สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Perpetual Bond ผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงสูง

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ สถานีลงทุน โดย สุชาติ ธนฐิติพันธ์ ฝ่ายวิจัยและพัฒนาตลาด สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA)


ความเข้าใจของนักลงทุนทั่วไปเกี่ยวกับข้อแตกต่าง ระหว่างตราสารหนี้กับตราสารทุน (หุ้นสามัญ) อาจแบ่งได้เป็น 3 ประเด็นหลัก คือ (1) ผู้ลงทุนในตราสารหนี้จะอยู่ในฐานะของการเป็น "เจ้าหนี้" ขณะที่ผู้ลงทุนในหุ้นสามัญจะมีฐานะเป็น "เจ้าของ" (2) ตราสารหนี้จะให้ผลตอบแทนในรูปของ "ดอกเบี้ย" อย่างสม่ำเสมอ ณ อัตราที่กำหนดไว้ตั้งแต่ต้น แต่หุ้นสามัญจะจ่าย "เงินปันผล" ในอัตราที่ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับผลประกอบการและกำไรของบริษัท และ (3) ตราสารหนี้จะมีการกำหนดอายุไถ่ถอนไว้อย่างชัดเจนนับตั้งแต่วันเสนอขาย แตกต่างจากหุ้นสามัญที่ไม่มีการกำหนดอายุ

ทั้ง 3 ประเด็นนี้น่าจะเป็นความเข้าใจของผู้ลงทุนส่วนใหญ่มาเป็นเวลาช้านาน แต่ด้วยพัฒนาการที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของตลาดการเงินไทยทำให้ปัจจุบันมี การออกตราสารหนี้ที่แตกต่างไปจากความเข้าใจของผู้ลงทุนมากขึ้น ซึ่งในช่วงปลายเดือน ต.ค. 57 มีการเสนอขายตราสารหนี้ที่ไม่กำหนดวันไถ่ถอน (Perpetual Bond) ให้กับนักลงทุนโดยทั่วไป ซึ่งได้มีการตอบรับเป็นอย่างดีและขายได้หมดทั้งจำนวน

อย่างไรก็ตาม มีผู้ลงทุนอีกจำนวนมากที่สนใจลงทุนใน Perpetual Bond แต่ยังไม่ทราบถึงลักษณะของตราสารหนี้ประเภทดังกล่าว ซึ่งบทความต่อไปนี้จะช่วยสร้างความเข้าใจในเบื้องต้น

Perpetual Bond คือ ตราสารหนี้ที่ไม่กำหนดวันไถ่ถอน หรือจะไม่มีการไถ่ถอนคืนจนกว่าบริษัท (ผู้ออกตราสารหนี้) จะเลิกกิจการ ซึ่งแตกต่างกับตราสารหนี้ทั่วไปที่จะกำหนดวันไถ่ถอนเอาไว้ตั้งแต่ต้น (เช่น ตราสารหนี้อายุ 3 ปี, 5 ปี) แต่ด้วยระยะเวลาที่ค่อนข้างยาว ทำให้ผู้ออก Perpetual Bond มักจะแฝงสิทธิ์ (Option) บางอย่างเอาไว้ เช่น สิทธิ์ที่ผู้ออกตราสารหนี้จะไม่จ่ายดอกเบี้ย (Coupon) ในปีที่บริษัทไม่มีกำไร และสิทธิ์ที่ผู้ออกตราสารหนี้สามารถทำการไถ่ถอนคืนได้ (Call Option) เป็นต้น ซึ่งสิทธิ์ต่าง ๆ เหล่านี้มักเป็นสิทธิ์ที่ให้ประโยชน์กับผู้ออกตราสารหนี้มากกว่าที่จะเป็น ประโยชน์กับผู้ลงทุนครับ

ขณะที่มีผลตอบแทนแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ (1) กำไรจากการขาย (Capital Gain) หาก Perpetual Bond ที่ผู้ลงทุนถือเอาไว้มีราคาสูงขึ้น และ (2) ดอกเบี้ยจ่ายในอัตราที่กำหนดไว้ตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมักจะมีการแฝงสิทธิ์บางอย่างที่เป็นประโยชน์กับตัวผู้ออกตราสาร หนี้เอาไว้จึงทำให้ดอกเบี้ยของ Perpetual Bond มักจะอยู่ในระดับที่สูงกว่าตราสารหนี้อื่นที่มีอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) เท่ากัน

สำหรับความเสี่ยงของการลงทุนใน Perpetual Bond นั้นอาจแบ่งได้เป็น 4 ประเด็นใหญ่ๆ คือ (1) ความเสี่ยงที่ผู้ออกตราสารหนี้ไม่สามารถจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ย (Default Risk) ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงพื้นฐานของการลงทุนในตราสารหนี้ทุกประเภท (2) ความเสี่ยงจากการลดลงของราคา หากดอกเบี้ยในตลาดเพิ่มสูงขึ้น (ราคาตราสารหนี้กับดอกเบี้ยในตลาดจะเคลื่อนไหวในทิศทางตรงข้ามกัน) โดยปกติแล้วตราสารหนี้ระยะยาวจะมีความผันผวน หรือการเปลี่ยนแปลงด้านราคาสูงกว่าตราสารหนี้ระยะสั้น ดังนั้น Perpetual Bond จึงจัดว่ามีความผันผวนด้านราคาที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากมีอายุยาวกว่าตราสารหนี้ทั่วไป

นอกจากนี้แล้วยังมี (3) ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่ในบางครั้งผู้ลงทุนไม่สามารถทำการขายตราสารหนี้ ได้ทันที ณ ระดับราคาที่ต้องการ โดยเฉพาะ Perpetual Bond ที่มีลักษณะแตกต่างจากตราสารหนี้ทั่วไป (มีอายุยาวกว่าและมีสิทธิ์แฝง) ซึ่งอาจทำให้สภาพคล่องในการซื้อขายลดน้อยลงตามไปด้วย

ส่วนความเสี่ยง ที่สำคัญที่สุดของการลงทุนใน Perpetual Bond คือ (4) ความเสี่ยงที่เกิดจากสิทธิ์แฝงประเภทต่างๆ โดยเฉพาะสิทธิ์ที่อนุญาตให้ผู้ออกตราสารหนี้ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยในปีที่ บริษัทไม่มีกำไร สิทธิ์ลักษณะนี้ทำให้ผู้ลงทุนมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับผลตอบแทนจากการลง ทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ออกตราสารหนี้ประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องกันเป็นเวลา หลายปี

รวมถึงสิทธิ์ที่อนุญาตให้ผู้ออกตราสารหนี้สามารถทำการไถ่ถอน คืน (Call Option) ถือเป็นความเสี่ยงที่ต้องพิจารณาเช่นกัน เนื่องจากผู้ลงทุนใน Perpetual Bond ส่วนใหญ่ตั้งใจลงทุนเพื่อรับดอกเบี้ยในระยะยาว แต่หากดอกเบี้ยในตลาดปรับตัวลดลง ผู้ออกตราสารหนี้มักจะใช้สิทธิ์ไถ่ถอนและออกตราสารหนี้รุ่นใหม่ที่จ่าย ดอกเบี้ยต่ำลงกว่าเดิม

ทั้งนี้ เราสามารถจำกัดความเสี่ยงของการลงทุนใน Perpetual Bond ให้สอดคล้องกับระดับที่ผู้ลงทุนแต่ละคนยอมรับได้ ด้วยการพิจารณาปัจจัยหลักใน 2 ด้าน คือ (1) พิจารณาความน่าเชื่อถือและผลการดำเนินงานย้อนหลัง โดยเลือกลงทุนในตราสารหนี้ซึ่งออกโดยบริษัทที่มี Credit Rating ไม่ต่ำจนเกินไป เพื่อลดความเสี่ยงด้าน Default Risk และเลือกลงทุนใน Perpetual Bond ซึ่งออกโดยบริษัทที่มีผลการดำเนินงานมั่นคงอยู่ในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงที่ผู้ออกตราสารหนี้จะไม่จ่ายดอกเบี้ยในปีที่ไม่มีกำไร

นอก จากนี้ ผู้ลงทุนจำเป็นต้อง (2) พิจารณาสิทธิ์แฝงประเภทต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวนอย่างรอบคอบ ถึงแม้การที่มีสิทธิ์แฝงมากขึ้นจะทำให้ผลตอบแทนอยู่ในระดับที่สูงขึ้นและน่า ดึงดูดใจให้ลงทุน แต่ต้องไม่ลืมทฤษฎีพื้นฐานของการลงทุนที่ว่า "ผลตอบแทนที่สูงขึ้นย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงขึ้น" (High Risk High Return) ด้วยเช่นกันครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : Perpetual Bond ผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงสูง

view