จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ เอชอาร์คอร์เนอร์ โดย ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ http://tamrongsakk.blogspot.com
ผมมักจะได้ยินเรื่องราวทำนองนี้อยู่บ่อย ๆ (ไม่ลาออกตามระเบียบบริษัทไม่จ่ายค่าจ้างได้หรือไม่) ซ้ำ ๆ กันอยู่เสมอ และมักจะมีคำถามต่อมาว่า แล้วบริษัทจะทำได้เหรอ
บ้างบอกว่าทำได้ เพราะพนักงานไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของบริษัท คือไม่ยื่นใบลาออกล่วงหน้า 30 วัน ซึ่งบริษัทระบุไว้ในกฎว่าถ้าไม่ยื่นใบลาออกตามระเบียบ บริษัทจะไม่จ่ายค่าจ้างให้ในเดือนสุดท้ายที่ทำงาน เพราะถือว่าทำผิดกฎระเบียบ
ผมขอยกตัวอย่างให้ท่านเห็นภาพชัด ๆ อย่างนี้นะครับ
"ศรีสมร" เข้าทำงานกับบริษัท รวยล้น จำกัด มาปีเศษ ๆ ได้รับเงินเดือนปัจจุบันเดือนละ 12,000 บาท บริษัท รวยล้น จ่ายเงินเดือนทุกสิ้นเดือนเดือนละครั้ง และบริษัทมีระเบียบในเรื่องการลาออกของพนักงานเขียนไว้ชัดเจนว่า "กรณีที่พนักงานมีความประสงค์จะขอลาออก จะต้องยื่นใบลาออกล่วงหน้า 30 วัน เพื่อให้ผู้บริหารอนุมัติการลาออกเสียก่อน และเพื่อให้บริษัทมีเวลาหาคนมาทำงานทดแทน หากพนักงานไม่ปฏิบัติตามระเบียบนี้ บริษัทจะไม่จ่ายเงินเดือนเดือนสุดท้ายให้เพราะถือว่าทำผิดกฎระเบียบข้อ นี้...."
"ศรีสมร" ยื่นใบลาออกกับหัวหน้า วันที่ 10 มิถุนายน โดยในใบลาออกระบุว่ามีผลตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน (วันรุ่งขึ้นนั่นแหละครับ) เป็นต้นไป หัวหน้าก็บอกกับ "ศรีสมร" ว่า คุณกำลังทำผิดกฎระเบียบนะ ถ้าคุณทำอย่างงี้ บริษัทจะไม่จ่ายเงินเดือนของคุณในเดือนมิถุนายน (10 วัน คือวันที่ 1-10 มิถุนายน) รวมเป็นเงิน 4,000 บาท (เพราะเงินเดือนของศรีสมร=12,000/30=400 บาทต่อวัน) แถม "ศรีสมร" ยังมีค่าล่วงเวลา (ที่เราเรียกว่าค่าโอทีนั่นแหละครับ) ที่ทำเมื่อเดือนที่แล้วอีก 225 บาท
ดัง นั้นในเมื่อ "ศรีสมร" ไม่ลาออกตามระเบียบ บริษัทจะไม่จ่ายเงินเดือน+โอที รวมทั้งสิ้น 4,225 บาท แต่ "ศรีสมร" ยังยืนยันว่าจะต้องลาออกมีผลวันที่ 11 มิถุนายน เพราะไปเซ็นสัญญาจ้างงานกับที่ทำงานใหม่ไว้แล้ว และยืนยันให้บริษัทจ่ายค่าจ้างทั้งหมดคือ 4,225 บาท มาซะดี ๆ แต่เมื่อถึงสิ้นเดือนมิถุนายน "ศรีสมร" ก็ไม่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าว
คำถามก็คือ "บริษัทสามารถหักค่าจ้างศรีสมร (วันที่ 1-10 มิถุนายน) โดยอ้างว่าพนักงานไม่ทำตามกฎระเบียบ และทำให้บริษัทเกิดความเสียหาย หาคนมาทดแทนไม่ทัน จึงต้องหักค่าจ้างตามระเบียบดังกล่าว"
ได้หรือไม่ ?
แล้วในความคิดเห็นของท่าน บริษัททำแบบนี้ได้ไหมครับ ติ๊กต่อก ติ๊กต่อก ๆๆๆๆ
ถ้าใครเคยอ่านเรื่อง "เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับใบลาออก" ที่ผมเคยเขียนไปแล้ว ก็จะตอบได้ชัดเจนว่า...."ทำไม่ได้ครับ"
ถ้า บริษัทไม่จ่ายค่าจ้าง "ศรีสมร" แล้วแกไปฟ้องศาลแรงงาน รับรองว่าบริษัทผิดเต็มประตู แบบไม่ต้องมีการต่อเวลายิงลูกโทษ ซึ่งในที่สุดบริษัทก็จะต้องจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย 4,225 บาท ให้ "ศรีสมร" น่ะสิครับ
แม้บริษัทจะอ้างว่ามีกฎระเบียบประกาศให้พนักงานทุกคนรับ ทราบแล้วก็ตาม แต่เรื่องจริงก็คือ กฎระเบียบใด ๆ ของนายจ้าง ถ้ามันขัดกับกฎหมายแรงงาน กฎระเบียบนั้นก็จะเป็นโมฆะ ใช้ไม่ได้ครับ
เพราะ ข้อเท็จจริง คือ "ศรีสมร" ทำงานจริงตั้งแต่วันที่ 1-10 มิถุนายน และทำโอทีไปเมื่อเดือนที่แล้วจริง โดยมีค่าโอทีค้างจ่ายอยู่ 225 บาท เมื่อลูกจ้างทำงานให้นายจ้าง นายจ้างก็จะต้องจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างตามที่ทำไปแล้ว
เราลองมาดู คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ฎ.6020/2545 จะพบว่า "ลูกจ้างยื่นใบลาออกต่อนายจ้าง ย่อมถือเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้าง และการเลิกสัญญาจ้างมีผลในวันที่ลูกจ้างแจ้งไว้ในใบลาออกนั้น การเลิกสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลานั้น นายจ้างหรือลูกจ้างมีสิทธิแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างได้แต่เพียงฝ่ายเดียว ไม่จำเป็นต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งยินยอมหรือตกลงหรืออนุมัติแต่อย่างใด
ชัดเจนนะครับว่า ถ้า "ศรีสมร" ระบุว่าจะลาออกวันที่ 11 มิถุนายน ก็จะมีผลตามนั้น
คราวนี้ถ้ามองทางฝั่งของบริษัท ซึ่งอาจจะเสียหายจากการที่ "ศรีสมร" ทิ้งงาน ไม่ทำตามกฎระเบียบล่ะ บริษัทจะทำอะไรได้บ้าง ?
1.บริษัท ก็ต้องไปฟ้องศาลแรงงาน โดยพิสูจน์ให้ศาลท่านเห็นว่า ผลจากการที่ "ศรีสมร" ไม่รับผิดชอบ และไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของบริษัท ก่อให้เกิดความเสียหายกับบริษัทอย่างไรบ้าง และคิดเป็นมูลค่าความเสียหายกี่บาทกี่สตางค์ เพื่อให้ศาลท่านวินิจฉัยและตัดสิน
2.ถ้าฝ่าย HR ของบริษัทใหม่ที่ "ศรีสมร" ไปสมัครงาน โทร.มาสอบถามประวัติการทำงาน บริษัทเดิมสามารถให้ข้อมูลกับทาง HR บริษัทใหม่ได้ว่า "ศรีสมร" ลาออกไปโดยไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างไรบ้าง ซึ่งก็เป็นการให้ข้อมูลไปตามข้อเท็จจริง ซึ่งก็อาจจะมีผลให้ "ศรีสมร" ไม่ผ่านทดลองงานในบริษัทแห่งใหม่ เพราะบริษัทแห่งใหม่กลัวว่าจะไปทำพฤติกรรมแบบเดิมกับเขาอีกก็เป็นได้
เท่า ที่ผมนึกได้ก็มี 2 ข้อนี้แหละครับที่บริษัทพอจะทำได้ เพราะในกรณีนี้ก็ต้องให้ความเป็นธรรมทั้งฝั่งบริษัทที่เสียหายจากการที่ พนักงานทิ้งงานไม่ทำตามกฎระเบียบ และพนักงานที่เสียหายจากการไม่ได้รับค่าจ้างเดือนสุดท้าย (บวกค่าโอที) ด้วย
แต่ยังไงก็ตาม บริษัทไม่สามารถหักค่าจ้างในเดือนสุดท้ายของพนักงานที่ลาออกผิดกฎระเบียบได้
เข้าใจตรงกันนะครับ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน,