จากประชาชาติธุรกิจ
สัมภาษณ์พิเศษ
เห็น ชื่อ เห็นตัว เห็นตน 36 อรหันต์ ประกอบเป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญครบถ้วนแล้ว จากนี้ไปการเมืองไทยเข้าสู่โหมดยกร่างกฎหมายแม่อย่างเป็นทางการ "ประชาชาติธุรกิจ" สนทนากับ "ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล" รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญกฎหมายมหาชน
"ดร.ปริญญา" สะท้อนบทเรียนในอดีตว่า สิ่งไหนคือจุดบกพร่องของรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 จนทำให้การเมืองเข้าสู่ทางตัน พร้อมเสนอทางแก้ไว้อย่างครบถ้วน ติดตามได้ในบรรทัดจากนี้ไป
- ทำไมไทยจึงกลายเป็นประเทศที่มีรัฐธรรมนูญมากที่สุดในโลก
ก่อน อื่นต้องทราบว่า ประเทศที่ประสบความสำเร็จกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยปัจจุบันนี้ ได้แก่ ประเทศในยุโรปตะวันตก อเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ล้วนแต่เคยล้มเหลวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และเคยฆ่ากัน หรือถึงขนาดเกิดสงครามกลางเมือง มาแล้วทุกประเทศ
แต่ข้อที่น่าคิดคือ ของฝรั่งเขาผ่านความล้มเหลวมาสู่ประชาธิปไตยที่เข้มแข็งได้อย่างไร ข้อนี้สำคัญมาก รัฐธรรมนูญมันไม่ใช่ของวิเศษที่จะดลบันดาลให้เกิดการปฏิรูปประเทศไทยได้โดย อัตโนมัติ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด และกฎหมายมันคือตัวหนังสือ กฎหมายมีสภาพบังคับต่อเมื่อคนในสังคมปฏิบัติตาม รัฐธรรมนูญไทยต่อให้เขียนวิเศษเพียงใด แต่ถ้าเกิดเราไม่ปฏิบัติตาม ชะตากรรมของรัฐธรรมนูญใหม่ ยากจะพูดได้ว่ามันจะแตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่าน ๆ มา ถ้าเรายังทำกันแบบเดิม คือไม่เคารพกติกา ไม่ทำตามกติกา พอมีปัญหามาก ๆ ก็เลิกกติกาเลย แล้วก็มาเริ่มต้นกันใหม่ โดยหวังว่ากติกาที่ออกใหม่มันจะแก้ปัญหาได้ ต่อให้กติกาใหม่วิเศษแค่ไหน ปัญหาก็ยากที่จะแก้ไขได้ ถ้าเราไม่ทำตามกติกา
ฝรั่งที่เขาประสบความ สำเร็จกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเพราะเขาทำเรื่องนี้สำเร็จ แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเกิดขึ้นมาเองโดยความเป็นฝรั่ง แต่เป็นสิ่งที่มาสร้างทีหลังทั้งสิ้นด้วยการศึกษา พลเมืองดีในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่เรื่องทำตามรัฐบาลสั่งจึงเป็นพลเมืองดี เพราะพลเมืองดีในระบอบประชาธิปไตยเห็นต่างจากรัฐบาลได้ แต่แสดงออกอย่างเคารพกติกา เรื่องนี้เขาเรียกว่า Civic Education เป็นการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง อาจแตกต่างไปบ้างจากหน้าที่พลเมือง 12 ประการ อย่างที่ คสช.เข้าใจ เพราะพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยนั้นคือคนที่คิดเป็น ไม่ใช่คิดเองไม่เป็น ต้องสั่งให้ทำอย่างเดียว ถ้าหากไม่มีพลเมืองที่เคารพกติกา และใช้สิทธิเสรีภาพโดยมีความรับผิดชอบ ต่อให้อาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และกรรมาธิการจะเขียนรัฐธรรมนูญจนวิเศษเลอเลิศเพียงใด แต่คนก็จะไม่ทำตามกติกา การเมืองก็คงแย่อีก และก็นำมาสู่การฉีกรัฐธรรมนูญอีกในอนาคตได้
- บทเรียนจาก 40 และ 50 อยู่ที่คนไม่ปฏิบัติตามกติกา
ผม ว่ามันทั้งเป็นปัญหาทั้งคนและระบบครับ แม้รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 มีข้อที่เป็นจุดอ่อนและมีปัญหา แต่เราก็จะไม่มาถึงจุดนี้ ถ้าหากเราว่ากันตามกติกา อย่างปี 2540 คุณทักษิณ ชินวัตร หาช่องทางในการได้ประโยชน์จากช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็มีช่องว่างอยู่จริง แต่จะไม่ร้ายแรงขนาดเป็นปัญหา ถ้าหากไม่พยายามหาช่องว่างขนาดนั้น ในทางกลับกัน ถ้าหากรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ไม่มีปัญหา เป็นรัฐธรรมนูญที่สร้างอย่างสมบูรณ์แบบมากกว่านี้ ต่อให้คนมีปัญหาแค่ไหน เราก็อาจจะไม่ล้มเหลวแบบนี้ ดังนั้นมันทั้ง 2 อย่างไม่สรุปว่าอันไหนสำคัญกว่ากัน แต่สำคัญด้วยกันทั้งคู่
อย่างไร ก็ตาม ในการทำให้รัฐธรรมนูญไทยจากนี้ไปไม่ถูกยกเลิกอีก และกลับสู่ประชาธิปไตยในคราวนี้ ประเทศไทยจะประสบความสำเร็จกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเสียที (เน้นเสียง) ด้านหนึ่งคนก็ต้องเป็นพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการก็ต้องจริงจังจากนี้ไป จะเรียนหน้าที่พลเรือนแบบท่องจำ และบอกเด็กให้ปฏิบัติตามสิ่งที่รัฐบาลบอก นักเรียนมีหน้าที่ต้องเชื่อฟังและทำตามสถานเดียว มันพ้นยุคสมัยไปแล้วครับ เพราะเด็กยุคสมัยนี้เขาเติบโตขึ้นมากับเฟซบุ๊ก เห็นความแตกต่างทางความคิดมาตลอดชีวิตที่เขาเติบโตขึ้นมา กระทรวงศึกษาธิการต้องเข้าใจความข้อนี้ด้วย เพราะพลังในสังคมคือพลังความคิดและความเข้มแข็งของทั้งประเทศ
ส่วนใน เรื่องของระบบ ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญ 2540 กับ 2550 มีบทเรียนเพื่อจะแก้ปัญหาไม่ให้เกิดอีก อยากให้ดูเหตุการณ์ก่อนที่จะนำมาสู่การยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557 การยึดอำนาจจะไม่เกิด ถ้าเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่งสุดซอย ที่ขยายการนิรโทษกรรมจนกว้างมาก มีเจตนาให้คุณทักษิณได้ประโยชน์ด้วย นี่คือการทำลายตัวเองของเสียงข้างมาก การต่อต้านก็เลยจุดติด
ถ้าไปถาม ส.ส.พรรครัฐบาล และพรรคร่วมรัฐบาลที่ยกมือให้ผ่านร่างนิรโทษกรรมสุดซอย ปรากฏว่า ส.ส.จำนวนมาก และเชื่อว่าอาจเกินครึ่งไม่เห็นด้วย คำถามคือไม่เห็นด้วย แล้วทำไมยกมือให้ผ่าน ก็เพราะมติพรรค นั่นแปลว่า ส.ส.ซึ่งเป็นผู้แทนของปวงชน พรรคสั่งอะไรก็ต้องทำตาม ทั้งที่ตัวเองไม่เห็นด้วย ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าคนจำนวนมากจะต่อต้าน แปลว่าถ้าใครเป็นเจ้าของพรรคที่มีเสียงข้างมาก ก็สามารถครอบงำผู้แทนปวงชนและควบคุมประเทศไทยได้
ประเทศไทย ตัวระบบการเมืองมีจุดอ่อนในตัวมันเองอยู่แล้ว ระบบของเราเป็นระบบรัฐสภา ซึ่งมีปัญหาเรื่องการแบ่งแยกอำนาจระหว่างฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ เนื่องจากฝ่ายบริหารไม่ได้มาจากประชาชนเลือกโดยตรง แต่มาจากเสียงข้างมากของฝ่ายนิติบัญญัติ แปลว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ จะต้องมีเสียงข้างมากในสภา และดังนั้นจึงแปลว่า นายกฯ มีเสียงข้างมากในสภา และดังนั้นฝ่ายบริหารสามารถครอบงำฝ่ายนิติบัญญัติได้ ก็เหลือแต่ฝ่ายค้านมาคอยถ่วงดุล แต่จะถ่วงดุลอย่างไร เพราะยกมือทีไรก็แพ้ นี่คือสิ่งที่เป็นจุดอ่อนอยู่แล้ว แล้วเราต้องเข้าใจว่าประเทศทั้งหลายที่ใช้ระบบรัฐสภา หรือเคยใช้ระบบรัฐสภา ล้วนแต่เคยประสบ ปัญหาเหล่านี้ทั้งสิ้น ซึ่งจะมีสองอย่าง หนึ่ง ถ้าครอบงำได้เบ็ดเสร็จก็จะกลายเป็นเผด็จการโดยเสียงข้างมากไปเลย หรือสอง เนื่องจากไม่มีพรรคการเมืองใดที่คะแนนเสียงเกินครึ่ง รัฐบาลจัดตั้งไม่สำเร็จโดยพรรคการเมืองพรรคเดียว ต้องชวนพรรคอื่นมาร่วมรัฐบาลเพื่อให้ได้เสียงเกินครึ่ง จึงต้องชวนด้วยตำแหน่งรัฐมนตรี เลยกลายเป็นระบบโควตาเก้าอี้รัฐมนตรี
พอให้ไปแล้วก็ไปยุ่งอะไรมากไม่ได้ เพราะถ้าพรรคร่วมถอนตัว รัฐบาลก็ล้มเลย จึงกลายเป็นรัฐบาลที่ไม่มีประสิทธิภาพ
ประเทศ ไทย ประสบปัญหามาแล้วทั้ง 2 แบบครับ สมัยที่รัฐบาลเข้มแข็งมากคือสมัยคุณทักษิณ คุมสภาอย่างเบ็ดเสร็จ ส่วนสมัยรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เป็นรัฐบาลที่อ่อนแอ ทั้งสองอย่างมันแย่ทั้งคู่นี่คือข่าวร้าย แต่ข่าวดีคือ จุดอ่อนตรงนี้เขาหาวิธีแก้สำเร็จแล้ว ประเทศที่แก้สำเร็จเป็นประเทศแรกคือ ประเทศเยอรมนี ที่มีฮิตเลอร์มาจากการเลือกตั้ง เยอรมนีตะวันตกเมื่อตั้งประเทศขึ้นมาอีกครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาต้องการใช้ระบบรัฐสภาต่อไป เขาก็มาหาว่าอะไรคือเครื่องมือของฮิตเลอร์ในการครอบงำ ส.ส.ก็พบว่าเครื่องมือของฮิตเลอร์ก็คือพรรคการเมือง ฮิตเลอร์ใช้พรรคนาซีครอบงำ ประเทศเยอรมนีเลยแก้ปัญหาที่สาเหตุ 3 ข้อ
หนึ่ง ส.ส.ควรสังกัดพรรคการเมือง แต่ไม่บังคับ ส.ส.ให้ต้องสังกัดพรรค การบังคับให้ ส.ส.สังกัดพรรค ทำให้ ส.ส.ไม่ ทำหน้าที่ผู้แทนปวงชน แต่มาทำหน้าที่ผู้แทนพรรคการเมือง สอง ประกันเสรีภาพการทำหน้าที่ผู้แทนปวงชน ถ้าเป็นการทำหน้าที่ของผู้แทนปวงชนแล้ว พรรคการเมืองจะมาสั่ง ส.ส.ไม่ได้ และสาม สร้างหลักประชาธิปไตยภายในพรรคการเมือง ไม่ใช่ใครเป็นเจ้าของพรรคแล้วมาสั่ง ส.ส.ให้ยกมืออย่างนี้ไม่ได้ แล้วเขาก็แก้ปัญหาสำเร็จของไทยนั้นแต่เดิม อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ก็ ทราบว่า จุดอ่อนของระบบรัฐสภาคืออะไร รัฐธรรมนูญฉบับ 2475 และ 2489 จึงไม่บังคับให้ ส.ส.สังกัดพรรค แล้วประกันเสรีภาพในการทำหน้าที่ผู้แทนปวงชนเอาไว้ จนกระทั่งรัฐธรรมนูญ 2517 เป็นฉบับแรกที่บังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค แล้วตัดหลักประกันเสรีภาพในการทำหน้าที่ผู้แทนปวงชนทิ้งไป นั่นคือจุดเริ่มต้นของปัญหา
จาก 2517 เป็นต้นมา รัฐธรรมนูญทุกฉบับก็เดินตามนี้ทั้งหมด แล้วรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งมีเจตนารมณ์ที่จะปฏิรูปการเมือง แต่ได้ทำในสิ่งซึ่ง (นิ่งคิด) ... ผมเข้าใจว่าอาจารย์บวรศักดิ์ซึ่งเป็นคนร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ด้วย ท่านเข้าใจเรื่องนี้นะครับ คือปี 2540 นอกจากจะไม่เลิกบังคับสังกัดพรรคแล้ว ยังเพิ่มการสังกัดพรรคให้กลายเป็น 90 วัน ปัญหาคือถ้าจะสมัคร ส.ส. ต้องสังกัดพรรคอย่างน้อย 90 วัน ถ้าหากมีการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้นโดยเหตุครบวาระ รัฐธรรมนูญบอกว่าต้องเลือกตั้งใหม่ภายใน 45 วัน ดังนั้น ส.ส.จึงสมัครพรรคใหม่ไม่ทัน ต้องสมัครในพรรคเดิม หรือถ้ามีเหตุยุบสภา ต้องเลือกตั้งภายใน 60 วัน แต่สังกัดพรรคใหม่ไม่ทัน ก็ต้องลงสมัครในพรรคเดิมเช่นกัน
เมื่อต้องสมัครในพรรคเดิม ส.ส.ก็ต้องจงรักภักดีต่อพรรค เลยทำให้ ส.ส.ยิ่งตกอยู่ใต้อำนาจของพรรคการเมืองหนักเข้าไปอีก รัฐธรรมนูญ 2540 เลยทำให้ระบบรัฐสภาของประเทศไทยกลับหัวกลับหาง เพราะระบบรัฐสภาให้ ส.ส.เลือกนายกฯแทนประชาชน ประชาชนเลือกนายกฯทางอ้อมโดยผ่าน ส.ส. แต่ประเทศไทยโดยรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่ใช่ ส.ส.เลือกนายกฯ แต่กลายเป็นนายกฯ เลือก ส.ส.ตั้งแต่ตอนส่งลงสมัคร ว่าง่ายๆ เสียงข้างมากที่มานั่งในสภาและมาเลือกผม ผมเป็นคนเลือกมาเองครับ รัฐธรรมนูญ 2540 ที่หวังจะปฏิรูปการเมืองมันเลยหนักเข้าไปอีก การถ่วงดุลระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารก็เดี้ยงไปเลย และรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ได้สร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นมา คือ องค์กรอิสระ ก็คงเห็นว่ายกมืออย่างไรฝ่ายค้านก็แพ้อยู่แล้ว ดังนั้นก็ปล่อยไปเลย สร้างรัฐบาลเข้มแข็งควบคุม ส.ส.ได้มากขึ้นไปเลย
แล้วไปสร้างองค์กร อิสระมาถ่วงดุลรัฐบาล แต่คำถามคือองค์กรอิสระมันล้มเหลวได้อย่างไร เพราะตอนนั้นคนเลือกองค์กรอิสระคือวุฒิสภา โดยมีกรรมการสรรหาต้องเสนอบุคคลมาสองเท่า ให้วุฒิสภาเลือกครึ่งหนึ่ง แต่กรรมการสรรหาที่ตัดสินว่าใครจะได้คัดเลือกบ้าง ทีนี้รัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดให้มติของกรรมการสรรหาคือ 3 ใน 4 ปัญหาคือในกรรมการสรรหาทุกชุดจะมีผู้แทนพรรคการเมืองเกิน 1 ใน 4 ครับ อย่างเช่น กรรมการสรรหา ป.ป.ช. มี 15 คน มติ 3 ใน 4 คือ 12 เสียง ปรากฏว่าใน 15 คน เป็นตัวแทนของพรรคการเมือง 5 คน โดยมาจากพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ในสภาเลือกกันให้เหลือ 5 คน ในปี 2544 มีพรรคการเมืองที่ได้รับ ส.ส.ทั้งหมด 9 พรรค คุณทักษิณตั้งรัฐบาลผสม 5 พรรค คำถามคือนั่งล้อมวงกัน 9 คน โดยมี 5 คนเป็นพวกเดียวกัน แล้วให้เลือก 5 คน ใครจะได้ละครับ
ผู้แทนพรรคการเมือง คุณทักษิณก็เลยคุมได้หมดเลย ทีนี้มติมันต้อง 12 เสียง 10 คนที่เหลือก็เลยทำอะไรไม่ได้ ถ้า 5 คนนี้ไม่เอา สุดท้าย 5 คนนี้กลายเป็นคนเลือกองค์กรอิสระ สภาพปัญหาแบบนี้เกิดทั้งกับ ป.ป.ช. และ กกต.ทำให้การเมืองไทยมาถึงจุดตัน เป็นจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญปี 2540
แล้วรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ไม่ได้แก้ที่สาเหตุ เพราะยังบังคับให้ ส.ส.สังกัดพรรคต่อไป เพียงแต่ปลดล็อกหน่อยหนึ่งว่า กรณียุบสภา ส.ส.สังกัดพรรค 90 วัน ให้เหลือ 30 วันนับจากวันเลือกตั้งก็พอ เท่ากับว่าเมื่อยุบสภาต้องเลือกตั้งภายใน 60 วัน แต่ไม่สั้นกว่า 45 วัน ก็แปลว่ามีเวลาเหลืออีก 15 วัน ในการตัดสินใจ แต่ก็ยังให้ ส.ส.สังกัดพรรคอยู่ดี
ส่วนองค์กรอิสระ ส.ส.ร. 2550 ก็คิดกันต่อว่า ถ้าต้องการคนที่เป็นกลาง คนดี ไม่ฝักใฝ่ทางการเมือง ก็ต้องตัดพรรคการเมืองออกไป ไม่ให้มาสรรหา แล้วใครละครับที่เป็นคนดี ที่เป็นกลางของ ส.ส.ร. 2550 ก็ศาลไง เลยไปลากเอาศาลมาเป็นกรรมการสรรหาองค์กรอิสระ โดยมีสัดส่วนเกินครึ่งของคณะกรรมการสรรหาทุกชุด และนี่คือข้อเสียของรัฐธรรมนูญ 2550 เราไปไกลถึงขนาดให้กรรมการตัดสินฟุตบอลมาเลือกนักฟุตบอล แล้วปัญหาก็เป็นอย่างที่เห็น
- แล้วรัฐธรรมนูญ 2558 ควรร่างอย่างไรที่จะไม่ทำให้เกิดปัญหาซ้ำอีก
เรา ไม่ควรบังคับ ส.ส.ให้สังกัดพรรค ข้อนี้ต้องแก้ไขเป็นเรื่องแรก เพราะเราเห็นแบบอย่างตอน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม น่าจะเป็นบทเรียนในเรื่องนี้ได้แล้ว ถ้าคิดแบบเดิมว่า ส.ส.ถ้าไม่สังกัดพรรค จะขายตัว ไม่มีวินัย ขอให้ประเมินว่า เราบังคับให้ ส.ส.สังกัดพรรคตั้งแต่ปี 2517 จนบัดนี้เป็นเวลา 40 ปี มันได้แก้ปัญหาได้หรือเปล่า เพราะการซื้อตัว ส.ส. เปลี่ยนจากการซื้อหลังเป็น ส.ส. มาซื้อก่อนเป็น ส.ส. ด้วยการดูด ส.ส.เก่าเข้าพรรค
ผมหวังว่าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ท่านจะเห็นปัญหาข้อนี้ และแก้ตรงนี้ อย่างที่ระบบรัฐสภาทั่วโลกเขาแก้ไขกัน ทำให้สภาถ่วงดุลฝ่ายบริหารได้ โดยไม่ให้ ส.ส.สังกัดพรรค แล้วมาสร้างเงื่อนไขให้ ส.ส.ควรสังกัดพรรค ไม่ใช่ไปบังคับ เยอรมนีไม่เคยมี ส.ส.อิสระชนะเลือกตั้งเลย ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะประชาชนเขานิยมเลือกผู้สมัคร ส.ส.สังกัดพรรคมากกว่า เพราะมันเท่ากับเลือกนายกฯ และเลือกนโยบายไปในตัว แต่ถ้าเลือก ส.ส.อิสระ มันได้แค่ ส.ส. เป้า หมายที่แท้จริงของการไม่บังคับให้ ส.ส.สังกัดพรรค ไม่ใช่ส่งเสริมให้มี ส.ส.อิสระ แต่มันคือการส่งเสริมให้ ส.ส. เป็นอิสระจากรัฐบาลต่างหาก เมื่อผลประโยชน์ของปวงชนสวนทางกับผลประโยชน์ของรัฐบาล ส.ส.ของเราต้องเลือกประโยชน์ของปวงชน ไม่ใช่เลือกผลประโยชน์ของพรรค หรือเจ้าของพรรคการเมืองเหมือนเช่นที่ผ่านมา
- รธน.ชั่วคราวให้มีกลไก เช่นให้แก้ไขรัฐธรรมนูญยากขึ้น ห้ามนักการเมืองทุจริตกลับเข้าสู่อำนาจ จะแก้ปัญหาได้หรือไม่
การ เปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์ มันเปลี่ยนได้ 2-3 วิธี หนึ่ง ห้าม สอง ขอร้องหรือจูงใจ สาม ดูว่าพฤติกรรมนั้นเกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมแบบไหนก็ไปแก้ตรงนั้น วิธีการที่ได้ผลมากที่สุดคือวิธีที่ 3 ถ้าเราออกแบบระบบที่มีการตรวจสอบถ่วงดุลขึ้นมา ก็ทำให้ใช้อำนาจโดยมิชอบทำได้ยากขึ้น และเราต้องทำให้ภาคประชาชนมาใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญมาถ่วงดุลการใช้อำนาจ นักการเมืองให้มากขึ้น ส.ส.หรือรัฐมนตรีที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบต้องเป็นผู้เสียหาย ที่ประชาชนฟ้องร้องได้ เรามีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่แล้ว ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ก็มีฐานความผิดอยู่แล้ว ขอบเขตอำนาจศาลก็มีอยู่ ลองให้ประชาชนฟ้องได้ อาจจะดีกว่า ป.ป.ช.เสียอีกที่สมาชิกสภาปฏิรูป แห่งชาติบางคนพูดว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องกำจัดระบอบทักษิณไม่ให้กลับมา จึงต้องเพิ่มกติกาขึ้นมาโดยตัดสิทธิทางการเมือง ผมเห็นด้วยกับการมีบทลงโทษ และคนที่ถึงขนาดถูกศาลพิพากษาแล้วก็น่าจะถูกตัดออกไป แต่มีข้อสังเกตว่า อย่างใบแดง หรือตัดสิทธิ 5 ปี มันได้ผลแค่ไหน เพราะเขาส่งนอมินีมาลงแทน ผมเห็นด้วยว่าถ้าใครถูกศาลพิพากษาแล้วไม่ควรลงเล่นการเมืองอีก และคอร์รัปชั่นไม่ควรมีอายุความ แต่ต้องไม่ลืมผลที่ตามมาว่า การตัดสิทธิอย่างเดียว ปัญหามันไม่จบ
ท้าฉบับใหม่อย่าเกิน 1 หมื่นคำ
ดร.ปริญญา ให้แง่คิดว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ควรเขียนจนหนา แต่ควรทำให้บางลง "ถามว่าทำไมฟุตบอลแข่งกันได้...ก็เพราะมีกติกา คำถามข้อต่อไปคือ ทำไมกรรมการถึงต้องตัดสินตามกติกา ทำไมกรรมการไม่กล้าตัดสินให้ผิดไปจากกติกา ก็เพราะถ้ากรรมการตัดสินไม่ตรงตามกติกา คนดูจะรู้ทันที แปลว่าฟุตบอลถูกควบคุมโดยคนดู คนดูเป็นคนคุมกรรมการอีกที สภาพบังคับที่เกิด ขึ้นเช่นนี้ เพราะคนดูรู้กติกา"
"ถามต่อว่าทำไมคนดูถึงรู้กติกา เพราะกติกาฟุตบอลมันง่าย ไม่ซับซ้อน ประชาธิปไตยก็แบบเดียวกัน กติกาที่หนา ซับซ้อนเกินไป มันจะเกิดการปกครองโดยประชาชนได้อย่างไร ความหนาของรัฐธรรมนูญก่อนหน้าปี 2540 รัฐธรรมนูญไทยมีความหนาโดยเฉลี่ยเพียงแค่ 15,000 คำ เท่ากับค่าเฉลี่ยของรัฐธรรมนูญทั่วโลก แต่พอรัฐธรรมนูญปี 2540 ด้วยการสร้างองค์กรอิสระขึ้นมามากมาย จาก 15,000 คำ ก็กระโดดไป 38,000 คำ แต่พอปี 2550 ทั้งที่มีมาตราน้อยกว่ารัฐธรรมนูญ 2540 แต่คำมันกลับเพิ่มขึ้น กลายเป็น 45,000 คำ รัฐธรรมนูญหนาขึ้นไปอีก ยิ่งหนาคนยิ่งไม่รู้ นี่แปลว่าที่ผ่านมา เราแข่งบอล ดูบอลกันแบบไม่รู้กติกากัน"
"แล้ว ปี 2558 จะมีกี่หมื่นคำ ถ้าไม่พูดเรื่องนี้กันไว้ก่อน ผมว่าเป็นไปได้ว่าจะทะลุไป 5-6 หมื่นคำ คืออันไหนเป็นช่องโหว่ก็อุดมันเข้าไป แล้วมันก็ยิ่งหนา ยิ่งใช้บังคับไม่ได้ จึงขอเสนอต่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า รัฐธรรมนูญที่ดีไม่ใช่แค่ดีโดยตัวเนื้อหา รัฐธรรมนูญที่ดีต้องใช้บังคับได้ ประชาชนต้องรู้รัฐธรรมนูญ ผมจึงอยากเสนอแบบท้าทาย ให้ลองร่างรัฐธรรมนูญที่หนาไม่เกิน 10,000 คำเพราะต่อให้ดีแค่ไหน แต่ในเมื่อคนไม่รู้ มันก็ใช้บังคับไม่ได้ เราสู้ให้มันน้อยลงแล้วใช้บังคับได้ดีกว่า มันคือเป้าหมายของรัฐธรรมนูญ คนก็ต้องรู้กติกา ไม่ถูกยกเลิก ล้มเหลว เหมือนที่ผ่านมาครับ"
"พฤติกรรม มนุษย์มันเกิดจากสภาพแวดล้อม สภาพแวดล้อมแบบเดิมย่อมก่อให้เกิดพฤติกรรมแบบเดิม จะไปเขียนให้เขาเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างไร ดังนั้นต้องเปลี่ยนสภาพแวดล้อม ตัวอย่างง่าย ๆ เอาเค้กชิ้นหนึ่งให้คนสองคนแบ่งกัน ให้นาย ก.เป็นคนแบ่งให้นาย ข.เท่า ๆ กัน วิธีที่เราทำกันคือบอกนาย ก.ว่า จงมีคุณธรรม ซื่อสัตย์สุจริต มีธรรมาภิบาล ดังนั้นจงโปรดแบ่งเค้กให้นาย ข. ให้เท่า ๆ กัน แต่เรามีหลักประกันหรือไม่ว่า นาย ก.จะปฏิบัติตาม วิธีการที่ดีกว่า ไม่ต้องเขียนยืดยาว แต่สร้างระบบขึ้นมาว่า นาย ก.เป็นคนตัดเค้ก แต่นาย ก.จะต้องไม่ได้เป็นคนเลือกเค้ก ให้นาย ข.เป็นคนเลือก"
"หากนาย ก.รู้แต่ต้นว่า ตัวเองไม่ได้เป็นคนเลือกเค้ก หากนาย ก. ตัดชิ้นหนึ่งใหญ่ ชิ้นหนึ่งเล็ก นาย ข. ย่อมเลือกชิ้นใหญ่ นาย ก.ก็จะได้ชิ้นเล็ก ดังนั้นถ้านาย ก. ไม่อยากได้ชิ้นเล็กกว่านาย ข. นาย ก.ก็ต้องตัดเค้กให้เท่ากัน เราสามารถตัดเค้ก 2 ชิ้น ให้เท่ากันได้ เพียงแค่สร้างระบบขึ้นมา นี่คือหลักการแบ่งแยกอำนาจ ไม่ต้องเขียนยาวเลย ทำให้ คนมีอำนาจในเรื่องใด จะต้องไม่มีประโยชน์ในเรื่องนั้น ใครที่มีประโยชน์ในเรื่องใด จะต้องไม่มีอำนาจในเรื่องนั้น รัฐธรรมนูญก็จะบางลงเอง"
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน