สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความเสี่ยงภาคธนาคารในยุโรปมีสูงขึ้นแต่ผลกระทบน่าจะมีค่อนข้างจำกัด

ความเสี่ยงภาคธนาคารในยุโรปมีสูงขึ้นแต่ผลกระทบน่าจะมีค่อนข้างจำกัด

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกันอีกครั้งในเดือนนี้

ผมขออนุญาตเล่าเรื่องความเสี่ยงในภาคการเงินในยุโรปให้ฟังนะครับ ซึ่งประเด็นนี้น่าจะเป็นอีกประเด็นสำคัญทางเศรษฐกิจที่จะมีผลต่อภาวะการเงินและการลงทุนของโลกซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบกับภาวะการเงินการลงทุนในบ้านเราด้วย (ประเด็นสำคัญอีกประเด็นคือเรื่องของการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งเราได้คุยกันไปแล้วในเดือนที่แล้ว ครับ)

ความเสี่ยงภาคธนาคารกลับมาเป็นประเด็นกดดันภาวะเศรษฐกิจอีกครั้ง

ความเสี่ยงภาคธนาคารกลับมาเป็นจุดสนใจอีกครั้ง หลังจากธนาคาร Banco Espirito Santo (BES) ซึ่งมีขนาดสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับสองในโปรตุเกสผิดนัดชำระหนี้ (Default) ส่งผลทำให้ในช่วงต้นเดือน ส.ค. รัฐบาลโปรตุเกสตัดสินใจให้วงเงินช่วยเหลือ 4.9 พันล้านยูโร ซึ่งนำมาจากเงินกองทุนที่กันไว้สำหรับเพิ่มทุนธนาคารพาณิชย์วงเงิน 1.2 หมื่นล้านยูโร ที่ได้รับการจัดสรรจากสหภาพยุโรป (European Union: EU) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และสั่งให้ธนาคารกลางโปรตุเกส (Banco de Portugal) เข้าควบคุมกิจการ BES โดยผู้ฝากเงินกับธนาคาร BES จะได้รับการคุ้มครองเงินฝากทั้งหมด แต่ผู้ถือหุ้นและหุ้นกู้ด้อยสิทธิจะต้องแบกรับผลขาดทุน ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวได้เพิ่มความกังวลว่าโปรตุเกสซึ่งเพิ่งก้าวพ้นจากโครงการความช่วยเหลือทางการเงิน (Bailout Program) จาก EU และ IMF ในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา อาจต้องกลับเข้าขอรับความช่วยเหลืออีกครั้งหนึ่ง กระทั่งก่อให้เกิดความกังวลที่ว่า กรีซ ซึ่งเป็นประเทศที่ยังไม่สามารถก้าวพ้นจาก Bailout Program อาจเป็นรายต่อไปที่จะประสบปัญหาแบบเดียวกัน

อย่างไรก็ดี โอกาสที่จะลุกลามเป็นวิกฤตภาคการเงินทั่วทั้งยูโรโซนในปัจจุบันมีค่อนข้างน้อย

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ในโปรตุเกสถือเป็นปัญหาเฉพาะตัว (Specific Trouble) และไม่น่าจะลุกลามบานปลาย (Contagion) จนเกิดเป็นวิกฤตภาคการเงินทั่วทั้งในยูโรโซน (Systemic Risk) ด้วยเหตุผลสนับสนุน 3 ประการ กล่าวคือ

•I. สินทรัพย์ของระบบธนาคารในโปรตุเกสมีขนาดที่จำกัด: โดยมีสินทรัพย์ทั้งหมดมูลค่า 4.89 แสนล้านยูโร คิดเป็นเพียง 1.6% ของขนาดสินทรัพย์ทั้งหมดในยูโรโซน (สำหรับกรีซ มีขนาดสินทรัพย์เพียง 3.97 แสนล้านยูโร คิดเป็น 1.3% ของขนาดสินทรัพย์ทั้งหมดในยูโรโซน)

•II. มีระดับความเชื่อมโยงในยุโรปค่อนข้างต่ำ: ธนาคารพาณิชย์ในยุโรปปล่อยสินเชื่อให้แก่ธนาคารพาณิชย์ในโปรตุเกสและกรีซ มูลค่า 5.8 และ 3.1 หมื่นล้านยูโร ตามลำดับ ทั้งยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เกิดวิกฤตหนี้ในปี 2010 เป็นต้นมา

•III. มาตรการช่วยเหลือของธนาคารกลางยุโรป (ECB backstops): การปล่อยสภาพคล่องไม่จำกัดจำนวนให้กับธนาคารพาณิชย์ รวมถึงโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำระยะ 4 ปี (Targeted Long-Term Refinancing Operations: TLTROs) ที่กำลังจะเริ่มขึ้นในเดือน ก.ย. นี้

คาดสภาพคล่องจากมาตรการ TLTROs อาจสูงถึง 1 ล้านล้านยูโร หลัง ECB กำหนดบรรทัดฐานและการวางหลักประกันชัดเจนมากขึ้น

ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) ได้ออกมาให้รายละเอียดสำคัญเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการ TLTROs ซึ่งทำให้กฎเกณฑ์ต่างๆ รวมทั้งเงื่อนไขในการเข้าร่วมโครงการมีความชัดเจนมากขึ้น มีอยู่ด้วยกัน 3 ประเด็น กล่าวคือ

•บรรทัดฐานสำหรับการมีสิทธิกู้จนครบสัญญาระยะ 4 ปี (Benchmarks): แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

oธนาคารพาณิชย์ที่สินเชื่อขยายตัว (Growing Banks) ให้ยึดเอายอดสินเชื่อคงค้าง (Outstanding amount of eligible loans) ณ วันที่ 30 เม.ย. 2014 เป็นบรรทัดฐาน เช่น ธนาคาร A มียอดสินเชื่อคงค้าง ณ วันดังกล่าว อยู่ที่ 100 ล้านยูโร ในช่วง 2 ปี ข้างหน้า จะต้องรักษายอดสินเชื่อไว้ไม่ให้ต่ำกว่าระดับดังกล่าวถึงจะมีสิทธิกู้จนครบสัญญา (จนถึงปี 2018) ไม่เช่นนั้นจะถูกบังคับให้คืนเงินกู้ก่อนกำหนด 2 ปี

oธนาคารพาณิชย์ที่สินเชื่อหดตัว (Deleveraging Banks) ให้ยึดเอายอดสินเชื่อสุทธิเฉลี่ยต่อเดือน ในช่วง 1 ปี ระหว่างเดือน พ.ค. 2013 จนถึง เม.ย. 2014 เป็นบรรทัดฐาน เช่น ธนาคาร B มีการลดลงของยอดสินเชื่อเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 10 ล้านยูโร ในช่วง 2 ปี ข้างหน้า จะต้องรักษาอัตราการลดลงของสินเชื่อไม่ให้มากกว่าระดับดังกล่าวถึงจะมีสิทธิกู้จนครบสัญญา (จนถึงปี 2018) ไม่เช่นนั้นจะถูกบังคับให้คืนเงินกู้ก่อนกำหนด 2 ปี

•หลักประกันสำหรับการขอกู้ (Eligible Collateral): ให้ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

•วงเงินตลอดโครงการอาจสูงถึง 1 ล้านล้านยูโร: จากการกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจน ซึ่งไม่ได้กีดกันให้ Deleveraging Banks หมดสิทธิ์ในการกู้ รวมถึงการไม่ได้กำหนดกฎเกณฑ์การวางหลักประกันที่เข้มงวดขึ้น ทำให้ความต้องการสินเชื่อ (Take-Up) โครงการ TLTROs อาจสูงถึง 1 ล้านล้านยูโร ซึ่งเป็นยอดที่ประธาน ECB ประเมินเอาไว้ และเทียบเท่ากับวงเงินรวมกันจากโครงการ LTROs 2 ครั้งในเดือน ธ.ค. 2011 (ยอด 5.24 แสนล้านยูโร) และ ก.พ. 2012 (ยอด 5.86 แสนล้านยูโร)

ผลการประเมินสินทรัพย์ของธนาคารในยูโรโซนและการทำ stress test น่าจะออกมาในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้

Deutsche Bank เชื่อว่า ในช่วงเดือนปลายเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ ECB น่าจะประกาศผลการประเมินสินทรัพย์ (Asset Quality Review) และผลการทำ stress test ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่กว่า 130 ธนาคารในยูโรโซน โดยธนาคารพาณิชย์ที่ไม่ผ่านผลการประเมินจะต้องทำแผนการเพิ่มทุนภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งผมมองว่าในช่วงดังกล่าวอาจเกิดความผันผวนในตลาดจากข่าวดังกล่าวได้ แต่อย่างไรก็ตามธนาคารขนาดใหญ่ในประเทศหลักๆ อย่างเช่นในเยอรมนีน่าจะมีความพร้อมมากกว่าธนาคารพาณิชย์ในประเทศที่ประสบปัญหาจากวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ความเสี่ยงภาคธนาคาร ยุโรป มีสูงขึ้น ผลกระทบ น่าจะมี ค่อนข้างจำกัด

view