เมื่อไรธนาคารกลางสหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ย
โดย : ดร.บัณฑิต นิจถาวร
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ยิ่งเขียนก็ยิ่งติดพัน ผมเขียนเรื่องเศรษฐกิจโลกมาสองอาทิตย์ติดกัน ก็มีคำถามจากแฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต”
ถามมาว่า เมื่อไรธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะขึ้นดอกเบี้ย เป็นคำถามยอดฮิตและถูกถามบ่อยทั้งในและนอกวงสัมมนาเรื่องเศรษฐกิจ วันนี้ก็อยากจะให้ความเห็นเรื่องนี้ เพื่อประโยชน์สำหรับผู้ที่กำลังเดาว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยยุค คสช.จะคิดขึ้นดอกเบี้ยนโยบายบ้างหรือไม่ หลังจากประกาศคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่อัตราร้อยละ 2 เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว
คำถามว่า เมื่อไรเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยเป็นคำถามที่นักลงทุนทุกคนต้องการคำตอบ เพราะถ้าเกิดขึ้นเมื่อไรก็จะหมายถึงจุดเริ่มต้นของวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐได้ยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับใกล้ศูนย์มาเกือบหกปี เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ จำได้ว่าเดือนสิงหาคมปี 2007 เป็นครั้งแรกที่ธนาคารกลางสหรัฐลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างผิดปกติ คือ ลดลง 50 bsp ส่งสัญญาณถึงความไม่ปกติที่กำลังเกิดขึ้น จากนั้นสถานการณ์ก็แย่ลงโดยตลอดจนปะทุเป็นวิกฤติทำให้เฟด ต้องลดอัตรานโยบายลงเกือบเป็นศูนย์เมื่อเดือนธันวาคมปี 2008 และยืนอัตราดอกเบี้ยในระดับนี้ถึงปัจจุบัน
หกปีที่ผ่านมา การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่เกิดขึ้น แม้จะมีการกระตุ้นทางนโยบายมากมาย ทั้งเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐ และออกมาตรการคิวอีเพื่ออัดฉีดสภาพคล่องเข้าการเงิน พอเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มมีเสถียรภาพ และมีแนวโน้มว่าจะเริ่มฟื้นตัวช่วงปลายปี 2013 ธนาคารกลางสหรัฐก็เริ่มลดทอนการอัดฉีดสภาพคล่องในทุกรอบของการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน การลดทอนการอัดฉีดดังกล่าวทำให้นักลงทุนเชื่อว่า เศรษฐกิจสหรัฐคงจะสามารถฟื้นตัวได้จริงจังในปี 2014 และอัตราดอกเบี้ยนโยบายคงจะเริ่มปรับขึ้นเมื่อการลดทอนการอัดฉีดสภาพคล่องสิ้นสุดลงในเดือนตุลาคม ซึ่งหมายถึงการเริ่มการเดินทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับที่ต่ำมากกลับสู่ระดับที่เป็นปกติมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐครึ่งแรกของปีไม่ค่อยดี เศรษฐกิจไตรมาสแรกขยายตัวติดลบร้อยละ 2.1 จากไตรมาสก่อนหน้า ไม่เข้มแข็งอย่างที่คิด ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐส่งสัญญาณว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายคงจะยืนในระดับใกล้ศูนย์ต่อไป เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ คือจะไม่รีบปรับขึ้น สัญญาณดังกล่าวทำให้ตลาดการเงินโลกปรับดีขึ้นถ้วนหน้า เพราะอัตราดอกเบี้ยจะยังไม่ขึ้นอย่างน้อยในปีนี้ ทำให้ตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรทั่วโลกปรับตัวดีขึ้น นำมาสู่ภาวะเด่นของปีนี้ คือ เศรษฐกิจไม่ดีแต่หุ้นขึ้น
ล่าสุดตัวเลข GDP ไตรมาสสองสหรัฐออกมาค่อนข้างดี ขยายตัวร้อยละ 4 จากไตรมาสแรกที่หดตัว นำโดยการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน ทำให้ภาพรวมของครึ่งปีแรกดูเข้มแข็งกว่าที่ประเมินเดือนที่แล้ว แสดงว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังมีการฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับ ตัวเลข GDP ที่ดีขึ้นนี้จึงนำมาสู่คำถามเก่าว่า ธนาคารกลางสหรัฐจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเมื่อไร จะขึ้นทันทีหรือไม่เมื่อการอัดฉีดสภาพคล่องโดยมาตรการคิวอีจะจบสิ้นลงในเดือนตุลาคม
ในความเห็นของผม ธนาคารกลางสหรัฐคงอยากขั้นอัตราดอกเบี้ยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อไม่ให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำนานเกินไป ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะฟองสบู่ของสินทรัพย์ทางการเงิน แต่ตัวเลข GDP ไตรมาสสองอย่างเดียวไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาด ธนาคารกลางสหรัฐคงต้องดูปัจจัยอื่นๆ ประกอบไปด้วย เท่าที่ประเมิน ตัวเลขอื่นๆ ดูจะยังไม่เอื้อให้ธนาคารกลางสหรัฐต้องรีบขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
หนึ่ง เศรษฐกิจสหรัฐโดยพื้นฐานยังอ่อนแอและการฟื้นตัวยังไม่เข้มแข็งมาก แม้ตัวเลข GDP ไตรมาสสองจะดีกว่าไตรมาสแรก แต่โดยรวมช่วงครึ่งปีแรกเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวเพียงร้อยละ 1 ต่ำกว่าอัตราการเติบโตตามศักยภาพมาก ภาวะการจ้างงานในสหรัฐขณะนี้ก็ยังอ่อนแอ อัตราการว่างงานเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ร้อยละ 6.2 สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า แม้ตำแหน่งงานใหม่จะเพิ่มมากขึ้นถึง 209,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราเงินเฟ้อก็ไม่เป็นปัญหา อัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนอยู่ที่ร้อยละ 2.1 ซึ่งต่ำและไม่แสดงว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ทั้งหมดจึงชี้ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่เข้มแข็ง อัตราการว่างงานยังสูง และอัตราเงินเฟ้อยังต่ำ ทำให้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรีบขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
สอง เศรษฐกิจโลกก็ยังอ่อนแอเช่นกัน การฟื้นตัวยังไม่เข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นประเทศอุตสาหกรรมในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น หรือในสหภาพยุโรป นอกจากนี้ ประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างจีน อัตราการขยายตัวก็ต่ำกว่าระดับปกติที่เคยมี สภาพเหล่านี้ชี้ว่า ประเทศสำคัญๆ ในเศรษฐกิจโลกอาจจะยังไม่พร้อมกับวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นที่จะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีข้อจำกัดมากขึ้น คิดว่าประเด็นนี้เฟดคงต้องนำมาพิจารณาในการตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ย แต่จะให้สำคัญมากแค่ไหน เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
สาม การเปลี่ยนทิศทางของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐเป็นขาขึ้นจะทำให้ตลาดการเงินและเศรษฐกิจโลกจะต้องปรับตัวมาก เพราะเศรษฐกิจโลกทำงานอยู่กับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำผิดปกติมากกว่าหกปี และเพราะเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินสกุลหลักของโลก การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐจะหมายถึงต้นทุนทางการเงินทั่วโลกที่จะแพงขึ้น และจะส่งผลกระทบไปทั่ว สำหรับประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างไทย อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐที่ปรับสูงขึ้นก็จะทำให้เงินทุนต่างประเทศที่ไหลเข้าจะเริ่มถอนเงินลงทุนกลับ เกิดกระแสเงินทุนไหลออก กระทบค่าเงินบาท ตลาดหุ้น และสภาพคล่องในประเทศ สิ่งเหล่านี้คงเกิดขึ้นแน่เมื่อเวลานั้นมาถึง และถ้าประเทศอย่างไทยไม่พร้อมกับภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นดังกล่าว การปรับตัวของเศรษฐกิจก็จะรุนแรง และจะกระทบทั้งการขยายตัวและเสถียรภาพเศรษฐกิจ
ทั้งสามประเด็นนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ที่ไม่ชัดเจนก็คือ คณะกรรมการนโยบายการเงิน สหรัฐจะให้ความสำคัญกับปัจจัยแต่ละปัจจัยนี้มากน้อยแค่ไหน หรือจะให้ความสำคัญเฉพาะปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสหรัฐเป็นสำคัญ จากข้อมูลขณะนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ธนาคารกลางสหรัฐคงจะยังไม่รีบขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจมีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และคงจะรอต่อไปถึงต้นหรือกลางปีหน้า เพื่อดูความชัดเจนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ดังนั้น เงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ คงจะยังไม่ใช่หลังเดือนตุลาคมปีนี้ แต่จะทอดยาวไปนานแค่ไหนปีหน้า ก็คงจะขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ อัตราการว่างงาน และอัตราเงินเฟ้อเป็นสำคัญ ทำให้เราต้องตามตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐอย่างใกล้ชิด แต่ที่แน่ๆ เมื่อธนาคารกลางสหรัฐเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แรงกดดันต่ออัตราดอกเบี้ยในประเทศก็คงจะเป็นขาขึ้นเช่นกัน ณ จุดนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจะทำอย่างไร ก็คงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ว่าเศรษฐกิจไทย ณ จุดนั้น ต้องการอัตราดอกเบี้ย ณ ระดับไหน โจทย์คงยาก แต่ความเป็นจริงก็คือ การเปลี่ยนแปลงคงต้องเกิดขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยทั่วโลก
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน