จาก โพสต์ทูเดย์
โดย....นรินทร์ ใจหวัง
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยในการสัญจรบนท้องถนนมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แน่นอนว่าเป็นผลพวงมาจากกฎหมายจราจรอันเข้มงวด และวินัยที่ดีเยี่ยมของคนญี่ปุ่น
ข้อนี้ พนอจัน วิชยา เทรายาม่า หญิงไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นยืนยันได้
"ที่ญี่ปุ่นกว่าจะสอบใบขับขี่ได้นี่ยากเย็นมาก ครั้งเดียวไม่มีผ่านง่ายๆ บางคนสอบแล้วสอบอีก 5-6 ครั้งกว่าจะได้ ใครได้ใบขับขี่นี่ถือว่ายิ่งกว่าถูกรางวัลล็อตเตอรี่เสียอีก"
จากเหตุการณ์ที่คนไทยก่อเหตุเมาแล้วขับรถชนนักเรียนญี่ปุ่นกลางถนนที่จ.ชิบะ ประเทศญี่ปุ่น สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
พนอจัน บอกว่าเมาแล้วขับถือเป็นเรื่องใหญ่มากในญี่ปุ่น ถึงขั้นหมดอนาคตเลยทีเดียว
"คนไทยที่เพิ่งมาอยู่ญี่ปุ่นใหม่ๆ มักไม่คุ้นกับระเบียบวินัยการจราจรของที่นี่ และมักจะเเหกกฎอยู่บ่อยๆ เรื่องเมาแล้วขับถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เวลาคนญี่ปุ่นจะดื่มกินสังสรรค์ เขาจะมีการวางแผนว่าดื่มกี่ชั่วโมงแอลกอฮอล์ถึงหมดฤทธิ์ถึงจะขับรถได้ หรือถ้าในกลุ่มที่มีคนดื่ม ต้องมีคนหนึ่งที่ไม่ดื่มคอยขับรถให้
คนญี่ปุ่นเข้มงวดมาก ยกตัวอย่างสามีซึ่งเป็นคนญี่ปุ่นจะห้ามไม่ให้อาศัยนั่งรถไปกับใครมั่วซั่ว ทีแรกเราก็ไม่เข้าใจและโมโหมาก เขาอธิบายว่าถ้านั่งไปในรถคนที่เราไม่สนิทคุ้นเคย แล้วเกิดอุบัติเหตุขึ้น เราจะพลอยติดร่างแหไปด้วย หรือนั่งไปกับคนที่ไม่มีประกัน เราก็จะเดือดร้อน ฉะนั้นจะนั่งรถใครสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้"
พนอจันฝากคำแนะนำไปยังคนไทยที่จะเดินทางมาประเทศญี่ปุ่นว่าหากไม่มีความจำเป็นไม่ควรขับรถยนต์ ถ้าไม่ชำนาญเส้นทาง
"โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าต้องดื่ม ยิ่งห้ามขับโดยเด็ดขาดเลย ควรเรียกรถแท็กซี่พิเศษที่บริการรับส่งคนเมามารับดีกว่า"
ทั้งนี้เว็บไซต์ www.j-campus.com ได้ยกตัวอย่างข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายจราจรในประเทศญี่ปุ่นอันเข้มงวด ดังนี้ ไม่หยุดรถตามป้ายสัญญาณ มีโทษหักคะแนน 2 แต้ม เสียค่าปรับ 5,000-9,000 เยนตามขนาดของรถ ตั้งแต่จักรยานยนต์ไปจนถึงรถบรรทุก หากคะแนนที่ถูกหักสะสมย้อนหลัง 3 ปี รวมกันตั้งแต่ 6 คะแนนขึ้นไป จะถูกยึดใบขับขี่เป็นเวลา 30-180 วัน เว้นแต่หากเป็นการสะสมจากกระทำความผิดอันไม่รุนแรง (1-3 แต้ม) อาจได้รับผ่อนผันให้เข้ารับการอบรมผู้ปฏิบัติผิดกฎจราจรแทนการยึดใบขับขี่
กฎหมายของญี่ปุ่นจะดูแลคนเดินเท้าเป็นพิเศษ โดยมีกฎหมายที่เอาผิดผู้ขับที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ เช่น ขัดขวางการข้ามถนนของคนเดินเท้า ขัดขวางการสัญจรของเด็กเล็ก ไม่รักษาขัดขวางการข้ามถนนของคนเดินเท้า ไม่รักษาระยะห่างจากคนเดินเท้าในระยะที่ปลอดภัย ไม่ชะลอรถ ในถนนคนเดิน จะมีโทษหักคะแนน 2 แต้ม และปรับ 5,000-9,000 เยน ยกเว้นความผิดฐานขัดขวางการข้ามถนน จะมีโทษปรับหนักกว่า คือ 6,000-12,000 เยน
ส่วนกฎหมายเมาแล้วขับ ตามมาตรา 65 ของ พรบ.การจราจรของญี่ปุ่น ถูกยกร่างขึ้นใหม่ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. 2007 เป็นต้นมา ระบุว่าห้ามขับขี่ยานพาหนะในขณะที่มีแอลกอฮอล์ในร่างกาย ห้ามให้ยืมหรือให้ใช้ยานพาหนะ แก่ผู้ที่น่าวิตกว่าจะกระทำผิด ห้ามให้สุรา หรือสนับสนุนการดื่มสุราแก่ผู้ที่น่าวิตกว่าจะกระทำผิด ห้ามร้องขอหรือไหว้วานให้ผู้อื่นขับขี่ยานพาหนะไปส่งตนเอง โดยที่รู้อยู่แล้วว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่มีแอลกอฮอล์ในร่างกาย อีกทั้งยังห้ามร่วมโดยสารไปในยานพาหนะที่ขับขี่โดยบุคคลที่กระทำผิดด้วย
บทลงโทษของผู้ขับขี่เมาแล้วขับ มีการพิจารณาตามสภาพว่าไม่อยู่ในอาการที่จะควบคุมการขับขี่ได้ตามปกติ เช่น เดินเซ ตาปรือ หน้าแดงก่ำ ฯลฯ โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านเยน หักคะแนน 35 แต้ม และเพิกถอนใบขับขี่ 3 ปี มีแอลกอฮอล์ในร่างกายเกินกว่า 0.15 mg ต่อลมหายใจ 1 ลิตรโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนเยน หักคะแนน 13-25 แต้ม และยึดใบขับขี่ตั้งแต่ 90 วัน ไปจนถึงเพิกถอนใบขับขี่ 2 ปี
ผู้ให้ยืมหรือให้ใช้ยานพาหนะมีโทษจำคุกและโทษปรับเท่ากับผู้ขับขี่ ผู้จำหน่ายสุรา ผู้สนับสนุนให้ดื่ม หรือผู้ร่วมโดยสารมาด้วย กรณีผู้ขับขี่เมาแล้วขับโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนเยน กรณีผู้ขับขี่มีแอลกอฮอล์ในร่างกาย โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนเยน
อย่างไรก็ตาม หากอุบัติเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิต จะมีความผิดในโทษฐานขับขี่อันตรายอันเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 20 ปี ซึ่งเป็นโทษที่หนักกว่าการขับขี่โดยประมาทอันเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต ซึ่งกำหนดโทษไว้ไม่เกิน 7 ปี
กล่าวได้ว่า เมาแล้วขับจนทำให้มีผู้เสียชีวิต มีโทษรุนแรงรองจากความผิดฐานฆ่าคนตายเลยทีเดียว !!!
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน