิน 25% และเรียกเก็บขั้นบันไดจาก 3, 5, 10, 15, 20 และ 25% (โดยยกเลิกภาษีเงินปันผลหรือลดภาษีเงินปันผลลงเหลือ 5%) เพื่อบรรเทาภาระภาษี ผู้มีรายได้น้อยและเพิ่มจำนวน
   

1.2 แก้ไข ปรับปรุงเพิ่มการหักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อนตามจริง โดยไม่เกิน 40% ของเงินได้  โดยอาจแบ่ง 30% แรกให้มีสิทธิหักค่าใช้จ่าย   โดยกำหนดให้ผู้เสียภาษีหาใบเสร็จหรือใบกำกับภาษีมาใช้เพื่อกรมสรรพากรสามารถ จะไปตรวจสอบกับผู้มีเงินได้อื่นได้  เช่น ค่าเช่า ค่าซื้อบ้านหลังแรกพาหนะ ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น  เช่น ค่าเรียน ค่ารถพยาบาล ค่าเดินทาง ฯลฯ และที่เหลืออีก 10% ของเงินได้ เป็นการส่งเสริมการออม โดยการซื้อประกันชีวิตและกองทุนรวม เงินได้ที่เหลือจึงนำมาเสียภาษีเงินได้โดยสามารถลดประเภทค่าลดหย่อนลงให้ เหลือน้อยโดยยกเลิกการหักเหมาสำหรับผู้ประกอบธุรกิจโดยให้หักตามจริง
 

1.3 แก้ไขกฎหมายให้ผู้มีเงินได้ทุกคนยื่นแบบเสียภาษี ไม่ว่าจะมีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้หรือได้รับยกเว้นหรือไม่ เพื่อให้ทุกคนเข้ามาอยู่ในระบบ  ไม่ว่าผู้มีรายได้จากดอกเบี้ย เงินปันผล หรือยกเว้นจากการขายหุ้น โดยใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษี และบัตรประชาชนเดียวกันในลักษณะการทำบัตรสมาร์ทการ์ดเหมือนกันหมด (รวมทั้งบัตรประชาชน บัตรผู้เสียภาษี หรือแม้แต่หนังสือเดินทาง บัตรทอง ฯลฯ)  โดยให้อยู่ในใบเดียวกันมีข้อมูลอ้างอิงซึ่งกันและกันได้ ใช้ระบบ IT โดยรัฐบาลอาจจัดสรรงบประมาณการทำบัตรต่าง ๆ และระบบคอมพิวเตอร์ของแต่ละกระทรวงมารวมกัน และออกแบบให้ใช้เพียงบัตรเดียวเพื่อแก้ปัญหาทุกอย่าง เมื่อทุกคนอยู่ในระบบภาษี IT รัฐบาลมีข้อมูลที่ดีโดยไม่ต้องไปขึ้นทะเบียนคนรวยคนจนแต่อย่างใด  ในการที่หากมีการกำหนดให้หัก ณ ที่จ่ายต่าง ๆ การหักค่าลดหย่อนต่าง ๆ รัฐบาลก็สามารถนำไปสู่การตรวจสอบภาษีของผู้มีเงินได้ที่อยู่ในระบบได้  รวมทั้งรัฐบาลจะให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้เสียภาษี (ดูข้อ 1.5) ได้โดยมีข้อมูลครบถ้วน
  

1.4 ออกประกาศให้มีการตรวจสอบและประเมินภาษีเงินได้ของบรรดานักการเมืองหรือนักธุรกิจที่หนีภาษี  แต่ไม่เคยยื่นเสียภาษีเงินได้หรือเสียน้อยมาก โดยใช้หลักการการกำหนดจำนวนเงินได้สุทธิจากค่าเพิ่มสินทรัพย์สุทธิตามมาตรา 49 ของประมวลรัษฎากรที่เรียกว่า Net Worth ซึ่งหากมีการประเมินผลที่บุคคลเหล่านี้ต้องพิสูจน์ว่าการได้มาซึ่งทรัพย์สินของตนเองนั้นเอาเงินมาจากไหน แล้วทำไมยังไม่เสียภาษี หรือเสียภาษีน้อยลง  ในอดีตกรมสรรพากรเคยใช้กลไกมาตรการภาษีดังกล่าว  ประเมินภาษีนักการเมือง  คณะ คสช. จึงควรสั่งให้กรมสรรพากรใช้มาตรการประเมินภาษีนี้อย่างจริงจังกับนักการเมืองและนักธุรกิจที่อยู่นอกระบบภาษี โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกโยกย้ายหรือกลั่นแกล้ง 
   

มาตรการการประเมินภาษีแบบนี้จะมีประโยชน์ 2 ข้อ คือ (1) ป้องกัน ปราบปราม ผู้ทุจริต นักการเมือง  ข้าราชการ ร่ำรวยมากมาย โดยผิดปกติ  และ (2) ตรวจสอบผู้หนีภาษีหรือเสียภาษีน้อยไป เช่น บรรดาผู้ที่มีรถยนต์ราคา 10-30 ล้านบาท (ผมเคยทราบว่ากรมสรรพากรเคยตรวจสอบผ่านรถเลขทะเบียนสวย ๆ หรือรถราคาแพง ๆ ที่กรมการขนส่งทางบก แต่พบว่าเจ้าของมักเป็นลูกหลานนักการเมืองหรือมีเครือข่ายที่ช่วยเหลือกันไว้ จึงไม่กล้าประเมิน)   บางคนมีบ้าน คอนโด ราคา 50-200 ล้านบาท  แต่ยื่นเสียภาษีน้อยเหลือเกิน  รวมทั้งให้มีกฎหมายที่บังคับให้คนเหล่านี้ต้องมีหน้าที่พิสูจน์ว่าเงินของตนเองดังกล่าวมาจากไหน ไม่ใช่ใช้วิธีการฟอกเงิน  วิธีนี้จะทำให้รัฐได้ภาษีมากขึ้น และยังสามารถป้องกันปราบปรามการทุจริต  แต่ทั้งนี้ต้องมั่นใจว่าจะไม่เป็นการใช้อำนาจทางการเมืองไปเล่นงานฝ่ายตรงกันข้าม อาจต้องมีคณะกรรมการอิสระไปกำกับการตรวจสอบการใช้อำนาจดังกล่าว

มาตรการระยะกลาง
  

1.5 กำหนดให้สิทธิประโยชน์ผู้เสียภาษีเงินได้ที่ได้ยื่นแบบในหลายกรณีเช่นการให้กู้เงินดอกเบี้ยต่ำจากสถาบันการเงินของรัฐ  การให้สิทธิรักษาพยาบาล การชดเชยของรัฐให้แก่ผู้เสียภาษีเมื่อกรณีธุรกิจเกิดปัญหา เช่น น้ำท่วม ไฟไม่มี  เมื่อให้สิทธิก็ต้องส่งเสริมให้ทุกคนทราบว่าการเสียภาษีเงินได้เป็นหน้าที่ของทุกคน และมีสิทธิประโยชน์จากการเสียภาษีเงินได้ให้กับรัฐบาลด้วย
 

1.6 พิจารณาเก็บภาษีเงินได้จากการขายหุ้นของบุคคลธรรมดาในตลาดหลักทรัพย์ในอัตราไม่เกิน 10% โดยให้ผู้ลงทุนหักผลขาดทุนได้  ทั้งนี้ ยกเว้นสำหรับการลงทุนผ่านกองทุนรวมหรือผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นเกินกว่า 1 ปี)
 

1.7 ยกเลิกการยกเว้นภาษีเงินได้จากการให้ที่อ้างเรื่องอุปการะเลี้ยงดูตามศีลธรรมจรรยาหากเกินสมควร  โดยกำหนดให้ไม่เกิน 10 ล้านบาท
  

1.8 ยกเลิกการหักค่าใช้จ่ายการหักเหมาสำหรับผู้ประกอบธุรกิจและการจัดตั้งคณะบุคคลเพื่อกระจายภาระภาษี

 

2. การปรับโครงสร้างภาษีเงินได้นิติบุคคล: มีมาตรการเร่งด่วนและระยะกลาง

 

 2.1 มาตรการเร่งด่วน

    

ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลง 20% และยกเลิกการเก็บภาษีเงินปันผลกรณีบริษัทได้รับและผลได้จากทุน (capital gain) สำหรับบริษัทถือหุ้นเกิน 6 เดือนหรือ หรือ 1 ปี  โดยเริ่มจากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก่อน  รวมทั้งกรณีการลดสิทธิประโยชน์ ยกเว้นภาษีเงินได้ BOI ลง  โดยอาจเก็บในอัตราต่ำกว่าปกติ  เช่น เริ่มจาก 10% และปรับเป็น 15% จนถึง 20% ก่อน ก็จะทำให้รัฐเก็บภาษีเพิ่มมากขึ้นโดยเริ่มจากธุรกิจใหม่ ไม่กระทบสิทธิ BOI เดิม  และหากจะให้สิทธิภาษีเงินได้ ควรจะส่งเสริมเฉพาะกิจการที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้นซึ่งไม่ควรมีมาก

   

2.2 มาตรการระยะกลาง

   

(1)  เสนอ การหักค่าใช้จ่ายเพิ่มจากการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาและพัฒนาสังคมหรือ ตามนโยบายพิเศษ การหักค่าใช้จ่ายในการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาหรือความรับผิดชอบต่อสังคม  และการลงทุนใหม่  รวมถึงการที่บริษัทขนาดใหญ่เข้าไปช่วยลงทุนช่วยเหลือบริษัท SME ให้เข้มแข็งโดยลักษณะการที่ให้เอกชนมีบทบาทส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคมและการ ศึกษา  เช่น การหักค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนา (R.D.)  โดยปัจจปัจจุบันก็มีอยู่แต่มีเงื่อนไขมาก) หรือการนำค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาและสังคมให้มากกว่า 2% ของรายรับ  ทั้งนี้ เพื่อให้เอกชนมีบทบาทในการพัฒนาสังคม แข่งขัน แบ่งปันการเรียนรู้ และมีความรับผิดชอบต่อสังคมโดยตรง แต่ต้องกำหนดเงื่อนไขและวิธีการที่โปร่งใสตรวจสอบได้เพราะปัจจุบันการให้ รัฐบาลเข้าไปส่งเสริมธุรกิจในเชิงลึกหรือลงทุนเพื่อยกระดับการศึกษาของ ประชาชนและผู้ด้อยโอกาสในสังคมก็ยังขาดประสิทธิภาพ  การให้เอกชนมีบทบาทในการส่งเสริมและมีความรับผิดชอบต่อสังคมหรือที่เรียกว่า CSR (Corporate Social Responsibility) ให้มีบทบาทอย่างแท้จริง  รวมตลอดถึงการให้หักค่าใช้จ่ายค่าเสื่อมราคาได้ในอัตราพิเศษสำหรับการขยาย การลงทุนใหม่ในธุรกิจที่รัฐบาลกำหนดเป็นนโยบาย เช่น เสนอให้บริษัทเอกชนใหญ่ลงไปช่วยเหลือธุรกิจ SME (ในรูปการให้ความช่วยเหลือการเงิน การผลิต การบริหาร) ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ให้หักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า  เป็นต้น

  

(2)  การแก้ไขเรื่องภาษีของตลาดทุนไทยไม่ว่าจะเป็นภาษี Venture Capital ภาษีการควบกิจการ  รวมถึงการยกเว้นภาษีเงินได้จาก capital gain ของบริษัท  การใช้ผลขาดทุนของบริษัทควบกิจการได้  รวมทั้งการพิจารณาให้กลุ่มบริษัทสามารถยื่นเสียภาษีรวมได้โดยบริษัทในเครือเพื่อให้ภาษีตลาดทุนไทยได้มาตรฐานสากล

   

(3) การกำหนดมาตรฐานทางบัญชีภาษีอากรและมาตรฐานทางบัญชีให้สอดคล้องกันยกเว้นบางเรื่อง

    

(4) กำหนดให้บริษัทที่เสียภาษีเงินได้หรือมีกำไรเท่านั้นที่จะได้รับสิทธิในการยื่นประมูลงานของรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจได้  โดยขึ้นอยู่กับประเภทของงานและผลกำไรต่อรายรับอันจะส่งผลให้บริษัททำงบการเงินที่ตรงไปตรงมาและโปร่งใสเพื่อรับงานจากหน่วยงานของรัฐ 

   

(5) ลดอัตราหักภาษี ณ ที่จ่ายให้อยู่ในอัตราเดียวกันและมีกลไกการคืนภาษีที่รวดเร็ว

   

(6) เพิ่ม มาตรการยกเว้นเบี้ยปรับเงินให้แก่นิติบุคคลที่ได้ยื่นเสียภาษีก่อนใช้กฎหมาย ใหม่และต้องมีโทษที่รุนแรงหากยังคงพบว่ามีการหนีภาษีกรณีเช่นเดียวกับบุคคล ธรรมดา


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ แผนการปฏิรูปกฎหมาย ภาษีแบบเร่งด่วน Fast Track

view