สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ซิมโพเซี่ยม แบงก์ชาติปีนี้มีอะไร?

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ศรัณย์ กิจวศิน



อีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “แบงก์ชาติ” จะมีงานสัมมนาวิชาการใหญ่ประจำปี ที่เรียกกัน

ติดปากว่า “ซิมโพเซี่ยม” โดยหัวข้อหลักของงานปีนี้ นับว่าน่าสนใจยิ่ง เป็นธีมเรื่อง “มิติใหม่ของภาคการเงิน เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน” วันนี้จึงอยากเขียนถึงงานดังกล่าวเล็กน้อย

ที่มาที่ไปของการจัดงานในปีนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจาก การตั้งคำถามของผู้จัดงานว่า ช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยได้อาศัยระบบการเงินเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่การเติบโตที่ชะลอตัวอย่างชัดเจนในทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้เกิดคำถามว่า แท้จริงแล้วภาคการเงินไทยยังมีบทบาท สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน

คำถามนี้เอง ทำให้ต้องกลับมาทบทวนระบบการเงินอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นในเชิงมิติของประสิทธิภาพการจัดสรรทรัพยากร หรือเสถียรภาพและการบริหารความเสี่ยง รวมทั้งประเมินถึงอุปสรรคและข้อจำกัดที่กำลังหน่วงรั้งการยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทย เพื่อให้ภาคการเงินเป็นกลไกที่ผลักดันการเติบโตได้อย่างยั่งยืน

ผมมีโอกาสได้อ่านบทความฉบับย่อของหัวข้อย่อยต่างๆ ที่จะนำเสนอในงานปีนี้ ทุกบทความล้วนมีความน่าสนใจ เพียงแต่บทความที่อยากเขียนถึงเป็นพิเศษ คือ บทความเรื่อง “เศรษฐกิจจริงอิงการเงิน : โตไปใช่ว่าดี?” เขียนโดย “ดร.ภูริชัย รุ่งเจริญกิจกุล” และ “ดร.นครินทร์ อมเรศ”

บทความนี้ชี้ให้เห็นถึง การแข่งขันของสถาบันการเงินในต่างประเทศ ที่เน้นการปล่อยสินเชื่อผ่านกลยุทธ์ด้านราคาด้วยการ “หั่นดอกเบี้ย” ลง เพื่อรักษาฐานลูกค้าของตัวเองไว้ ทั้งยังขยายไปสู่ฐานลูกค้าใหม่เปิดโอกาสให้ลูกค้าที่มี “ความเสี่ยงสูง” ได้รับสินเชื่อและก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ จนกระทั่งเผชิญกับ “วิกฤตการเงินโลก” ในปี 2550-2551

ในบทความดังกล่าว ยังอ้างถึงสถานการณ์ในประเทศไทยด้วยว่า มีประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกัน โดยระหว่างปี 2554-2556 สินเชื่อเร่งขึ้นในอัตราเลข “สองหลัก” สาเหตุหนึ่งมาจากความต้องการสินเชื่อที่สูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ตลอดจนการเร่งซ่อมแซมความเสียหายจากมหาอุทกภัย รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ ผ่านโครงการรถยนต์คันแรก เป็นต้น

ผู้เขียนพยายามชี้ให้เห็นว่า สินเชื่อที่เร่งตัวสูงกว่าจีดีพีค่อนข้างมาก สะท้อนถึงการ “เติบโต” ใน “ภาคการเงิน” ที่มากกว่า “ภาคเศรษฐกิจจริง” และยังมากกว่าแนวโน้มในอดีต ซึ่งการเร่งตัวแบบนี้เคยเกิดขึ้นครั้งเดียวในประเทศไทย นั่นคือ ช่วงวิกฤตปี 2540

ผมมีโอกาสได้คุยกับ “ดร.นครินทร์” หนึ่งในผู้เขียนงานชิ้นนี้ เขาชี้ให้เห็นว่า ช่วงปี 2554-2555 สถาบันการเงินเริ่มแข่งขันในด้านราคากันมากขึ้น โดยหั่นดอกเบี้ยเงินกู้ลง ทำให้ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยกับดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 6 เดือนลดลงจาก 3.5% ในปี 2551 มาอยู่ที่ 3.5% ในปี 2555 ขณะที่สินเชื่อต่อจีดีพีเร่งขึ้นจาก 135% เป็น 170% ในช่วงเดียวกัน

ขณะเดียวกันยังพบว่า สถาบันการเงินยอมแบกความเสี่ยงในการปล่อยเงินกู้เพิ่มด้วย สถานการณ์จึงคล้ายกับสหรัฐช่วงก่อนวิกฤตซับไพร์มปี 2550

แต่ “ดร.นครินทร์” ย้ำว่า ความน่าเป็นห่วงของเรามีน้อยกว่า ส่วนหนึ่งเพราะที่ผ่านมา แบงก์ชาติ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก มีการติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด และใช้มาตรการกำกับดูแลผ่านระบบสถาบันการเงิน (Macro prudential) มาช่วย ที่สำคัญระบบสถาบันการเงินไทยยังมีความแข็งแกร่งมาก ดูได้จากสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่สูงลิ่ว

อันนี้เป็นเพียงน้ำจิ้มย่อยๆ เพราะความน่าสนใจยังมีอีกมาก ไม่เฉพาะแค่บทความนี้ ถ้าสนใจเชิญได้ที่งาน “ซิมโพเซี่ยม” ระหว่างวันที่ 16-17 ต.ค.นี้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ซิมโพเซี่ยม แบงก์ชาติ ปีนี้มีอะไร

view