จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
โรคในช่องปากเป็นปัญหาสำคัญที่กระทบต่อสุขภาพโดยรวมของผู้สูงอายุ ทำให้ร่างกายอ่อนแอและเจ็บป่วยง่าย และเสี่ยงนำไปสู่การสูญเสียฟันแนะป้องกันได้ด้วยการดูแลอนามัยช่องปากอย่างสม่ำเสมอ พร้อมเดินหน้าการจัดบริการในโครงการฟันเทียมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เร่งคืนความสุขให้กับผู้สูงอายุชาวไทยได้มีรอยยิ้มที่สดใส จากการพึ่งฟันเทียมใช้เคี้ยวอาหาร
“ช่องปาก” นับเป็นประตูสู่สุขภาพของคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งกรมอนามัยได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไทยใส่ใจสุขภาพช่องปากและมีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากที่ถูกต้อง เพื่อควบคุมป้องกันโรคในช่องปากและลดการสูญเสียฟันมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ เพราะการปล่อยให้ช่องปากผู้สูงอายุไม่สะอาด นอกจากจะส่งผลให้เกิดการสูญเสียฟันแล้ว ยังทำให้เกิดโรคในช่องปากด้วย เช่น ทำให้รากฟันผุ และเกิดโรคเหงือกอักเสบรุนแรงขึ้น ซึ่งจากการศึกษาพบว่าจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจถึง 2 เท่า เชื้อโรคในช่องปากยังสามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆทำให้เกิดการติดเชื้อ เช่น ลิ้นหัวใจอักเสบปอดอักเสบจากการติดเชื้อ เป็นต้น
นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ปัญหาการสูญเสียฟันที่ส่งผลต่อการบดเคี้ยวอาหารการกัด และการกลืนอาหารอย่างชัดเจนทำให้ผู้สูงอายุได้รับสารอาหารไม่ครบทั้ง 5 หมู่ ส่งผลต่อสุขภาพโดยรวม ร่างกายอ่อนแอและเจ็บป่วยได้ง่าย แม้ว่าการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากครั้งล่าสุดในปี 2555 จะพบว่าผู้สูงอายุมีการสูญเสียฟันทั้งปากลดลงจากร้อยละ 8.2 เหลือร้อยละ 7.2 ความจำเป็นต้องใส่ฟันเทียมทั้งปากลดลงจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 2.5 เนื่องจากทุกโรงพยาบาลได้ร่วมกันรณรงค์จัดบริการใส่ฟันเทียมทั้งปากแก่ผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2548แต่จากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรสูงอายุ เมื่อคิดเป็นจำนวนผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องใส่ฟันเทียมทั้งปากจึงยังสูงอยู่ ซึ่งพบว่ามีมากถึงประมาณ 250,000 ราย
“โรคในช่องปาก” สัญญาณเตือนเสี่ยงสูญเสียฟัน...ปัญหาสำคัญของผู้สูงวัย
ที่ผ่านมา กรมอนามัยได้ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุไทยมีฟันใช้เคี้ยวอาหารเพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ภายใต้ 3 กิจกรรมหลัก ที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 คือ 1. สนับสนุนการจัดบริการในโครงการฟันเทียมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการใส่ฟันเทียมทดแทนให้ผู้สูงอายุที่สูญเสียฟันทั้งปากหรือเกือบทั้งปากฟรีกว่า 380,000 ราย 2. การส่งเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุโดยสนับสนุนให้ผู้สูงอายุดูแลอนามัยช่องปากด้วยตนเองและบุคคลใกล้ชิดอย่างถูกต้องผ่านแกนนำในชมรมผู้สูงอายุด้านการส่งเสริมสุขภาพช่องปากซึ่งขณะนี้มีอยู่ 3,311 ชมรม และ 3. พัฒนาหน่วยบริการใกล้บ้าน ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อจัดบริการส่งเสริม ป้องกัน รักษาโรคในช่องปากอย่างง่าย เพื่อลดการสูญเสียฟันซึ่งจะส่งผลที่ดีต่อสุขภาพโดยรวมของผู้สูงอายุ
นอกจากนี้ กรมอนามัยยังจัดการประกวด “10 ยอดฟันดี วัย 80 ปี และ 90 ปี” เป็นประจำทุกปี เพื่อยกย่องเชิดชูผู้สูงอายุที่เป็นต้นแบบการดูแลสุขภาพช่องปากอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ฟันธรรมชาติไม่ได้หลุดร่วงไปตามวัย ดังที่มีการเข้าใจที่ผิดกัน หากได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างถูกต้อง ซึ่งในปีนี้กำหนดจัดการประกวดระดับประเทศในวันที่ 15 ตุลาคม 2557 ภายใต้โครงการรณรงค์ “คนไทยฟันดี สดุดีสมเด็จย่า” เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพและวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 21 ตุลาคมของทุกปี ผลจากการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวช่วยให้ผู้สูงอายุมีฟันแท้ใช้เคี้ยวอาหาร 20 ซี่ขึ้นไปตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 49 ในปี 2545 เป็นร้อยละ 58 ในปี 2555 นอกจากนี้ ในปี 2557กรมอนามัยยังได้ขยายการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ โดยเริ่มพัฒนารูปแบบการดูแลสุขภาพช่องปากในกลุ่มผู้สูงอายุที่พบโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการสูญเสียฟัน และการติดเชื้อไปสู่ระบบอื่นๆ ของร่างกาย รวมทั้งป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ปอดอุดกั้นจากการสำลัก เป็นต้น
ทางด้าน ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การควบคุมป้องกันโรคในช่องปากและลดปัญหาการสูญเสียฟัน ผู้สูงอายุจึงต้องใส่ใจในการดูแลสุขภาพช่องปากอย่างถูกต้องและเหมาะสมโดยมีหลักง่ายๆ คือ การทำความสะอาดช่องปากด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ การแปรงฟันตามสูตร 222 ของกรมอนามัย คือ แปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ นานครั้งละ 2 นาที วันละ 2 ครั้ง หลังแปรงฟันควรงดขนมหวาน น้ำอัดลม 2 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังต้องทำความสะอาดบริเวณซอกฟันด้วยไหมขัดฟัน ถ้าหากมีช่องว่างระหว่างซี่ฟันควรใช้แปรงซอกฟันทำความสะอาดเสริมด้วย ส่วนผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ควรมีผู้ดูแลทำความสะอาดช่องปากให้เป็นประจำเช่นเดียวกับการทำความสะอาดร่างกายให้ผู้สูงอายุตามปกติ เพื่อป้องกันการป่วยและเสียชีวิตจากปอดอักเสบจากการสำลัก (Aspirating Pneumonia) ซึ่งพบบ่อยในผู้สูงอายุที่ติดเตียง
ส่วนผู้สูงอายุที่เหลือฟันแท้น้อยกว่า 20 ซี่ จำเป็นต้องใส่ฟันเทียมหรือฟันปลอมทดแทน ส่วนผู้ที่ใส่ฟันเทียมแล้ว แนะนำว่าต้องถอดออกมาทำความสะอาดหลังอาหารทุกมื้อ ก่อนนอนต้องถอดออกแช่น้ำสะอาด และผู้สูงอายุทุกคนควรไปพบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อตรวจสภาพฟัน เหงือก รวมทั้งเนื้อเยื่อในช่องปาก และซ่อมเสริมฟันเทียมให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ดีอยู่เสมอไม่หลวมหรือคมจนเหงือกและลิ้นเป็นแผล
การดูแลสุขภาพช่องปากที่ดีอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วัยเด็ก จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจอย่างจริงจัง เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างพฤติกรรมสุขภาพช่องปากที่เหมาะสม เพื่อลดการเกิดโรคช่องปาก ที่กลายเป็นปัญหาการสูญเสียฟันในวัยผู้สูงอายุตามมาได้
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน