จาก โพสต์ทูเดย์
เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง
ยิ่งใกล้ปิดหีบงบประมาณ 2557 กรมสรรพากรยิ่งหน้ามืด เพราะรอบ 10 เดือน ของปีงบประมาณยอดเก็บรายได้ตกต่ำ เก็บภาษีต่ำกว่าเป้า 1 แสนล้านบาท
มีการประเมินกันว่า หากไม่รีดภาษีแบบเข้มชนิดถอนขนห่าน หรือรีดเลือดกับปูในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีงบประมาณ ยอดเก็บภาษีของกรมสรรพากรจะไหลลึกต่ำเป้ามากกว่า 1 แสนล้านบาทอย่างไม่ต้องสงสัย
อย่างไรก็ตาม การที่กรมสรรพากรเก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้าถือว่าเป็นเรื่องไม่ปกติ เพราะกรมสรรพากรเป็นหัวแรงสำคัญในการจัดเก็บรายได้ให้ประเทศ และเก็บภาษีเกินเป้ามาตลอดในรอบหลาย 10 ปีที่ผ่านมา แม้แต่ในช่วงเศรษฐกิจมีปัญหา
แต่มาช่วงหลังกรมสรรพากรเริ่มมีปัญหา โดยปีงบประมาณ 2555 เก็บภาษีต่ำกว่าเป้าประมาณ 8,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2556 ต่ำกว่าเป้า 1 หมื่นล้านบาท ล่าสุด ปี 2557 กรมสรรพากรพยายามยันการเก็บภาษีให้ต่ำกว่าเป้าไม่เกิน 1 แสนล้านบาท ซึ่ง เพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าจากปีก่อนหน้า
แม้ว่ากรมสรรพากรจะอ้างว่า สาเหตุมาจากมีการประมาณรายได้จากช่วงนั้นคาดว่าเศรษฐกิจที่จะขยายตัวได้ 4% แต่ขณะนี้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าที่คาดมาก แต่กรมสรรพากรก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาประสิทธิภาพในการจัดเก็บของกรมสรรพากรตกลง
สะท้อนได้จากประกาศของกรมสรรพากรล่าสุด ที่ให้อำนาจสรรพากรจากสำนักงานใหญ่ และสรรพากรภาคเข้าตรวจสอบการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลที่สรรพากรพื้นที่อนุมัติแล้วได้ ทั่วประเทศ หากพบว่ามีการเสียภาษีไม่ถูกต้อง ก็ให้อำนาจยกเลิกการอนุมัติวงเงินภาษีดังกล่าว และให้ตรวจสอบทบทวนเสียภาษีให้ถูกต้อง ต่อไป โดยให้เหตุผลว่าเพื่อให้การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยเฉพาะรอบครึ่งปี 2557 ที่จะเริ่มยื่นและเสียเดือน ส.ค.นี้ เป็นไปด้วยความถูกต้อง ถือเป็นการตรวจสอบการทำงานของกรมสรรพากรด้วยกันเอง เพื่อความโปร่งใสมากขึ้น
แต่หากมองอีกด้านหนึ่งก็แสดงให้เห็นว่า สรรพากรพื้นที่มีปัญหาการจัดเก็บภาษีเงินได้ นิติบุคคล ส่วนหนึ่งเพราะสรรพากรพื้นที่มีความใกล้ชิดกับผู้ประกอบการ ทำให้กรมสรรพากรพื้นที่จำนวนไม่น้อย นอกจากทำหน้าที่เก็บภาษีจากผู้ประกอบการ ยังทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ผู้ประกอบการในการวางแผนการเสียภาษีให้น้อยที่สุดด้วย จนเกิดผลประโยชน์ขัดแย้ง และทำให้ยอดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำกว่าเป้าจำนวนมาก
โดยในปีงบประมาณ 2557 กรมสรรพากรมีเป้าเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลถึง 6 แสนล้านบาท แต่ 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 3.78 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ หากสรรพากรสำนักงานใหญ่ หรือสรรพากรภาค ใช้อำนาจเปลี่ยนผลการตรวจสอบภาษีของสรรพากรพื้นที่ ก็จะมีคำถามถึงมาตรฐานการประเมินของกรมสรรพากรเพิ่มขึ้น เช่น การหักค่าใช้จ่ายต่างๆ การหักค่าลดหย่อนภาษี ที่หากบางรายการสรรพากรพื้นที่ระบุว่าหักได้ แต่สรรพากรภาคบอกหักไม่ได้ การใช้ดุลพินิจเช่นนี้เท่ากับส่งผลกระทบต่อผู้เสียภาษีโดยตรง
ดังนั้นการรีเช็กตรวจสอบการเสียภาษี ของสรรพากรครั้งนี้ นอกจากจะไม่ได้เงินภาษีเพิ่มแล้ว ยังจะสร้างปัญหามาตรฐานการประเมินภาษีของกรมสรรพากรเอง กระทบ ต่อความน่าเชื่อถือการเก็บภาษีของ กรมสรรพากรทันที
ลำพังที่ผ่านมา กรมสรรพากรรีดภาษีโดยให้เจ้าหน้าที่ไปขอภาษีเพิ่มก็ตอบสังคมไม่ได้อยู่แล้ว เพราะถือว่าทำหน้าที่หย่อนยาน เก็บภาษีต่ำเกินจริงเพราะใกล้ชิดผู้ประกอบการ จึงมีการขอเพิ่มเงินภาษีได้
นอกจากนี้ กรมสรรพากรยังใช้ไม้แข็ง โดยเข้มงวดกับสำนักงานบัญชีที่มีลูกค้าในมือ ตั้งแต่ 30 รายขึ้นไป สำนักบัญชีกลุ่มนี้มีประมาณ 1 หมื่นราย กรมได้กำชับให้ทำบัญชีให้ลูกค้าอย่างตรงไปตรงมา จะนำระบบไอที มาตรวจสอบการทำบัญชีของสำนักงานบัญชีว่าถูกต้องหรือไม่ หากระบบแจ้งเตือนว่า พบสำนักบัญชีทำบัญชีให้นิติบุคคลผิดหลายรายก็จะถูกขึ้นบัญชีดำทันที ขณะที่นิติบุคคล เหล่านั้นก็จะถูกตรวจสอบการเสียภาษีด้วย รวมทั้งให้แจ้งผู้ประกอบการว่าใช้สำนักบัญชีที่ไม่ได้มาตรฐาน
การออกมาขู่สำนักงานบัญชีดังกล่าวอาจได้ผลระยะสั้น ช่วยให้ยอดจัดเก็บภาษีนิติบุคคลรอบครึ่งปีในเดือน ส.ค.นี้ ดีขึ้น แต่หลังจากนั้นก็จะกลับมาเหมือนเดิม โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจดี เก็บภาษีได้มาก การเก็บภาษีจะหละหลวมมากขึ้น เพราะเก็บอย่างไรก็ได้เกินเป้า ทั้งๆ ที่ควรเก็บภาษีได้มากกว่านั้น พูดง่ายๆ ก็คือ ที่ผ่านมากรมสรรพากรจะตั้งเป้าเก็บภาษีต่ำกว่าความเป็นจริง ทำให้เกิดการรั่วไหลของเม็ดเงินภาษีจำนวนมาก
นอกจากนี้ กรมสรรพากรต้องเอาจริงกับ เจ้าหน้าที่ หรือผู้บริหารสรรพากรที่ไปรับจ๊อบทำงานให้สำนักงานบัญชีต่างๆ และเจ้าหน้าที่สรรพากรเป็นเจ้าของสำนักงานบัญชีเสียเอง โดยให้นอมินีออกหน้าเป็นเจ้าของบังหน้า เพื่อหารายได้จากการวางแผนภาษีให้ผู้ประกอบการเสียน้อยที่สุด
สำหรับไม้แข็งสุดท้ายที่กรมสรรพากรงัดมารีดภาษีนิติบุคคลรอบครึ่งปี คือ ส่งสัญญาณเตือนไปถึงผู้ประกอบการที่จะยื่นแบบเสียภาษีกลางปี ควรประเมินกำไรทั้งปีให้รอบคอบ อย่าประเมินต่ำกว่าเป็นจริง ด้วยการนำผลกำไรครึ่งปีแรกไปคูณสอง เพราะเห็นว่าเศรษฐกิจครึ่งปีแรกไม่ดี ซึ่งอาจทำให้การเสียภาษีทั้งปีคลาดเคลื่อนต่ำกว่าเป็นจริงเกิน 25% ซึ่งตามกฎหมายจะต้องเสียค่าปรับ 20% ของภาษีที่เสียขาดไป
แนวทางดังกล่าว แม้ว่ากรมสรรพากรจะระบุว่าเป็นการดำเนินการปกติ แต่การออกมาเตือนลงรายละเอียดถึงขั้นเทคนิค ปฏิเสธไม่ได้ว่ากรมสรรพากรมีการเอกซเรย์การเก็บภาษีนิติบุคคลอย่างเข้มข้นมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะภาษีนิติบุคคลรอบครึ่งเป็นความหวังเดียวที่จะทำให้การเก็บภาษีของกรมสรรพากรทั้งปี ไม่ต่ำเป้ามากกว่า 1 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การงัดไม้แข็งขู่ทั้งเจ้าหน้าที่สรรพากรกันเอง ผู้ตรวจสอบบัญชี และ ผู้ประกอบการ จะได้ผลหรือไม่ อีกไม่นานก็รู้ เพราะหากยอดเก็บภาษีต่ำกว่าเป้าเกิน 1 แสนล้านบาท ก็แสดงว่าไม้แข็งของกรมสรรพากร กลายเป็นไม้ผุทันที ทำได้แต่ขู่ แต่ไม่สามารถเก็บภาษีเพิ่มขึ้นได้จริง อย่างที่พยายามขู่อย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา.
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน