จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
คนแบงก์รัฐยอมรับหนี้นอกระบบแก้ยาก โดยเฉพาะพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนไทย ด้าน ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ชี้รัฐแก้ที่ตัวบุคคล ไม่แก้ที่ระบบที่ต้นเหตุ ปล่อยทุนนิยมครอบงำจนใช้จ่ายเกินตัว แถมรัฐผุดนาโนไฟแนนซ์สู้ คิดดอกเบี้ย 36% ขณะที่นักวิชาการแนะต้องแก้ทั้งระบบ ทั้งการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ ค่านิยม วิถีชีวิต ที่อาจถูกนักการเมืองเข้ามาหาประโยชน์ รวมถึงปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตใหม่
ปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบนับเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ความสำคัญ นับตั้งแต่เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 เพียง 4 วันก็สามารถแก้ปัญหาให้กับชาวนาที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ค้างเงินจากโครงการรับ จำนำข้าวมากว่า 6 เดือนได้เมื่อ 26 พฤษภาคม 2557
เมื่อเริ่มจ่ายเงินให้กับชาวนา บรรดาเจ้าหนี้นอกระบบต่างเข้ามาทวงเงินกับชาวนา โดยทาง คสช.ออกมากำชับว่าการทวงหนี้ของเจ้าหนี้นั้นต้องถูกต้องตามกฎหมาย ต้องไม่ใช้กำลังประทุษร้าย ข่มขู่ ทำให้เกิดความหวาดกลัว หาก คสช.พบว่าเจ้าหนี้รายใดมีการกระทำหรือพฤติกรรมที่ขัดต่อคำสั่งดังกล่าว จะมีการดำเนินคดีกับเจ้าหนี้อย่างเด็ดขาด
จากนั้นทาง คสช.ให้ความสำคัญกับปัญหาหนี้นอกระบบโดยให้ธนาคารของรัฐเข้ามาร่วมแก้ปัญหา โดยมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นแกนหลัก และจัดทำโครงการแก้ไขหนี้นอกระบบของเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือน วงเงิน 10,000 ล้านบาท วงเงินนี้สามารถปรับเพิ่มได้หากมีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวนมาก โดยเริ่ม 1 กันยายน 2557 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2558
หนี้นอกระบบของผู้เข้าร่วมโครงการ จะต้องเป็นหนี้ที่มีเงินต้นและดอกเบี้ยรวมกันสุทธิหลังประนอมหนี้แล้วคง เหลือไม่เกิน 100,000 บาท และต้องเป็นหนี้ที่เกิดจากเหตุสุจริตจำเป็นและเป็นภาระหนัก รวมทั้งเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 กันยายน 2557 และมีเอกสารหลักฐานการเป็นหนี้จริง
อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปี กรณีที่ผู้กู้ไม่สามารถชำระคืนเงินกู้ที่ถึงกำหนดทั้งหมดหรือบางส่วน โดยไม่มีเหตุอันสมควรผ่อนผัน ธนาคารจะคิดเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 3 ต่อปี กำหนดระยะเวลาชำระหนี้คืนไม่เกิน 10 ปี กรณีพิเศษไม่เกิน 12 ปี โดยสามารถใช้อสังหาริมทรัพย์ เงินฝาก การค้ำประกันกลุ่ม และหรือบุคคลค้ำประกันได้ รวมทั้งผ่อนปรนให้ข้าราชการจากกระทรวงต่างๆ สามารถมาเป็นผู้ค้ำประกันได้จำนวน 1 คน
ขณะเดียวกัน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประชุม คสช. เห็นชอบแนวทางการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบตามที่เสนอมา แต่ต้องรอให้มีการพิจารณากันในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อีกครั้งหนึ่ง
แต่แล้วก็มาเกิดเหตุการณ์เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2557 จากการที่นางสังเวียน รักษาเพ็ชร์ อายุ 52 ปี เกษตรกรจากจังหวัดลพบุรี จุดไฟเผาตัวเอง หลังเดินทางมาที่ศูนย์บริการประชาชน เพื่อสอบถามความคืบหน้ากรณีร้องเรียนขอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แก้ไขปัญหาหนี้สินจากการทำการเกษตร
นับเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนใจเป็นอย่างยิ่ง
แม้ว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมาจะมีความพยายามแก้ปัญหาหนี้นอกระบบทั้งการ เจรจาทำข้อตกลงร่วมกับเจ้าหนี้ หรือให้การช่วยเหลือเงินทุนสำหรับการชำระหนี้ แต่ปัญหานี้ก็ยังไม่หมดสิ้นไป
หนี้นอกระบบแก้ยาก
ผู้บริหารธนาคารรัฐรายหนึ่งกล่าวว่า เรื่องหนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่แก้ยาก ทั้งหมดเกิดขึ้นจาก 3 องค์ประกอบคือ ขาดแคลนเงินทุนที่จะนำมาใช้แก้ปัญหา ลูกหนี้ขาดแคลนความรู้จนทำให้เกิดปัญหาต้องกู้เงินนอกระบบ และสุดท้ายคือพฤติกรรมของลูกหนี้ในการใช้ชีวิต หากเลือกเส้นทางที่ไม่ถูกต้องสุดท้ายก็ต้องเป็นหนี้ ซึ่งกรณีนี้เป็นเรื่องที่แก้ไขยากที่สุด ต่อให้มีเงินเข้าไปแก้ปัญหาหรือจะสอนงาน สอนอาชีพให้ สักพักหนึ่งก็เลิกแล้วกลับไปใช้วิถีชีวิตเหมือนเดิมกลับมากู้นอกระบบใหม่
สอดคล้องกับ รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มองว่าทุกรัฐบาลที่มุ่งเข้ามาแก้ปัญหาหนี้นอกระบบนั้น ยากที่จะทำสำเร็จ เนื่องจากเป็นการเข้าไปแก้ที่ตัวบุคคล ไม่ได้แก้ที่ตัวระบบ ไม่ได้เข้าไปศึกษาถึงสาเหตุที่แท้จริง
“เราไปมองแต่ตัวบุคคล มองแค่เรื่องแหล่งเงินกู้ ซึ่งจริงๆ แล้วแหล่งเงินกู้มีอยู่ไม่น้อย ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการขอกู้ เพียงแต่ผู้ต้องการกู้เข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้เหล่านั้น”
ขณะนี้รัฐบาลมีแนวคิดที่จะตั้งนาโน ไฟแนนซ์ เข้ามาช่วยแก้ปัญหา เปิดโอกาสให้คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 36 ซึ่งไม่แตกต่างกับการปล่อยสินเชื่อของภาคเอกชน ซึ่งคงต้องตามกันต่อไปว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่
ในความเป็นจริงแล้วหนี้มีต้นเหตุมาจากหลายด้าน อย่างหนี้ที่ควรเป็น เช่น การเจ็บไข้ได้ป่วย ต้องใช้เงินเพื่อการรักษาตัว หนี้ที่ไม่ควรเป็นหนี้ เช่น ซื้อมือถือหรือของฟุ่มเฟือยต่างๆ และหนี้เพื่อการลงทุน เช่น ทำนา ประกอบอาชีพ สร้างบ้าน หากรัฐไม่มองไปที่ตัวระบบที่ก่อให้เป็นหนี้แล้วจะแก้ไขยาก โดยเฉพาะตัวระบบที่กระตุ้นให้เกิดการบริโภคเกินตัว ทำให้คนไม่รู้จักประมาณตัวเอง
คนรุ่นใหม่ที่มีเวลาอยู่กับโทรทัศน์มากกว่าพ่อแม่ โฆษณาตามรายการโทรทัศน์ล้วนแล้วแต่กระตุ้นให้เกิดการบริโภค กลายเป็นว่ารายการเหล่านี้ทำหน้าที่อบรมและเชื้อเชิญให้ทดลองใช้สินค้า มากกว่าพ่อแม่
รัฐบาลมีนโยบายแก้ปัญหาที่ต้นเหตุได้หรือไม่ บริษัทที่ขายสินค้าต่างโฆษณาเพื่อกระตุ้นให้เกิดการบริโภค เพื่อให้ขายสินค้าได้มากที่สุด กำไรสูงสุด เมื่อดูโฆษณามากขึ้นก็ก่อให้เกิดความอยากได้สินค้า ถือว่าเป็นความไม่สมดุลของการให้ข้อมูล นี่คือระบบของทุนนิยม
หวั่นการเมืองแทรกจนเสียวินัย
ขณะที่นักวิชาการด้านการเงินอีกรายกล่าวว่า ทุกรัฐบาลที่มีนโยบายเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบนั้น ส่วนใหญ่เป็นการเข้ามาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น หาเงินก้อนใหม่เข้าไปแทนที่เงินก้อนเก่าที่เป็นหนี้ แต่ไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบอื่นที่ไม่เอื้ออีกหลายด้าน เริ่มตั้งแต่แหล่งเงินที่จะเข้ามาใช้แก้ปัญหาและตัวกลางที่จะเข้ามาแก้ปัญหา หากตัวกลางเป็นหน่วยงานที่รัฐตั้งขึ้นมาก็จะติดขัดในเรื่องผู้บริหารที่จะ เข้ามาทำหน้าที่ เนื่องจากหากปล่อยกู้ออกไปแล้วเกิดปัญหา ไม่สามารถติดตามทวงเงินกลับมาได้ ก็จะเกิดปัญหาทั้งในแง่ความรับผิดชอบของผู้บริหารที่เสี่ยงต่อการถูกดำเนิน คดี ทำให้นักการเงินหลายคนหลีกเลี่ยงที่จะเข้ามาบริหารงานในหน่วยงานเหล่านี้
หากเกิดภาระหนี้เสียเป็นจำนวนมาก สุดท้ายก็ต้องเพิ่มทุนเพื่อประคองให้หน่วยงานนี้อยู่รอดให้ได้ และถ้าไม่ไหวจริงๆ หน่วยงานนี้ก็ต้องปิดตัวลง ที่ผ่านมาธนาคารรัฐหลายแห่งก็ต้องเข้ามาทำตามนโยบายของรัฐบาล และบางแห่งก็อยู่ในสถานะที่ย่ำแย่ อย่างเช่น เอสเอ็มอีแบงก์และธนาคารอิสลาม
อีกด้านหนึ่งคือเรื่องของเงินที่จะนำมาใช้แก้ปัญหา หากเป็นการระดมทุน เช่น เงินฝากหรือออกพันธบัตร หุ้นกู้ ก็มีความสุ่มเสี่ยงต่อเจ้าของเงินว่าจะได้รับเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนตามที่ กำหนดไว้หรือไม่
หากทางหน่วยงานที่จะตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหานี้ ด้วยการป้องกันความเสี่ยงด้วยการกำหนดคุณสมบัติของผู้กู้เข้มเกินไปก็จะทำ ให้ยากต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนนี้ เช่น กำหนดวงเงินไว้ต่ำ ไม่เกิน 1 แสนบาท อาจจะช่วยผู้ที่เดือดร้อนจากหนี้นอกระบบได้เพียงไม่กี่ราย หรือเงื่อนไขว่าต้องเป็นหนี้ที่สุจริต หรือมีเอกสารการกู้เงิน ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วตรวจสอบยาก เพราะหนี้นอกระบบมักจะไม่มีการทำสัญญาไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
ส่วนขั้นตอนในการประนอมหนี้กับเจ้าหนี้นอกระบบก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ด้านหนึ่งเจ้าหนี้เหล่านี้มักจะไม่เปิดเผยตัว เนื่องจากเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย การเข้าไปเจรจาต้องใช้เจ้าหน้าที่รัฐและอาจไม่เป็นผลดีต่อตัวลูกหนี้ในอนาคต
ภายใต้หน่วยงานดังกล่าวยังมีข้อจำกัดในเรื่องการติดตามทวงหนี้ หากใช้มาตรการทางกฎหมายที่เข้มเกินไปก็จะมีการต่อต้าน เรียกร้องให้ผ่อนปรนหรือยอมลดดอกเบี้ยให้ ซึ่งมีมิติทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย คนที่เป็นรัฐบาลก็ไม่ต้องการให้เกิดภาพเช่นนี้ ยิ่งถ้าเป็นรัฐบาลในสถานการณ์ปกติอาจดำเนินการผ่อนปรนเพื่อหวังเรื่องคะแนน เสียงและคะแนนนิยมของพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาล
สุดท้ายหน่วยงานนี้คงดำเนินต่อไปได้ยาก
ควรแก้ที่ค่านิยมการใช้ชีวิต
การที่จะทำให้หนี้นอกระบบลดน้อยลงนั้น ต้องไปเริ่มที่ต้นเหตุคือพฤติกรรมการใช้จ่ายของคน หากเป็นกลุ่มที่สุจริต ต้องลงลึกถึงสาเหตุ เช่น เรื่องค่าครองชีพสูงขึ้นหรือไม่ รายได้ของพวกเขาลดลงหรือไม่ มีภาระการเจ็บไข้ได้ป่วยที่ต้องใช้เงินรักษาตัวหรือไม่ รัฐต้องดูแลในเรื่องค่าครองชีพและรายได้ของพวกเขาให้ได้โดยเฉพาะกลุ่ม เกษตรกรที่ราคาผลผลิตในขณะนี้ปรับลดลงเกือบทุกรายการ ยิ่งเจอเรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้น และไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบได้ ยิ่งเป็นแรงผลักให้พวกเขาต้องพึ่งหนี้นอกระบบ
ส่วนกลุ่มที่ก่อหนี้จากพฤติกรรมการใช้จ่ายเกินตัว เช่น กินเหล้า เล่นการพนัน ไม่ขยันทำมาหากิน ใช้จ่ายเกินตัว กลุ่มนี้แก้ยากแม้จะถูกบังคับให้อบรมเปลี่ยนนิสัยหรือเพิ่มทักษะด้านอาชีพ สุดท้ายก็จะกลับมาใช้ชีวิตเหมือนเดิม ตรงนี้ต้องไปแก้กันที่เรื่องค่านิยมและแนวทางการใช้ชีวิต ซึ่งต้องใช้เวลานาน
สถานการณ์ตอนนี้เป็นเรื่องยากเนื่องจากประเทศไทยถูกระบบทุนนิยมเข้า มาครอบงำเป็นเวลานาน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่อยากได้ อยากมีในของใช้ที่เกินความจำเป็น โดยไม่ประเมินความสามารถของตนเองและครอบครัว เพื่อนมีเราต้องมีเหมือนเพื่อนไม่อย่างนั้นอายเพื่อน หรือต้องมีสิ่งของที่ล้ำสมัยกว่าคนอื่น แพงกว่าคนอื่นเพื่อความมีหน้ามีตาในสังคม รวมไปถึงการส่งเสริมจากครอบครัว พ่อแม่ ที่พยายามดิ้นรนหาสิ่งของเหล่านั้นมาให้ลูกแม้ต้องยอมเป็นหนี้
“เราไม่เห็นการออกมารณรงค์ให้คนไทยยึดมั่นในหลักของความพอเพียงมาก นัก ไม่ลงลึกถึงเรื่องค่านิยมและการใช้จ่ายที่เกินตัว หรือความเลวร้ายของหนี้นอกระบบที่ผู้กู้ต้องเอาชีวิตเข้าไปเสี่ยง ไม่ควบคุมเรื่องโฆษณาที่กระตุ้นให้เกิดการบริโภคเกินตัว ไม่มีแหล่งเงินทุนที่ง่ายต่อการเข้าถึง”
ดังนั้นเรื่องหนี้นอกระบบจึงต้องคงอยู่คู่กับคนไทยตลอดไป
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน