สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ภาษีมรดกเอฟเฟ็กต์

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ สามัญสำนึก โดย สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

ขณะที่ร่างกฎหมายภาษีมรดกกำลังจะถูกส่งเข้าสู่การพิจารณาที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า และความชัดเจนของกฎหมายก็ถูกเปิดเผยออกมามากขึ้น หลังคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษได้ส่งร่างให้กระทรวงการคลัง

ล่าสุด "สมหมาย ภาษี" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยืนยันว่า เบื้องต้นร่างกฎหมายกำหนดเพดานภาษีสูงสุด 10% ของมูลค่าการโอนมรดกที่เกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป

สำหรับอัตราจัดเก็บจริงเท่าไหร่ จะออกเป็นพระราชกฤษฎีการองรับอีกครั้ง

ส่วน "ภาษีการรับให้" คือการโอนมรดกขณะที่ผู้ให้ยังมีชีวิต ร่างกฎหมายกำหนดให้กรณีการรับให้ระหว่างสามี-ภรรยาได้รับการยกเว้นภาษี ส่วนทายาทสายตรงได้รับการยกเว้น 10 ล้านบาทแรก ส่วนที่เกินต้องเสีย 5%

ส่วนหลานหรือบุคคลอื่นต้องถูกเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตั้งแต่บาทแรก

ในกรณีมีการทยอยโอนให้ครั้งละไม่ถึง 10 ล้านบาท แต่หากทั้งปีโอนรวมกันเกิน 10 ล้านบาท ส่วนที่เกินก็ต้องเสียอัตรา 5% เช่นกัน

"สมหมาย" ยืนยันว่าวิธีการตั้งเป็น "กองมรดก" หรือ "กองทรัสต์" เพื่อบริหารจัดการทรัพย์สิน แม้จะไม่ต้องเสียภาษีมรดก แต่ถ้ามีรายได้หรือดอกผลที่เกิดขึ้นก็ต้องเสียภาษีเงินได้ ขณะเดียวกัน ก็ต้องป้องกันไม่ให้ลูกหลานมาใช้ประโยชน์จากการตั้งมูลนิธิเกินความจำเป็น แต่ รมว.คลังก็ยอมรับว่า นวัตกรรมการเงินมีพัฒนาการเยอะมาก การพยายามปิดกั้นคงไม่มิด

และจากที่มีกระแสข่าวการผลักดันร่างกฎหมายภาษีมรดกออกมาจากรัฐบาล ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ "ภาษีมรดกเอฟเฟ็กต์" เกิดขึ้น คือภาพของเศรษฐีเจ้าของที่ดิน แห่ไปยื่นขอโอนที่ดินมรดกให้กับลูกหลานเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ก่อนที่กฎหมายจะคลอดออกมา

นายถวัลย์ ทิมาสาร รองอธิบดีกรมที่ดินยอมรับว่า หลังมีการนำเสนอข่าวกฎหมายภาษีมรดก ตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา พบว่าสถิติประชาชนมาติดต่อขอโอนมรดกให้ทายาท และจดทะเบียนรับให้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อย่างกรณีสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร รับผิดชอบพื้นที่กรุงเทพฯชั้นใน 10 เขต พบว่ามีธุรกรรมเพิ่มขึ้นเป็น 100%

รวมถึงสำนักงานที่ดินจังหวัดต่าง ๆ ก็มีปรากฏการณ์ไม่แตกต่างกัน ชัดเจนว่าประชาชนกังวลว่าอนาคตอาจต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น จึงรีบมาโอนบ้านและที่ดินให้ทายาทก่อนกฎหมายภาษีมรดกบังคับใช้

ปัจจุบันพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด โอนมรดกให้ลูก หลาน เหลน ลื่อ จะคิดค่าโอน 0.5% ของราคาประเมิน

นอกจากนี้ ยังมีปรากฏการณ์กลุ่มเศรษฐีเจ้าของธุรกิจทั้งหลาย แห่วิ่งหาที่ปรึกษากฎหมายธุรกิจ เพื่อที่จะให้ช่วยวางแผนบริหารจัดการสินทรัพย์ให้มีประสิทธิภาพ

"กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์" ประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัดยอมรับว่า ผลจากข่าวภาษีมรดกทำให้มีเจ้าของธุรกิจ (ครอบครัว) มาขอคำปรึกษาวางแผนการจัดโครงสร้างธุรกิจมากขึ้น เพราะนอกจากต้องการสร้างความแข็งแกร่งรองรับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นแล้ว การปรับโครงสร้างธุรกิจครอบครัวยังสามารถตอบโจทย์การจัดการภาษีมรดกไปได้ด้วย และเชื่อว่าจากนี้ไปจะเห็นธุรกิจครอบครัวในประเทศไทย ลุกขึ้นมาจัดโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่

ขณะที่หลายฝ่ายก็เชื่อว่า สุดท้าย "กฎหมายภาษีมรดก" ที่จะคลอดออกมาคงไม่ได้สามารถลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ตามเป้าหมาย และเม็ดเงินที่จัดเก็บก็คงไม่ได้มากมายอะไร เพราะบรรดาเศรษฐี มหาเศรษฐีตัวจริงทั้งหลาย ก็ยังมีช่องทางมากมายที่จะจัดการกับทรัพย์สินของตัวเอง

ดังเช่นที่รัฐมนตรีคลังยอมรับว่า "นวัตกรรมการเงินพัฒนาการไปเยอะมาก การพยายามปิดกั้นคงไม่มิด"

ที่สุด "กฎหมายภาษีมรดก" ที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผลักดันด้วยเป้าหมายที่จะมาช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมของคนจนกับคนรวยนั้น ก็อาจเป็นเพียง "สัญลักษณ์" แต่ไม่ได้มีอิทธิฤทธิ์ใด ๆ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ภาษีมรดก เอฟเฟ็กต์

view