รายงานแบบ G4
โดย : ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
การยอมรับจากภายนอกเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ แต่ให้คุณค่าในการสร้างให้เกิดความภาคภูมิใจแก่พนักงาน
ศูนย์พัฒนาความรับผิดชอบต่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสถาบันไทยพัฒน์ ได้ร่วมกันจัดทำหลักสูตรพัฒนาการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามกรอบการรายงานของ Global Reporting Initiative (GRI) ฉบับ G4 สำหรับบริษัทจดทะเบียนให้ได้เรียนรู้กระบวนการจัดทำ Sustainability Report ซึ่งเป็นกรอบการรายงานด้านความยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล
กรอบการรายงาน GRI เน้นการสร้างให้เกิดกระบวนการรายงาน (Reporting Process) ขึ้นในองค์กร มิใช่มุ่งหวังเพียงเพื่อให้องค์กรได้มาซึ่งเล่มรายงาน (Report) เป็นเรื่องหลัก
ด้วยกระบวนการรายงานตามกรอบ GRI จะชี้ให้เห็นแนวทางในการระบุวิสัยทัศน์และกลยุทธ์การดำเนินงานขององค์กรในทิศทางที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนมากขึ้น การปรับปรุงสายผลิตภัณฑ์และบริการที่ยั่งยืนเพิ่มเติมจากเดิม และในระหว่างทาง จะช่วยให้องค์กรเห็นลู่ทางในการเชื่อมโยงการดำเนินงานเชิงกลยุทธ์เข้ากับกระบวนการรายงาน
ผลได้สำคัญของกระบวนการรายงานตามกรอบ GRI อีกเรื่องหนึ่ง คือ จะช่วยให้ผู้รับผิดชอบติดตามความคืบหน้าและเผยให้เห็นส่วนของการดำเนินงานที่ควรปรับปรุง ทำให้องค์กรสามารถบริหารจัดการกับสิ่งที่ติดตามวัดผลได้อย่างเป็นปัจจุบัน (โดยไม่ต้องรอดำเนินการในรอบปีถัดไป) การเฝ้าติดตามและประเมินการดำเนินงานในกระบวนการรายงาน นอกจากจะช่วยให้องค์กรปรับปรุงสิ่งที่ทำได้ไม่ดีให้ดีเป็นปกติแล้ว ยังช่วยให้องค์กรเห็นโอกาสในการพัฒนาสิ่งที่ทำได้ดีเป็นปกติ ให้ดียิ่งขึ้นเหนือกว่าเกณฑ์ปกติอีกด้วย อาทิ การลดค่าใช้จ่ายจากการใช้วัตถุดิบทดแทน หรือการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อรองรับตลาดที่กำลังเติบโตในวิถีการพัฒนาที่ยั่งยืน
กระบวนการรายงานตามกรอบ GRI เป็นเสมือนระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่ช่วยให้องค์กรค้นพบความเสี่ยงและสิ่งที่ไม่คาดฝันซึ่งอาจเกิดขึ้นและส่งผลเสียหายต่อธุรกิจ เช่น ระดับความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจ หรือกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงอันมีผลต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจในอนาคต ในทางตรงข้าม กระบวนการรายงาน ยังทำหน้าที่เสมือนนักพยากรณ์ที่ชี้ให้เห็นโอกาสที่องค์กรยังมิได้ตระหนักและนำมาใช้ประโยชน์เหนือคู่แข่ง เช่น เครือข่ายความร่วมมือในห่วงโซ่คุณค่าที่เอื้อต่อการขยายตลาดใหม่ เทคโนโลยีหรือสิ่งประดิษฐ์ที่พนักงานคิดค้นขึ้นเพื่อแก้ปัญหาในการทำงานที่สามารถต่อยอดขยายผลได้
กระบวนการรายงานตามกรอบ GRI มิใช่เพียงรายงานที่นำเสนอสิ่งที่องค์กรได้ดำเนินการเกี่ยวกับความยั่งยืนทางเดียว แต่เป็นสื่อหรือช่องทางที่เปิดให้มีการสะท้อนการดำเนินงาน ผ่านการพูดคุย หารือ วัดผล และดำเนินการเพิ่มเติมตามที่เห็นสมควร องค์กรที่มีกระบวนการรายงาน (ที่มิใช่มีเพียงรายงาน) จะสร้างสิ่งที่เรียกว่า “ความเชื่อมั่น” ให้เกิดขึ้นระหว่างองค์กรและพนักงานและกับผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ซึ่งสามารถพัฒนาไปสู่ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร
การยอมรับจากภายนอกเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ แต่ให้คุณค่าในการสร้างให้เกิดความภาคภูมิใจแก่พนักงานในการทำงานร่วมกับองค์กร สามารถที่จะรักษาพนักงานที่มีความสามารถไว้ และในขณะเดียวกัน ก็เพิ่มโอกาสในการชักชวนบุคลากรที่มีคุณภาพและเป็นที่ต้องการให้เข้ามาร่วมงานกับองค์กรได้ง่ายขึ้น
กระบวนการรายงานมีความแตกต่างจากกระบวนการประชาสัมพันธ์ ตรงที่การนำเสนอข้อมูลจะครอบคลุมทั้งในส่วนที่องค์กรทำได้ดีและในส่วนที่องค์กรยังต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไข มิได้คัดกรองเอาแต่ส่วนที่ดีมารายงาน สิ่งนี้จะช่วยสร้างให้เกิดความสมดุลของการรายงาน นำไปสู่ความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่นระหว่างองค์กรและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง
องค์กรที่พยายามจัดทำรายงานเพื่อวัตถุประสงค์ในการประชาสัมพันธ์หรือการโฆษณา คุณค่าของเล่มรายงานที่จัดทำขึ้น อาจจะจำกัดอยู่ในระดับที่เป็นเพียงแค็ตตาล็อกสินค้าหรือโบรชัวร์บริษัท ที่ผู้ใช้รายงานมิได้ให้ราคาเท่ากับรายงานที่เกิดจากกระบวนการรายงานอย่างแท้จริง
รายงานที่เกิดจากกระบวนการรายงาน ยังถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือให้คณะกรรมการบริษัทหรือผู้บริหารอค์กรในการชี้แจงและให้ข้อมูลแก่ผู้ลงทุนในมิติที่เกี่ยวกับผลการดำเนินงานที่มิใช่ตัวเลขทางการเงิน (Non-financial performance data) เนื่องจากคำถามที่ผู้ลงทุนต้องการทราบจากองค์กร ในปัจจุบันนี้ ครอบคลุมถึงข้อมูลการดำเนินงานที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, Governance: ESG) การจัดทำรายงานตามกรอบการรายงานที่เป็นสากล จะช่วยให้องค์กรดำเนินการในเรื่องดังกล่าวได้อย่างเป็นระบบ และมีข้อมูลที่เกิดจากการดำเนินการจริงสำหรับรายงานหรือชี้แจงให้ผู้ลงทุนได้รับทราบและเพื่อใช้พิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุนได้อย่างมีคุณภาพ
หลักสูตรพัฒนาการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามกรอบ GRI (G4) ครอบคลุมตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนการเก็บรวบรวมข้อมูล การเชื่อมโยงกับผู้มีส่วนได้เสีย การกำหนดประเด็นที่มีสารัตถภาพ (Material aspects) การกำหนดขอบเขตของข้อมูลที่รายงาน (Boundary) การนำเสนอข้อมูลอย่างมีประสิทธิผล ไปจนถึงการประเมินรายงานและการวางแผนเพื่อการพัฒนาต่อเนื่องสำหรับการรายงานในรอบปีถัดไป โดยผู้ที่ผ่านการอบรมในหลักสูตรนี้จะได้รับประกาศนียบัตร (Certificate) จาก GRI
บริษัทจดทะเบียนที่สนใจสมัครได้จนถึงวันที่ 19 กันยายน 2557 (รับจำนวนจำกัด) หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์พัฒนาความรับผิดชอบต่อสังคม (อีเมล SRcenter@set.or.th)
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน