จากประชาชาติธุรกิจ
ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานคณะกรรมการภาษี สภาหอการค้าไทย
หลังจากที่อธิบดีกรมสรรพสามิตได้ออกมาระบุว่าจะมีการปฏิรูปภาษีสรรพสามิต เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยการเปลี่ยนฐานการคิดภาษีมาเป็นการใช้ราคาขายปลีกกับสินค้าสรรพสามิตทุก ประเภท และสั่งเดินหน้าจัดทำร่างประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิต โดยรวมเอากฎหมายสรรพสามิตทั้ง 7 ฉบับเข้ามาเป็นประมวลกฎหมายฉบับเดียว
ภาคเอกชนต่างก็ขานรับแนวคิดการปฏิรูปภาษีสรรพสามิตครั้งนี้เพราะหลัก การปฏิรูปภาษีนั้นเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนเรียกร้องมาโดยตลอด เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา กฎหมายภาษีสรรพสามิตของประเทศไทยมีปัญหาหลายประการ เช่น ปัญหาอำนาจดุลพินิจ ปัญหาการกระทำเกินกว่าขอบเขตของกฎหมาย ปัญหาความไม่ชัดเจน ปัญหาการเลือกปฏิบัติ ปัญหาความไม่โปร่งใส ปัญหาประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี และปัญหาเกิดข้อพิพาทขัดแย้งกับผู้ประกอบการเป็นคดีฟ้องร้องกันอยู่เรื่อยๆ
ในห้วงการปฏิรูปเช่นว่านี้เมื่อกรมสรรพสามิตออกมาประกาศเดินหน้า ปฏิรูปภาษีสรรพสามิตและเปิดโอกาสให้สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภา อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการให้ความคิดเห็นอย่างเต็มที่โดยจัดตั้งคณะทำงานร่วม ในการพิจารณาประมวลกฎหมายฯ โดยให้เวลาพอสมควรแก่ภาคเอกชนในการไปศึกษา ไม่ใช่แค่ตั้งเข้าไปเป็นคณะทำงานแต่ไม่ให้เวลาหรือไม่ฟังความเห็นภาคเอกชน เลย ซึ่งผมถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีในการให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการปฏิรูปกฎหมาย ภาษีที่สำคัญและควรนำไปเป็นตัวอย่างการปฏิรูปกับกฎหมายศุลกากร ประมวลรัษฎากรหรือกฎหมายภาษีอื่น ๆ ด้วย การดำเนินการของกรมสรรพสามิตนับว่าเป็นความตั้งใจที่ดีที่จะทำให้กฎหมายที่ ออกมาเกิดการยอมรับจากผู้เสียภาษีและสังคม
ล่าสุดนั้นประเด็นฐานภาษีนี้เหมือนจะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า กรมสรรพสามิตคงจะเลือกใช้ฐานราคาขายปลีกซึ่งมีความโปร่งใส ชัดเจน เป็นราคาที่ตรวจสอบได้ง่าย เป็นหลักในการเก็บภาษีต่อไป ซึ่งการใช้ฐานราคาขายปลีกนั้น ก็ได้รับการปฏิบัติในหลายๆ ประเทศในหลายสินค้า เช่น ประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปกว่า 27ประเทศ สวิสเซอร์แลนด์ สวีเดน อินเดีย ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาที่สะสมมานานเกี่ยวกับฐานภาษีสรรพสามิตได้
อย่างไรก็ดี การแก้กฎหมายในลักษณะปฏิรูปนั้นมิได้ทำกันได้บ่อยๆ เพราะเรื่องภาษีต้องการความแน่นอน ความชัดเจน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักระบบภาษีที่ดี (good tax system) ดังนั้นการปฏิรูปภาษีสรรพสามิตครั้งนี้จึงไม่ควรแก้ไขแต่ประเด็นฐานภาษีเท่า นั้น แต่ควรจะเข้าไปดูถึงเรื่องวัตถุประสงค์ของการจัดเก็บภาษีสินค้าแต่ละประเภท ให้ชัดเจน เพื่อให้สังคมหายกังขาว่า เก็บภาษีชนิดนั้นชนิดนี้ด้วยเหตุผลอะไร
เช่น จะเก็บภาษีเพียงเพื่อหารายได้เข้ารัฐหรือเพราะเหตุผลเรื่องผลกระทบภายนอก (externality cost) ตามหลักภาษีสรรพสามิต เช่น เรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อม การทบทวนวัตถุประสงค์จะช่วยทำให้การออกแบบโครงสร้างและอัตราภาษีให้สอดคล้อง กับวัตถุประสงค์ในการเก็บภาษีมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้น่าจะได้เข้าไปดูข้อกฎหมายต่างๆ ที่ล้าสมัย หรือที่สร้างภาระโดยไม่จำเป็น ซึ่งจะทำให้การบริหารการจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ลดภาระทั้งเจ้าหน้าที่และผู้เสียภาษี เช่น การปิดแสตมป์ หรือ การทำเครื่องหมายต่างๆ ซึ่งน่าจะทำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ได้แทน ยกเลิกภาระการรายงานเอกสารต่างๆ ที่ไม่จำเป็นและเขียนกฎหมายเพื่อรองรับสินค้าที่มีการปรับตัวเป็นมิตรต่อ สิ่งแวดล้อมมากขึ้นหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพน้อยลงด้วยการใช้ภาษีจูงใจ รวมทั้งการลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่เพื่อสร้างให้เกิดความโปร่งใสและ ป้องกันการคอร์รัปชั่นได้ด้วย
ไหนๆ จะปฏิรูปทั้งที ผมเห็นว่ากรมสรรพสามิตน่าจะทำให้มันครบถ้วนกระบวนความ ตั้งแต่การทบทวนวัตถุประสงค์ในการเก็บภาษีสินค้าแต่ละชนิด กำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน เพื่อออกแบบโครงสร้างภาษีและอัตราภาษีที่เหมาะสม จัดการเรื่องระบบบริหารจัดการให้ทันสมัย ลดภาระหรือข้อบังคับที่ไม่จำเป็น และเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีราคาแพงเข้ามาช่วยลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ให้มาก ก็จะทำให้บ้านใหม่ของกรมสรรพสามิตดูสวยสง่าเหมือนกับที่กำลังปรับปรุงทาสี อาคารกรมสรรพสามิตที่ราชวัตรอยู่ในขณะนี้…………..
ไหนๆ จะปฏิรูปทั้งที อย่าให้เสียของเลยครับ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน