จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ฐิตารีย์ ลิขิตธนธรรม
เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2557 ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 17 ปีการลอยตัวค่าเงินบาท สัญลักษณ์แห่งหายนะเศรษฐกิจไทย
ที่แม้จะผ่านมาหลายปีก็ยังต้องเขียนถึง หนึ่งในสาเหตุหลักของวิกฤติครั้งนั้น เริ่มต้นมาจากความล้มแหลวของระบบสถาบันการเงินไทย หลังจากต้องเฉือนเลือดตัวเองในวันนั้นเพื่อเอาตัวรอดมาถึงวันนี้ได้ แน่นอนว่าย่อมต้องมีมาตรการกำกับอย่างดีเพื่อเป็นเครื่องมือป้องกัน ไม่ให้สถาบันการเงินเดินกลับเข้าไปสู่หายนะรูปแบบเดิม
มาตรฐานการดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงหรือบาเซล เป็นหนึ่งในเครื่องมือสร้างความมั่นคงให้กับสถาบันการเงินในเวลานี้ ล่าสุดที่ใช้อยู่คือบาเซล 3 ซึ่งเกิดจากแรงบันดาลใจครั้งยิ่งใหญ่ จากวิกฤติซับไพร์มในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2551 ในส่วนของประเทศไทยเริ่มใช้บาเซล 1 ครั้งแรกในปี 2536 จนถึงวันนี้สถาบันการเงินไทยกำลังเข้าสู่บาเซล 3 อย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากบาเซล 3 มีความเข้มข้นมากในข้อกำหนดทางด้านทุนของแบงก์ การบริหารสภาพคล่องและกำกับดูแลสถาบันการเงินขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ
ความรัดกุมที่เกิดขึ้นสะท้อนผ่านเงินกองทุนที่มีคุณภาพมากขึ้น แม้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงขั้นต่ำจะยังกำหนดอยู่ที่ 8.5% เท่าเดิม แต่ใส้ในเปลี่ยนไปค่อนข้างมากกล่าวคือเงินกองทุนต้องมาจากส่วนของหุ้นสามัญ และกำไรสะสมเป็นหลัก โดยสถาบันการเงินต้องดำรงเงินกองทุนขั้นที่ 1 ไม่น้อยกว่า 6% โดยต้องมีส่วนของเจ้าของ(หุ้นสามัญ กำไรสะสม ส่วนเกิน(ต่ำมูลค่าหุ้น)ไม่น้อยกว่า 4.5% อีก 1.5% จะเป็นทุนในรูปแบบเดียวกันหรือตราสารด้อยสิทธิกึ่งหนี้กึ่งทุนนับเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1
เงินกองทุนส่วนที่เหลือจะใช้ส่วนของเจ้าของทั้งหมด หรือจะมีตราสารด้อยสิทธิกึ่งหนี้กึ่งทุนนับเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 2 ก็ได้ ซึ่งตราสารเหล่านั้นจะมีความซับซ้อนที่ทำให้ต้นทุนแบงก์เพิ่มขึ้น เช่นสิทธิในการได้รับชำระคืนหนี้จะอยู่อันดับท้าย ๆ รองจากผู้ฝากและเจ้าหนี้ นอกจากนี้ยังมีเงินกองทุนส่วนเพิ่มอีกหลากรูปแบบให้ธนาคารพาณิชย์ดำรงเพิ่มเติม เช่นในปี 2559 เป็นต้นไปธนาคารพาณิชย์ยังต้องทะยอยเติมเงินกองทุนส่วนเพิ่ม(Conservation Buffer)ไปเรื่อย ๆ จนครบ 2.5% ภายใน 5 ปี หรือรวมแล้วธนาคารพาณิชย์ต้องมีเงินกองทุนขั้นต่ำ 11% ในปี2562
เท่านั้นไม่พอธปท.ยังสามารถประกาศให้มี Countercyclical Buffer หรือเงินกองทุนส่วนเพิ่มอีก 0-2.5%ในอนาคต เหนือไปกว่านั้นหากเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่มีธุรกรรมระหว่างประเทศ มีความเชื่อมโยงกับระบบ มีธุรกรรมซับซ้อนและมีผลต่อเสถียรภาพของระบบ จะมีการเพิ่มเติมเกณฑ์ในเรื่องเงินกองทุนได้อีก 1-2.5% เรียกว่ายิ่งใหญ่ยิ่งต้องหนักแน่น
หากพิจารณาเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ ในเวลานี้มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเงินกองทุนขั้นต่ำตามเกณฑ์บาเซล 3 ไปแล้ว โดยตัวเลขสิ้นปี 2556 ที่ผ่านมาเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ระบบอยู่ที่ 1.61 ล้านล้านบาท หรือ 15.48% ในจำนวนนี้แบ่งเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 อยู่ที่ 11.89% และส่วนใหญ่เงินกองทุนขั้นที่ 1 ของสถาบันการเงินไทยมีอยู่ยังอยู่ในรูปเงินทุนที่มีคุณภาพหรือส่วนของเจ้าของเป็นหลัก สะท้อนว่าโดยภาพรวมแล้วเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ยังสูงกว่าเกณฑ์บาเซล 3 ที่จะทะยอยบังคับใช้
การปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์ นอกจากจะมาจากฐานเงินฝากแล้ว ยังต้องมีทุนมารองรับอีกด้วย ซึ่งนับจากนี้เงินกองทุนจะต้องถูกล๊อกไว้และไม่สามารถหาผลตอบแทนได้เหมือนอดีต กลายเป็นต้นทุนในการดำรงเงินกองทุน ประกอบกับเงื่อนไขการระดมทุนที่ซับซ้อนมากขึ้น ถือเป็นภาระของแบงก์เพื่อแลกกับความอุ่นใจ ในความแข็งแกร่งของระบบการเงินไทย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อต้นทุนแบงก์เพิ่มขึ้นจะผ่องถ่ายไปทางไหนได้เสียเล่า ถ้าไม่ใช่ลูกค้าอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ นั่นเอง
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน