จากประชาชาติธุรกิจ
ที่มา นสพ.มติชนรายวัน
ภาษี อากรมีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะรายได้ที่สำคัญที่สุดของรัฐ ที่ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี ที่ปล่อยให้เอกชนเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตที่สำคัญ อันได้แก่ทุนและที่ดิน ที่ปล่อยให้ตลาดมีการแข่งขันกันอย่างเสรี รัฐจะเข้ามาแทรกแซงเฉพาะเรื่องและในเวลาที่มีความจำเป็นเท่านั้น
สำหรับ ระบอบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมนั้น ปัจจัยการผลิตทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นที่ดิน ทุน การประกอบการผลิต การแจกจ่ายสินค้าที่รัฐเป็นผู้ผลิต ย่อมเป็นของรัฐ ดังนั้น รายได้ส่วนใหญ่ของรัฐในระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมจึงไม่ใช่ภาษีอากร แต่เป็นรายได้จากการประกอบการของรัฐวิสาหกิจที่รัฐเป็นเจ้าของ รัฐวิสาหกิจที่ประกอบการผลิตจะมีค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าแรงเท่านั้น รายจ่ายอย่างอื่น เช่น ค่าเช่า ดอกเบี้ย ชิ้นส่วน วัตถุดิบอื่นๆ ไม่มีราคา ไม่เป็นค่าใช้จ่าย ภาษีก็ไม่มี การประเมินผลงานของฝ่ายจัดการก็ไม่ใช่กำไร เพราะกำไรเป็นส่วนเกินของนายทุน แต่อยู่ที่สามารถผลิตได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนหรือไม่
สำหรับ ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีแล้ว ภาษีอากรเป็นรายได้หลักของรัฐบาล ส่วนรายได้อื่น เช่น กำไรจากรัฐวิสาหกิจก็ดี ค่าสัมปทาน ค่าเช่าทรัพย์สินก็ดี เป็นรายได้ส่วนน้อยเท่านั้น ยกเว้นฮ่องกงและสิงคโปร์ที่รายได้จากค่าเช่าที่ดินและกำไรจากรัฐวิสาหกิจ เช่น ท่าเรือและเงินปันผลที่รัฐบาลไปลงทุนมีสัดส่วนที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ เนื่องจากปรัชญาของระบบเศรษฐกิจแบบตลาดหรือระบบเศรษฐกิจแบบเสรี รัฐพึงไม่ดำเนินการแข่งขันกับเอกชน นอกจากกิจการสาธารณูปโภคที่เอกชนทำไม่ได้ หรือทำได้แต่อาจจะมีลักษณะผูกขาด
ความ คิดในเรื่องภาษีอากรเปลี่ยนไปมาก เมื่อความคิดในเรื่องการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเข้ามาแทนที่ความคิดในเรื่องสังคมนิยมและความ เป็นธรรมทางสังคม
การล่มสลายของเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมก็ดี การล่มสลายของสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งที่สุดในอังกฤษก็ดี การประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคในเอเชียตะวันออกและตะวัน ออกเฉียงใต้ จนหลายประเทศในภูมิภาคนี้กลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว ทำให้กระแสความคิดในเรื่องเสรีทางการค้าและการลงทุนกลายเป็นกระแสทางความคิด ในเชิงทฤษฎีเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่
การที่ประเทศอุตสาหกรรมเก่า เช่น ยุโรปตะวันตก สหรัฐอเมริกา รวมทั้งญี่ปุ่น ต่างก็สนับสนุนร่วมกับประเทศอุตสาหกรรมใหม่ในเอเชีย เช่น จีนกับประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์เดิม ในการปฏิวัติระเบียบ สร้างระบบการค้าการลงทุนและการเงินใหม่ของโลก ให้เป็นโลกที่ไร้พรมแดนในที่สุด โดยพัฒนาให้มีองค์การระดับโลก อันได้แก่องค์การค้าโลก เป็นผู้ดูแลให้ระบบการค้าการลงทุนและระบบการเงินของโลกเป็นไปอย่างเสรีตาม กลไกตลาด โดยทุกประเทศที่เป็นสมาชิกขององค์การค้าโลกนั้น ต้องเปิดตลาดสินค้า การลงทุนและการเงิน รวมทั้งระบบอัตราแลกเปลี่ยนให้เป็นไปโดยเสรีมากขึ้น
การเปลี่ยนความ คิดในเรื่องการเปิดตลาดทั้งในระดับระหว่างประเทศและระดับภายในประเทศ ทำให้นโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมต้องปริวรรตคล้อยตามกระแสการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ไปด้วย
จุดมุ่งหมายของเครื่องมือในการดำเนินนโยบายของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการเงินการคลัง นโยบายภาษีอากร นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน จะต้องนำมาประเมินกันใหม่สำหรับแต่ละประเทศ โดยเฉพาะสำหรับประเทศที่มีระบบที่เล็กและเปิด เมื่อเทียบกับระบบเศรษฐกิจทั้งหมดของโลก หรือที่เรียกว่า "small and open economy"
ความคิดเรื่องภาษีอากรก็ไม่พ้นที่จะต้องคิดเสียใหม่จากความ คิดดั่งเดิม เช่น ความคิดเรื่องภาษีทางตรง direct tax และภาษีทางอ้อม หรืออัตราภาษีที่ก้าวหน้า progressive tax rate หรืออัตราภาษีที่ถดถอย regressive tax rate หรือกลุ่มคนที่เป็นเป้าหมายที่จะต้องรับภาระภาษี สิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นความจริง เพราะโครงสร้างภาษีที่ต้องเปลี่ยนไปเพื่อให้แข่งขันได้ในเวทีระหว่างประเทศ หรือความสามารถในการจัดเก็บที่ไม่มีทางจะทำได้เต็มประสิทธิภาพ ยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาก็ยิ่งมีปัญหามาก
ฐานภาษีจึงค่อยๆ เปลี่ยนไป จากฐานที่เคยเก็บจากผลผลิตหรือการนำเข้าการส่งออกสำหรับภาษีการค้าและภาษี ศุลกากร หรือรายได้ของนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดา ก็เปลี่ยนมาเป็นค่าใช้จ่ายในการบริโภค มีระบบคืนภาษีสำหรับผู้ส่งออก เงินออมระยะยาวประเภทต่างๆ เช่น เบี้ยประกันชีวิต พันธบัตร หุ้นกู้ หรือตราสารทางการเงินระยะยาวที่ลงทุนในตลาดทุน ก็อนุญาตให้หักออกจากฐานภาษีได้ เพราะรายได้ส่วนที่ออมไม่ควรอยู่ในฐานภาษี จะอยู่ในฐานภาษีเฉพาะส่วนที่ใช้จ่ายเพื่อบริโภคเท่านั้น เพราะผู้เอาจากสังคมคือผู้บริโภค ส่วนผู้ที่ให้กับสังคมคือผู้ออม
มรดก คือส่วนที่เจ้ามรดกออมสะสมไว้ถ้ามองจากเจ้ามรดก หรือเป็นรายได้ของทายาทผู้รับมรดกถ้ามองจากผู้รับมรดก จึงเกิดปัญหาถกเถียงกันว่าภาษีมรดกควรจะมีหรือไม่ ถ้ามองว่าเป็นเงินออมก็ไม่ควรมีภาษีมรดก ถ้ามองว่าเป็นรายได้ของทายาทก็อาจจะมีก็ได้ แต่ภาษีมรดกเป็นเครื่องมือในการลดช่องว่างหรือหารายได้ที่เลวที่สุด เพราะเป็นตัวทำลายกำลังใจหรือมูลเหตุจูงใจให้เกิดการแข่งขันและการออม การลดช่องว่างเพื่อคุณภาพสังคมควรทำผ่านโครงการการใช้จ่ายลงทุนของภาครัฐบาล อันได้แก่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจแข่งขันได้ ทำให้ระบบเศรษฐกิจสามารถทำงานในระดับที่แรงงานได้ทำงานเต็มที่ ไม่มีการว่างงาน จัดเก็บภาษีอากรได้อย่างเพียงพอในการจัดบริการและสวัสดิการอย่างเหมาะสม สำหรับสังคมนั้นๆ
นอกจากนั้น ฐานภาษีที่เกี่ยวพันกับประสิทธิภาพในการจัดเก็บ การจัดเก็บภาษีจากฐานที่เป็น "กองทรัพย์สิน" หรือ "stock of wealth" ย่อมมีความยุ่งยาก มีค่าใช้จ่ายสูง ถ้าจะให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปด้วยความเป็นธรรม เมื่อเทียบกับฐานภาษีที่เป็น "กระแสรายรับหรือรายจ่าย" "flow of income or expenditure" หรือกระแสของรายรับรายจ่าย ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เช่น รายได้ต่อเดือนหรือต่อปี รายจ่ายต่อสัปดาห์ต่อเดือนหรือต่อปี ส่วนกองทรัพย์สินหรือ stock of wealth หรือสต๊อกสินค้า การวัดมูลค่าหรือจำนวนเป็นการวัด ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง
ความ ยุ่งยากในการวัดมูลค่าของกองทรัพย์สินหรือกองสินค้ามีอยู่หลายประการ ประการแรก ชนิดของทรัพย์สิน จะมีอะไรบ้าง เพราะทรัพย์ที่ไม่ได้ลงทะเบียน เช่น ทองคำ เงินสด เพชรนิลจินดา สิทธิต่างๆ เช่น สิทธิบัตร นิมิตสิทธิ เป็นต้น ก็ย่อมไม่มีข้อมูลว่าใครมีอยู่เท่าใด จะทราบได้ก็แต่ทรัพย์สินที่มีทะเบียน เช่น เงินฝากธนาคาร ประการที่สอง การตีราคา ณ เวลาใดเวลาหนึ่งย่อมมีความยุ่งยาก เพราะไม่มีธุรกรรมผ่านทางตลาด การตีราคาจึงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าพนักงาน ซึ่งเป็นช่องทางให้เกิดความรั่วไหล เป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตในหมู่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้มาก หากจะต้องเข้มงวดตรวจตราให้รัดกุมก็ต้องใช้พนักงานจำนวนมาก ต้องใช้คอมพิวเตอร์และเครื่องมือต่างๆ ในการประเมินราคาทรัพย์สินโดยเฉพาะอย่างยิ่งอสังหาริมทรัพย์มีความยุ่งยาก มาก กรมธนารักษ์ทำมาหลายปีก็ทำได้เพียงไม่ถึงร้อยละ 30 บางทีก็ไม่คุ้มค่าใช้จ่ายของรัฐในการจัดเก็บให้ถูกต้องและเป็นธรรม
ความ เป็นธรรมและประสิทธิภาพในการจัดเก็บมีความสำคัญที่จะทำให้ตลาดมีการแข่งขัน อย่างสมบูรณ์ เพราะผู้ที่สามารถหนีหรือเลี่ยงภาษีได้ย่อมได้เปรียบคู่แข่งขันอื่น เพื่อให้แข่งขันได้หากต้องการหนีภาษีหรือเลี่ยงภาษีเพื่อความอยู่รอดก็ต้อง ทำ เมื่อมีคนหนึ่งทำได้ก็ต้องมีอีกคนทำตาม
อัตราภาษีจากฐานภาษีที่ เป็น "กองทรัพย์สิน" หรือ stock of wealth จึงมีปัญหาในการที่จะให้ความชัดเจนและรัดกุม ทั้งการตีราคาและการจัดเก็บจึงไม่ควรสูงจนเกินไป จนทำให้การหนีหรือการเลี่ยงภาษีสร้างผลประโยชน์ให้มากเกินไป
ภาษีจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและยุ่งยาก
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน