จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
“6 ช้อนชาต่อวัน” คืออัตราสูงสุดที่ร่างกายคนเราควรบริโภคน้ำตาล ถ้ามากไปกว่านี้ องค์การอนามัยโลกบอกเลยว่าจะมีแต่สั่งสมความตาย-บ่มเพาะโรคให้กับตัวเอง แต่เมื่อผู้วิจัยจับเครื่องดื่มยอดนิยมตามท้องตลาดมาตรวจปริมาณน้ำตาล กลับพบว่าเกินอัตราที่ควรดื่มเกือบทุกขวดทุกกล่องทุกยี่ห้อ และนี่คือรายชื่อเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกินขอบเขต
ดื่มกันเข้าไป! รู้บ้างไหม “มัจจุราช” รออยู่
อึ้งกันไปเลยล่ะสิ! สำหรับคอรสหวานที่ชอบดื่มเครื่องดื่มนู่นนั่นนี่ตามท้องตลาดอยู่เป็นประจำ แน่ใจได้เลยว่ายี่ห้อที่ปรากฏอยู่ในตาราง “ผลสำรวจน้ำตาลในเครื่องดื่มยอดนิยม (ไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกินวันละ 6 ช้อนชา)” จะต้องเคยผ่านการลิ้มลองรสของคุณมาบ้างแล้วไม่มากก็น้อย และที่ทำให้อึ้งยิ่งกว่าคือข้อมูลเหล่านี้มาจากแฟนเพจ “ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์” คอลัมนิสต์ชื่อดังผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ซ้ำยังระบุไว้ในคำบรรยายภาพเอาไว้อีกว่า
“องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ไม่ควรบริโภคน้ำตาลจากอาหารทุกชนิดเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน ภาพด้านล่างนี้แสดงจำนวนน้ำตาลในเครื่องดื่มแต่ละชนิด”
เพื่อให้เห็นอันตรายจาก “มัจจุราชรสหวาน” เหล่านี้ชัดมากขึ้นไปอีก อาจารย์ปานเทพยังได้โพสต์ภาพน้ำตาลที่ห้อยติดอยู่กับเครื่องดื่มชนิดนั้นๆ พร้อมระบุปริมาณช้อนชาเขียนแปะเอาไว้ให้เห็นกันจะจะว่า นี่แหละคือปริมาณน้ำตาลที่ร่างกายผู้บริโภคอย่างเราๆ จะได้รับถ้าริจะเสพติดเครื่องดื่มรสหวานเหล่านี้
“ดื่มแค่นี้ ไม่ถึงตายหรอกน่า...” ผู้บริโภคผู้นิยมตามใจปากบางรายอาจจะยังมีความคิดแบบนี้อยู่ จึงอยากบอกว่าขอให้ลบความคิดเหล่านี้ทิ้งไปได้เลย เพราะความหวานที่เห็นๆ กันอยู่นี้มันสั่งสมความตายได้มากกว่าที่คาดคิด
“เครื่องดื่มผสมน้ำตาลส่งผลทำให้คุณภาพอสุจิแย่ลง” นี่คือผลการวิจัยจากจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ศึกษาผู้ชายวัย 18-22 ปี จำนวน 189 คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ดื่มเครื่องดื่มใส่น้ำตาลเป็นปริมาณมาก (รวมถึงเครื่องดื่มหลังเล่นกีฬาซึ่งนับเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ของเครื่องดื่มใส่น้ำตาลทั้งหมดด้วย) พบว่าการดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากๆ มีผลต่อการเคลื่อนที่ของสเปิร์ม ทำให้เคลื่อนตัวได้ช้าลง ถึงแม้ว่าการดื่มน้ำหวานมากๆ จะไม่มีผลต่อความเข้มข้นของอสุจิ รูปร่างของสุจิหรือปริมาตรน้ำเชื้อก็ตามที
ในประเทศไทยเองก็มีตัวอย่างอันตรายจากน้ำตาลให้เห็นกันอยู่เสมอๆ โดยเฉพาะในเด็กไทย พบว่ามีสถิติอ้วนลงพุงเพิ่มมากขึ้นติดอันดับโลกในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา เพราะมีพฤติกรรมเสพติดความหวานจากเครื่องดื่มและขนมหวาน ส่งให้เด็กไทยที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ป่วยเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าตัว และนี่คือบทวิเคราะห์จากอาจารย์ปานเทพ
“องค์การอนามัยโลกเห็นว่าโรคเบาหวานกลายเป็นภัยอันตรายที่กำลังเพิ่มมากขึ้น อย่างรวดเร็ว ดังนั้นองค์การอนามัยโลกจึงแนะนำให้คนรับประทานน้ำตาลเพียงวันละ 6 ช้อนชาเท่านั้น แต่การบริโภคของคนไทยที่ติดน้ำอัดลม หรือน้ำชาที่ใส่น้ำตาล เพียงแค่ขวดเดียวก็เกินกว่า 6 ช้อนชาโดยส่วนใหญ่อยู่แล้ว ยังไม่นับว่าในแต่ละวันคนไทยก็บริโภคคาร์โบไฮเดรต ขนมหวาน ที่ทำให้เราบริโภคหวานมากเกินไป
ความหวานที่เกินพอดีนี้เองที่ทำให้เราเจ็บป่วยง่ายขึ้น ร่าง กายเป็นกรดเกิน และทำให้หลอดเลือดได้รับการบาดเจ็บ ทำให้ไตรกลีเซอไรด์สูงขึ้น ไขมันตามหลอดเลือดมากขึ้น ไขมันพอกตับมากขึ้น ภูมิคุ้มกันลดลง ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้มากขึ้น ทำให้เป็นโรคอ้วน ฯลฯ อาจกล่าวได้ว่าสารพัดโรคในยุคนี้ "การบริโภคน้ำตาลเกิน" คือปัญหาที่สำคัญของคนในยุคนี้”
เสพติดน้ำตาล เสพรสหวาน เสพความตาย!!?
ยิ่งอากาศร้อนๆ ยิ่งอยากดื่ม... อาการแบบนี้นี่แหละที่เรียกว่า “เสพติด” และเมื่อเสพติดน้ำตาลแล้วก็ใช่ว่าจะเลิกได้ง่ายๆ “เพราะแม้แต่ผลการศึกษาของวิทยาลัย คอนเน็กติกัต แห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้เผยแพร่รายงานในเว็บไซต์ของวิทยาลัยเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2556 พบการทดลองในหนูทดลองในการบริโภคน้ำตาลสูงผ่านขนมโอรีโอ พบ ว่าหนูมีความพึงพอใจในการเสพติดขนมหวานอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับการเสพติด โคเคน หรือมอร์ฟีน และยังพบว่าทำให้กระตุ้นประสาทในส่วนของความพึงพอใจในสมองนั้นยิ่งกว่าการ เสพยา
การทดลองครั้งนี้ไม่ได้เป็นครั้งแรก แต่การศึกษาในเรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นมาแล้วหลายๆครั้งในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา ก็ได้ผลใกล้เคียงกันคือหนูทดลองหากเลิกเสพน้ำตาลจะมีอาการเสี้ยนยา อยากยา หรือคล้ายๆอาการลงแดง และสามารถบำบัดรักษาได้ด้วยยาที่ใช้สำหรับบำบัดผู้ป่วยยาเสพติด
ดังนั้นหากท่านใดที่คิดว่าจะเลิกน้ำอัดลม เลิกน้ำหวาน อย่าคิดว่าจะเลิกได้ง่ายๆ ถ้าจิตใจมีความเข้มแข็งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่มีความโชคดี แต่ถ้าถลำลึกในการเสพติดการบริโภคน้ำตาลแล้ว ก็ต้องขอให้ ทุกคนได้เข้าใจ และให้กำลังใจในการเลิกเสพติดน้ำตาลเหล่านั้น เพราะผู้ผลิตน้ำอัดลม และน้ำหวาน ต่างก็แข่งกันหวานเพื่อให้ผู้บริโภคเสพติดผลิตภัณฑ์ของตัวเองเท่านั้น
ความหวานจากน้ำตาลนั้นอาจแฝงอยู่ในอาหารหลายชนิดที่เราบริโภคไปโดยไม่รู้ตัว และสำหรับใครหลายคนการหักดิบในการลดแป้งและงดน้ำตาลทุกชนิด อาจทำได้ในเพียงระยะสั้นๆเท่านั้น แต่ไม่สามารถจะเปลี่ยนพฤติกรรมในระยะยาวได้ ซึ่งอาจทำให้เราพ่ายแพ้กับการต่อสู้จิตใจในการักษาสุขภาพกับการเสพติดน้ำตาลได้
ไม่ใช่เพียงเพราะการเสพติดทางสมองของน้ำตาลเท่านั้น แต่ความยากในการเลิกเสพติดน้ำตาลอยู่ที่ทุกครั้งที่เรามีความโหยน้ำตาล จะทำให้เราเร่งกินคาร์โบไฮเดรตหรือน้ำตาลมากขึ้น เพื่อชดเชยความโหยนั้น หลังจากนั้นตับอ่อนก็จะผลิตอินซูลินออกมาเพื่อนำน้ำตาลไปเลี้ยงเซลล์ในร่าง กาย เมื่อน้ำตาลเข้าไปในเซลล์แล้ว ก็จะทำให้น้ำตาลในกระแสเลือดตกลงจนอาจเข้าสู่อันตราย ทำให้เราโหยน้ำตาลอีกวนไปวนมา สุดท้าย คนเสพติดน้ำตาลจึงเลิกไม่ได้เสียที
ดังนั้นการเลิกน้ำตาลจึงต้องเริ่มต้นที่การเยียวยาทางความรู้สึกของสมอง และหาหนทางที่ทำให้อินซูลินไม่เร่งผลิตออกมามากเกินไปให้เราเกิดภาวะน้ำตาล ตกเพื่อไปโหยแป้งและน้ำตาล ทำให้เราลดการกินหวานและแป้งไม่ได้ เพราะน้ำตาลเป็นรางวัลและอาหารให้กับสมอง ยิ่งกินมากก็ยิ่งเสพติดน้ำตาลมาก แม้แต่ให้ลดน้ำตาลแต่ถ้ายังทานแป้งหรือข้าวขาวมาก เราก็จะอยู่ในวังวนอยู่กับการเสพติดน้ำตาลต่อไปไม่จบสิ้น”
ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพและข้อมูล: แฟนเพจ “ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์” และบทความ “20 เทคนิค! เลิกเสพติดน้ำตาล”
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน