บอกความลับกับฝรั่ง
โดย : ดร.ไสว บุญมา
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ในช่วงนี้มีเรื่องแปลก ๆ หนึ่งในความแปลกได้แก่เลขาโทของสถานทูตออสเตรเลียนัดพบ
ผมไม่ได้อยู่ในเมืองไทยและไม่ว่างจนกระทั่งเมื่อต้นสัปดาห์ เธอต้องการรู้ว่าหน้าตาผมเป็นอย่างไรและบอกว่าอยากให้อธิบายเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ผมเต็มใจ เนื่องจากเชื่อมั่นในแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาตั้งแต่ครั้งได้ฟังพระราชดำรัสเรื่องนี้เมื่อปี 2541 ผมมอบหนังสือเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงให้เธอไป 2 เล่มชื่อ “สู่ความเป็นอยู่แบบยั่งยืน” และ “ทางข้ามเหว : แนวคิดสำหรับแก้วิกฤติไทย” ซึ่งทั้งคู่อาจดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com เมื่อคุยกันได้พักใหญ่ ผมบอกให้เธอไปดาวน์โหลดเรื่อง “สู่จุดจบ! The Coming Collapse of Thailand” ซึ่งหนังสือพิมพ์แนวหน้านำมาขึ้นเว็บไซต์เพื่อให้ดาวน์โหลดกันได้ฟรีพร้อมกับบอกเธอว่า เล่มนี้มีประวัติยาวนานและเคยถูกปิดกั้นโดยลิ่วล้อของทรชน
ผมปรารภกับเธอว่า มนุษย์เราขาดภาษาสำหรับที่จะใช้สะท้อนความรู้สึกนึกคิดทุกอย่างได้และการเลือกใช้คำบางคำอาจนำไปสู่ความเข้าใจต่างกันจนถึงขั้นเกิดการเข้าใจผิด คำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” จัดได้ว่าอยู่ในหมู่คำจำพวกนั้น ตามความเข้าใจของผม เศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักปรัชญาที่อาจนำมาประยุกต์ใช้ได้ทั้งในระดับบุคคล/องค์กร (Micro) และระดับชาติ/โลก (Macro) ผมบอกเธอว่า ในองค์ประกอบ 5 ด้านซึ่งเธอบอกว่าได้ผ่านสายตาของเธอมานับครั้งไม่ถ้วนแล้วเนื่องจากเธอมาประจำการอยู่ในเมืองไทยนานกว่าสองปี สองด้านเป็นเสมือนฐานที่ต้องการความแข็งแกร่งได้แก่ “ความรู้” และ “คุณธรรม” เธอเห็นด้วยว่าทั้งสองด้านนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด หากไม่แข็งแกร่งพอ การพัฒนาเกิดขึ้นไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นในระดับบุคคล หรือระดับประเทศ
สำหรับด้านการนำมาประยุกต์ใช้ในระดับบุคคล เธอเข้าใจด้าน “การมีเหตุผล” และ “การมีภูมิคุ้มกัน” ทันที แต่ด้านการมี “ความพอประมาณ” ดูเธอจะต้องการคำอธิบาย ผมจึงพูดถึงเรื่องปัจจัยสี่ซึ่งคนไทยค่อนข้างโชคดีที่ดินฟ้าอากาศอำนวยให้เข้าถึงได้ไม่ยากนักเมื่อเทียบกับประชาชนในภาคอื่นของโลก เมื่อร่างกายของเรามีปัจจัยสี่พร้อมกับมีสิ่งจำเป็นสำหรับดำเนินชีวิตอื่น ๆ ครบถ้วนและเรามีความพอใจ เราได้ประยุกต์ใช้แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว เนื่องจากความจำเป็นของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ฉะนั้น การประยุกต์ใช้องค์ประกอบนี้จึงมีกรอบค่อนข้างกว้าง
สำหรับการนำมาประยุกต์ใช้ในด้านการบริหารประเทศ เธอสนใจเป็นพิเศษและบอกว่านั่นคือต้นเหตุของการต้องการพบผม ทั้งนี้ เพราะเมื่อ คสช. ยึดอำนาจรัฐก็ประกาศโป้งออกมาว่า จะยึดแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นฐานของการบริหารประเทศ ผมบอกเธอว่าประเด็นนี้กว้างมาก ผมจึงอยากจะจำกัดการสนทนาส่วนใหญ่ให้อยู่ในด้านเศรษฐกิจเนื่องจากผมมีประสบการณ์มากกว่าด้านอื่น
จากมุมมองของเศรษฐกิจ แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นระบบตลาดเสรีที่เรารู้จักดีอยู่แล้วเพราะเราใช้กันมานาน แต่มี “ความพอประมาณ” เสริมเข้าไปเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพของโลกที่เปลี่ยนไป ผมอธิบายว่า ระบบตลาดเสรีที่เราใช้กันมาตั้งแต่สมัยอดัม สมิธ รวบรวมแนวคิดไว้หากศึกษาให้แตกฉานจะพบว่า มีองค์ประกอบสำคัญอยู่ด้วยกัน 4 ด้านแล้ว นั่นคือ ความรู้ คุณธรรม การมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกัน มนุษย์เราใช้ระบบตลาดเสรีมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาลเพราะมันสะท้อนสัญชาตญาณของมนุษย์เราสองอย่างคือ เราเป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์เดียวที่เมื่อมีอะไรเหลือกินเหลือใช้ก็นำมาแลกเปลี่ยนกัน และเราต้องการทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างเสรี ด้วยเหตุนี้ ระบบตลาดเสรีจะคงอยู่ต่อไป เธอเข้าใจทันทีและเห็นด้วยว่าไม่เคยมีฝรั่งคนไหนพูดถึง
สภาพของโลกที่เปลี่ยนไปได้แก่ประชากรเพิ่มขึ้นจนเกิน 7 พันล้านคนแล้วและยังเพิ่มขึ้นต่อไปในขณะที่ทรัพยากรโลกร่อยหรอลง ฉะนั้น เป็นไปไม่ได้ที่จะให้ทุกคนบริโภค หรือใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นไปแบบไม่มีที่สิ้นสุด แต่ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา การบริหารและการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวคิดตลาดเสรีกระแสหลักใช้การบริโภคที่เพิ่มขึ้นไปแบบไม่มีที่สิ้นสุดเป็นหัวจักรขับเคลื่อน ปัญหาร้ายแรงจึงเกิดขึ้น หลักเศรษฐกิจพอเพียงที่อาจนำมาแก้ปัญหาได้แก่ความพอประมาณ เรามิได้พูดกันถึงเรื่องความพอประมาณทางด้านจำนวนประชากรเนื่องจากผู้เชี่ยวชาญมองว่าเมื่อประชากรโลกเพิ่มขึ้นไปถึงราว 9 พันล้านคนแล้วก็จะไม่เพิ่มต่อไปอีก เราพูดถึงเฉพาะมาตรการและนโยบายที่จะใช้จำกัดการบริโภคให้อยู่ในระดับความพอประมาณ เรื่องนี้ ผมชี้ว่ามีอยู่ในหนังสือเรื่อง “ทางข้ามเหว” แล้ว
จากหนังสือเล่มนั้น เราพูดกันถึงเรื่องระบบภาษีซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ทั้งนี้ เพราะภาษีมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของบุคคลมาก แต่ในขณะเดียวกันก็ให้อิสระแก่บุคคลว่าจะเลือกทำอะไรหรือไม่ ผมเสนอให้ใช้ภาษีบริโภคแบบก้าวหน้าเป็นแกน นั่นคือ เก็บภาษีขั้นต่ำ หรือไม่เก็บภาษีสินค้าและบริการที่มีความจำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตและตั้งภาษีให้สูงขึ้นตามลำดับสำหรับสินค้าและบริการที่มีความจำเป็นต่ำและไม่มีความจำเป็น บุคคลมีอิสระที่จะเลือกบริโภคสิ่งเหล่านั้นหากเขาเต็มใจที่จะจ่ายภาษี ระบบตลาดเสรีจึงไม่ถูกละเมิด
ก่อนยุติการสนทนา เธอถามว่าคนไทยเข้าใจและนำแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้มากน้อยเพียงไร ผมตอบว่า คนไทยและองค์กรส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนน้อยเข้าใจและนำไปประยุกต์ใช้จนได้ผลแบบเป็นรูปธรรมแล้ว แต่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยไม่เคยจริงใจที่จะนำไปใช้แม้แต่น้อย คำพูดของบรรดาผู้นำจึงเป็นเพียงวาทกรรมอำพรางที่นำในหลวงมาแอบอ้างเท่านั้น และหากลดความฉ้อฉลลงไม่ได้ เมืองไทยจะติดหล่มแน่นอน
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน