นโยบายการวิจัยแห่งชาติ
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ เรวัติ ตันตยานนท์
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
การสร้างองค์ความรู้ใหม่จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการศึกษาและวิจัยเป็นพื้นฐาน
ผู้บริหารธุรกิจที่ต้องการพัฒนาธุรกิจของตนภายใต้เศรษฐกิจฐานความรู้ ต้องให้ความสนใจในเรื่องของการวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับธุรกิจขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ที่ยังไม่มีศักยภาพในการทำการวิจัยและพัฒนาได้ด้วยตนเอง
ดังนั้น หากเอสเอ็มอี สนใจที่จะได้ผลงานการวิจัยใหม่ๆ เพื่อนำมาพัฒนาธุรกิจของตนเอง ก็จำเป็นที่จะต้องสนใจและสืบเสาะหาให้ได้ว่า มีใคร หรือหน่วยงานใดบ้าง ที่ทำการวิจัยในเรื่องนั้นๆ อยู่ และจะสามารถติดต่อนำผลงานวิจัยมาใช้กับธุรกิจเอกชนได้อย่างไร
อาจจะมีหลายคนที่ยังไม่ทราบว่า ระบบการวิจัยของไทย มีศูนย์กลางอยู่ที่ สภาวิจัยแห่งชาติ ซึ่งมีสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ ทำหน้าที่บริหารจัดการงานวิจัย โดยการให้ทุนอุดหนุนงานวิจัยต่างๆ แก่หน่วยงานและนักวิจัย
ในระยะเริ่มแรก งานวิจัยส่วนใหญ่ จะเป็นงานวิจัยด้านเกษตร มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการวิจัยและนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในภาครัฐเท่านั้น
ต่อมา ได้เริ่มมีการขยายตัวของมหาวิทยาลัย ทำให้เกิดงานวิจัยเพิ่มขึ้น มีการผลิตนักวิจัยป้อนให้หน่วยงานปฏิบัติการวิจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นในหน่วยงานราชการต่างๆ ในระดับกระทรวง ควบคู่ไปกับหน่วยปฏิบัติการวิจัยในมหาวิทยาลัย
ระบบการวิจัยของไทย ได้เริ่มขยายตัวมากขึ้นตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา โดยเกิดพระราชบัญญัติจัดตั้งหน่วยงานวิจัยขึ้นอีกหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำหนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวสร.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) รวมไปถึง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นต้น
หน่วยงานวิจัยเหล่านี้ ทำหน้าที่ให้ทุนการวิจัยเฉพาะด้านต่างๆ ที่มีขอบข่ายชัดเจนมากขึ้น หรือในหลายหน่วยงานก็จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานปฏิบัติการวิจัยด้วยตัวเองด้วย
จะเห็นได้ว่า การส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการลงทุนด้านการวิจัยของภาคเอกชน ยังมีอยู่น้อยมาก โดยการวิจัยของภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การวิจัยที่มีผลโดยตรงในด้านเศรษฐกิจ มักจะเกิดขึ้นในธุรกิจภาคเอกชนขนาดใหญ่เพียงน้อยรายเท่านั้น
ปัญหาส่วนใหญ่ของระบบการวิจัยของไทย ได้แก่ การไม่สามารถนำผลงานวิจัยที่ได้ลงทุนไปนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ทำให้เกิดแนวคิดของการปฏิรูประบบวิจัยของประเทศขึ้นในปี 2550
โดยกำหนดเป้าหมายให้เกิดระบบวิจัยที่มีความเชื่อมโยงระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในระบบการวิจัยให้มากขึ้นเพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนในการพัฒนาประเทศ ผ่านการสร้างความเข้มแข็งให้กับ ประชาชน ภาคเอกชน นักวิจัย และหน่วยงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง นำความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยเป็นศูนย์กลาง สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติในการพัฒนาประเทศ ยกระดับขีดความสามารถในการวิจัยให้แข่งขันได้ในระดับนานาชาติ และเพิ่มมูลค่าผลงานวิจัยหรือลดการนำเข้าและพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
ปัจจุบัน ระบบการวิจัยของประเทศไทยในภาพรวมอยู่ภายใต้ นโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยแห่งชาติ ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2555 - 2559
โดยมีวิสัยทัศน์การวิจัยของชาติ ชี้แนวทางให้ ประเทศไทยมีและใช้งานวิจัยที่มีคุณภาพ เพื่อการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน
ภายใต้พันธกิจการวิจัยของชาติ ที่จะพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถในการวิจัยของประเทศให้สูงขึ้นและสร้างฐานความรู้ที่มีคุณค่า สามารถประยุกต์และพัฒนาวิทยาการที่เหมาะสมและแพร่หลาย รวมทั้งให้เกิดการเรียนรู้และต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์และสาธารณะ ตลอดจนเกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยใช้ทรัพยากรและเครือข่ายวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม
นำไปสู่ยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติในช่วง 5 ปีนี้ จำนวน 5 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่
1. การสร้างศักยภาพและความสามารถเพื่อการพัฒนาสังคม
มุ่งเน้นการวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา ระบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี การสร้างความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันของท้องถิ่นและสังคม การพัฒนาศักยภาพของเยาวชน ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการและสูงอายุ และการวิจัยที่มีความจำเป็นต้องการผลงานวิจัยในพื้นที่
2. การสร้างศักยภาพและความสามารถเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ
มุ่งเน้นการวิจัยเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตร การพัฒนาและจัดการองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตทางอุตสาหกรรมและบริการ โดยคำนึงถึงบทบาทการแข่งขันของประเทศภายใต้การเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และโลก
3. การอนุรักษ์ เสริมสร้าง และพัฒนาทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
มุ่งเน้นการวิจัยเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนและสังคม การวิจัยเกี่ยวกับการรองรับและฟื้นฟูหลังภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น
4. การสร้างศักยภาพและความสามารถเพื่อการพัฒนานวัตกรรมและบุคคลากรทางการวิจัย
มุ่งเน้นการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้และต่อยอดภูมิปัญญาของประเทศและสาธารณะ เสริมสร้างศักยภาพการวิจัยของประเทศในระดับภูมิภาค
5. การปฏิรูประบบวิจัยของประเทศเพื่อการบริหารจัดการความรู้ ผลงานวิจัย นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ ทรัพยากร และภูมิปัญญาของประเทศ สู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และสาธารณะ ด้วยยุทธวิธีที่เหมาะสมที่เข้าถึงประชาชนและประชาสังคมอย่างแพร่หลาย
มุ่งเน้นการวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลองการบริหารจัดการด้านการวิจัยของประเทศที่มีความจำเป็นต้องการผลงานวิจัยในพื้นที่
ข้อมูลที่นำเสนอมาทั้งหมดนี้ มีแหล่งอ้างอิงจากเอกสารต่างที่ วช. เป็นผู้เผยแพร่ ไม่ได้เกิดจากการ “มโน” หรือ เป็นความฝันของผู้ใด ทั้งสิ้น !!!!
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน