สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เศรษฐกิจแบบชุมชนเข้มแข็ง แก้วิกฤติสังคมได้ดีกว่าระบบทุนนิยม

เศรษฐกิจแบบชุมชนเข้มแข็ง แก้วิกฤติสังคมได้ดีกว่าระบบทุนนิยม

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ในแง่ระบบนิเวศของโลก เศรษฐกิจแบบที่ชุมชนพึ่งพาตนเองได้เพิ่มขึ้นพึ่งพาสินค้าบริการจากเมืองอื่นและประเทศอื่นลดลง

กลุ่มหรือชนเผ่ายุคหาของป่าล่าสัตว์ ตั้งแต่ 5 ล้านปีที่แล้ว ถึง 1 หมื่นปีที่แล้ว เน้น ร่วมมือกันในกลุ่มเพื่อประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าแข่งขันกันเพื่อประโยชน์ส่วนตัว

แต่หลังจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจสังคมเปลี่ยนไป จากยุคเกษตรกรรม ศักดินา มาสู่ทุนนิยมอุตสาหกรรม ทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นเมือง, นครรัฐ, ประเทศใครประเทศมัน เกิดการแบ่งชนชั้นที่ต่างกัน เอารัดเอาเปรียบ เกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ทำให้มนุษย์ยุคหลังกลายเป็นคนเห็นแก่ตัว แก่งแย่งแข่งขันเพิ่มขึ้นกว่ายุคโบราณที่..เรียกว่า สังคมคอมมิวนิสต์แบบบุพกาล

บทเรียนจากบรรพชนยุคโบราณของเรา สะท้อนว่าถ้าเราเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจสังคมเสียใหม่ ฟื้นฟูการให้คนในชุมชนและประเทศเป็นเจ้าของทรัพยากรร่วมกัน ร่วมมือกันทำงาน แบ่งปันกันอย่างเป็นธรรมและอย่างมีประสิทธิภาพ สังคมแบบใหม่นี้จะปลูกฝังกล่อมเกลาให้มนุษย์เป็นคนดีเห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าส่วนตนได้

โรเบิร์ต พุตนัม นักรัฐศาสตร์ ได้วิจัยเปรียบเทียบลักษณะการพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคมที่แตกต่างกันระหว่างภาคเหนือและภาคใต้ของอิตาลี พบว่าทั้งๆ ที่คน 2 ภูมิภาคนี้ เป็นคนอิตาลีที่มีรหัสพันธุกรรมใกล้เคียงกัน แต่พวกเขากลับมีบุคลิกนิสัยและการพัฒนาที่แตกต่างกัน ภาคเหนือเศรษฐกิจเติบโตได้ดีและมีความเสมอภาคมากกว่า มีคนร่วมมือกันแบบสังคมประชา เช่น มีระบบสหกรณ์ สหภาพแรงงาน สมาคมวิชาชีพ สมาคมต่างๆ ที่เข้มแข็งกว่า ขณะที่ภาคใต้ เศรษฐกิจสังคมล้าหลังกว่า มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูง มีปัญหาความขัดแย้ง อาชญากรรมมากกว่า

เมื่อมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์พบว่า ภาคเหนือของอิตาลีมีชุมชนการค้าของผู้ประกอบการรายย่อยที่เข้มแข็ง ขณะที่ภาคใต้มีระบบกษัตริย์และเจ้าพ่อผู้อุปถัมภ์ที่เข้มแข็ง แต่ประชาชนอ่อนแอ เสียเปรียบ ถึงปัจจุบันทั้ง 2 ภาคของอิตาลีจะอยู่ภายใต้รัฐบาลเดียวกัน แต่สังคมประชาของ 2 ภาคยังคงแตกต่างกันอย่างค่อนข้างเห็นชัด ประเด็นที่นักวิชาการหยิบยกกรณีศึกษานี้มาอ้างคือ การที่คนในชุมชนไว้วางใจกันและกันสูงเป็นปัจจัยของการร่วมมือกันที่นำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าของสังคม

มนุษย์มีทั้งสัญชาติญาณในการแข่งขัน เพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนตัวระยะสั้น และการต้องการการร่วมมือเพื่อประโยชน์ร่วมกันในสังคม ประเด็นคือ เราจะสร้างสังคมแบบไหนที่จะสนับสนุนการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม และควบคุมลดทอนการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวในระยะสั้น เพราะแม้ว่าจะเป็นความจริงที่ว่าการร่วมมือกันเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมจะช่วยให้สมาชิกแต่ละคนได้รับผลประโยชน์ส่วนตัวในระยะยาวเพิ่มขึ้นกว่าการแข่งขันแบบตัวใครตัวมันมากไป แต่คนที่ถูกครอบงำโดยระบบทุนนิยมให้เน้นการแข่งขันหาเงินแบบตัวใครตัวมัน มองไม่เห็นไม่รู้ความจริงข้อนี้หรือบางคนรู้บ้าง แต่ไม่รู้ว่าจะก้าวไปทางนั้นได้อย่างไร

การฝากหวังให้กับรัฐบาลและระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี (ทุนนิยม) จัดระบบการแข่งขันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคิดว่าจะทำให้มนุษย์เห็นแก่ส่วนรวมมากขึ้น ไม่ประสบความสำเร็จ รัฐบาลกลับเป็นตัวปัญหามากกว่าทางออก โดยเฉพาะเรื่องรัฐบาลไปยึดอำนาจการเป็นเจ้าของทรัพยากรส่วนรวมจากชุมชนที่เคยร่วมมือช่วยเหลือกันและกันมาช้านาน และเรียกร้องให้ประชาชนเชื่อฟังรัฐแบบเชื่อฟังผู้มีอำนาจ โดยรัฐไม่ได้เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการบริหารจัดการ รู้สึกสำนึกถึงหน้าที่พลเมือง และมีความภาคภูมิใจในตนเอง

ในประเทศอังกฤษในยุคใหม่ ระบบเศรษฐกิจแบบผสม (ระหว่างทุนนิยมอุตสาหกรรมและรัฐสวัสดิการ) โดยบรรษัทขนาดใหญ่และหน่วยงานจากรัฐบาลกลางได้เข้าไปแทนที่สถาบันชุมชนหลายพันแห่งที่เคยทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ สมาคมช่วยเหลือกันและกัน, กองทุนเพื่อการรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน (Reciprocity) ของคนในชุมชน ที่สร้างความไว้วางใจและวัฏจักรของการร่วมมือกันเพื่อส่วนรวมมาช้านาน ในช่วงแรกๆ รัฐบาลอังกฤษบริหารจัดการแนวรัฐสวัสดิการได้ผลดีขึ้น เพราะรัฐบาลมีงบประมาณจากการเก็บภาษีได้มาก แต่ในช่วงต่อๆ มาระบบสวัสดิการจากรัฐบาลที่บริหารจัดการโดยเจ้าหน้าที่รัฐจากส่วนกลางกลับทำลายความรู้สึกเป็นเจ้าของ, ความภูมิใจในตัวเองของประชาชน ประชาชนหาช่องทางที่จะหาประโยชน์จากหน่วยงานสวัสดิการของรัฐให้ได้มากที่สุด คนที่ได้รัฐสวัสดิการไปก็ไม่รู้สึกว่าตนได้รับสิทธิของตนอย่างเป็นธรรม คนที่ได้ไม่พอเพียงหรือมีปัญหาก็ไม่พอใจรัฐบาล

ระบบรัฐสวัสดิการจากรัฐบาลกลางกลายเป็นระบบการบริหารทรัพยากรที่สิ้นเปลือง ขาดประสิทธิภาพ และไม่ได้ทำให้มนุษย์มีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมเพิ่มขึ้น ในขณะที่ระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมโดยบรรษัทขนาดใหญ่ก็ทำลายเศรษฐกิจแบบแลกเปลี่ยน กันในชุมชนขนาดเล็ก ให้เป็นระบบเศรษฐกิจที่ขึ้นอยู่กับธนาคารและบรรษัทจากเมืองหลวงเพิ่มขึ้น มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูง การว่างงาน ความรุนแรง อาชญากรรม และปัญหาสังคมต่างๆ ในชุมชนเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับยุคก่อนหน้านั้น ชุมชนในยุคทุนนิยมอุตสาหกรรมมีความเติบโตทางวัตถุเพิ่มขึ้น แต่มีความเสื่อมโทรมทางสังคมวัฒนธรรมเพิ่มขึ้น

ระบบเศรษฐกิจการเมืองที่จะส่งเสริมให้ประชาชนร่วมมือกันแบบเห็นแก่ส่วนรวมมากขึ้น น่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบกระจายอำนาจและทรัพยากรไปสู่ชุมชนขนาดเล็ก ส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจภายในชุมชน ทั้งผู้ผลิตขนาดย่อมและระบบสหกรณ์ มากกว่าการรวมศูนย์อำนาจที่รัฐบาลและบรรษัทขนาดใหญ่

ในชุมชนขนาดเล็ก คนจะรู้จักกัน รู้สึกเป็นมิตร ไว้วางใจกัน ตั้งใจทำดี หลีกเลี่ยงการเห็นแก่ตัวได้มากกว่าชุมชนใหญ่ที่ไม่มีใครรู้จักหรือสนใจใคร ในเมืองใหญ่คนทำความผิดหรือเห็นแก่ตัวได้ง่ายเพราะเขารู้สึกว่าไม่มีใครรู้จักหรือจำเขาได้ แต่ในชุมชนขนาดเล็กมีการเห็นกันได้ง่ายและรู้จักกันว่าใครเป็นใคร คนในชุมชนจึงดูแลกันและกันได้ดีกว่า ในชุมชนขนาดเล็ก เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องทำงานเอาใจคนในชุมชน เพราะเขาต้องอยู่ในชุมชนนั้นตลอดและคนในชุมชนจับตาดูเขาได้ง่าย การทำธุรกิจค้าขายกันโดยผู้ผลิต ผู้ประกอบการขนาดย่อม ในชุมชนเองยังมีความเป็นมิตร และความรู้สึกว่าคนเราจะต้องอยู่ร่วมกันนาน การคิดเอาเปรียบผู้บริโภคจะทำได้ยาก หรือไม่น่าที่จะทำ ขณะที่ธุรกิจจากบริษัทขนาดใหญ่ที่มาจากเมืองอื่น จะมุ่งกำไรสูงสุด มากกว่าจะสนใจคุณภาพชีวิตหรือความรู้สึกของคนในชุมชน

ในแง่เศรษฐกิจ ชุมชนขนาดเล็กที่มีนโยบายจัดการงบประมาณทรัพยากรได้เอง จะจ้างงานคนได้ทั่วถึง เป็นธรรมกว่า สาขาของบริษัทขนาดใหญ่ที่พยายามลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้จ่ายค่าจ้างเพื่อส่งกำไรไปที่บริษัทใหญ่

ในแง่ระบบนิเวศของโลก เศรษฐกิจแบบที่ชุมชนพึ่งพาตนเองได้เพิ่มขึ้น พึ่งพาสินค้าบริการจากเมืองอื่นและประเทศอื่นลดลง จะเป็นการลดการขนส่ง การเดินทาง ลดการใช้ทรัพยากรและพลังงานได้ทั่วทั้งโลก ซึ่งมีผลดีต่อทั้งระบบนิเวศ ระบบสุขภาพ ทั้งเป็นการประหยัดการใช้ทรัพยากร ลดอุบัติเหตุจากขนส่งและการเดินทางลงด้วย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เศรษฐกิจแบบชุมชนเข้มแข็ง แก้วิกฤติสังคม ดีกว่า ระบบทุนนิยม

view