Up-date ข่าวสรรพากร
โดย : สุเทพ พงษ์พิทักษ์
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ขอนำประเด็นข่าวภาษีสรรพากรมาปุจฉา - วิสัชนา ดังนี้
ปุจฉา ตามที่มีข่าวว่ากรมสรรพากรเตรียมเสนอวาระเร่งด่วนด้านภาษีให้ คสช. ในวันที่ 10 มิ.ย. 2557 ที่ผ่านมา มีเรื่องใดบ้าง
วิสัชนา เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายสุทธิชัย สังขมณี อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ในแผนระยะสั้น กรมสรรพากรจะเสนอวาระเร่งด่วนทางด้านภาษีให้กับทาง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้พิจารณา อาทิ
- ภาษีสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อเนื่องจากเดิมที่จะครบกำหนดวันที่ 31 ธ.ค.นี้ และขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ในอัตรา 7% ของมูลค่าฐานภาษี ออกไปจากวันที่ 1 ต.ค. นี้ อีกอย่างน้อย 1 ปี
- การขยายเวลาการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเดิม 7 ขั้นภาษี ลดเหลือ 5 ขั้น และการขยายเวลาการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 20% ของกำไรสุทธิ ออกไปอีกอย่างน้อย 1 ปี ทั้งนี้ เพื่อให้มีการแก้ไขกฎหมายแม่บท อันได้แก่ ประมวลรัษฎากร ให้ใช้อัตราดังกล่าวเป็นการถาวร
ขณะที่แผนระยะปานกลางและระยะยาว ได้เสนอแผนปรับโครงสร้างภาษี ซึ่งคาดว่าจะสรุปภายในวันที่ 11 มิ.ย.นี้ ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มลดหย่อนค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษี จาก 60,000 บาทต่อปี เป็น 120,000 บาท นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้สรรพากรพื้นที่ทั่วประเทศเร่งรัดเก็บภาษีได้ตามเป้าหมาย 1.89 ล้านล้านบาท ในปีนี้
ปุจฉา เกี่ยวกับข่าวการลงนามแลกเปลี่ยนข้อมูลธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกามีอย่างไรบ้าง
วิสัชนา นายสุทธิชัย สังขมณี ได้กล่าวว่า ตนได้รายงานให้ทาง คสช. ได้รับทราบเกี่ยวกับเรื่องการลงนามความร่วมมือกับกรมสรรพากรของประเทศสหรัฐอเมริกา (IRS) ตามความตกลงเพื่อความร่วมมือด้านภาษีอากรระหว่างประเทศและการปฏิบัติตามกฎหมาย Foreign Account Tax Compliance Act (FATCA)
หลังจากที่มีการรัฐประหารขึ้น ตนก็วิตกว่าสหรัฐฯ จะปิดการเจรจา แต่ตรงกันข้ามทางสหรัฐอเมริกา ยังคงให้ความสำคัญเกี่ยวกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ต้องดำเนินการต่อกัน ทุกอย่างจึงดำเนินการตามแผน และก็มีเจรจากันไปแล้วเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ที่ผ่านมา เป็นผลทำให้ ขณะนี้ไทยได้ขึ้นเป็นรายชื่อประเทศที่ได้ทำข้อตกลงตามกฎหมายแฟตกา (FATCA) แล้ว ขั้นตอนต่อไป ก็ต้องนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเข้า สภาฯ เพื่อออกเป็นกฎหมาย จากนั้นเมื่อกฎหมายผ่านสภาแล้ว ก็ต้องลงนามอย่างเป็นทางการต่อไป
หากประเทศไทยไม่ได้ทำข้อตกลงร่วมกันดังกล่าวกับสหรัฐอเมริกา ต่อไปสถาบันการเงินที่ไปทำธุรกรรมการเงินกับสหรัฐฯ ก็ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 30% ซึ่งถือว่าสูงมาก แต่เมื่อได้มีการเจรจาความร่วมมือดังกล่าวแล้ว ก็ไม่ต้องเสีย โดยจะทำการแลกเปลี่ยนข้อมูลธุรกรรมทางการเงินระหว่างกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงินด้วย เพราะหากมีบุคคลที่มีธุรกรรมการเงินอยู่ในสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยก็จะได้รับข้อมูลดังกล่าวโดยอัตโนมัติ ในขณะที่ประเทศไทยก็ต้องส่งให้แก่สหรัฐตามความตกลงดังกล่าว
พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน