หลักการภาษีมูลค่าเพิ่ม
โดย : สุเทพ พงษ์พิทักษ์
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ขอนำประเด็นหลักการภาษีมูลค่าเพิ่มมาปุจฉา – วิสัชนา ดังนี้
ปุจฉา ถ้าการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม พิจารณาจากการขายสินค้า หรือบริการ แล้วทำไมกิจการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อขายสินทรัพย์ ถึงต้องเสีย VAT ในเมื่อสินทรัพย์นั้นไม่ใช่ ทั้งสินค้าและบริการ คือเข้าใจว่ากิจการถ้าอยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่ว่าจะได้รับเงินลักษณะใด ก็จะต้องนำส่ง VAT ถูกต้องหรือไม่
วิสัชนา โดยทั่วไปภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นภาษีที่มุ่งจัดเก็บจากการบริโภคของผู้บริโภคคนสุดท้าย (Final Consumer) แต่เนื่องจากรัฐไม่อาจจัดเก็บโดยตรงไปยังผู้บริโภคคนสุดท้ายตามที่ต้องการได้ จึงได้บัญญัติกฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มแทน โดยให้เสียภาษีจากกิจกรรมการขายสินค้าหรือการให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ ซึ่งผลสุดท้ายภาระภาษีก็จะตกต้องที่ผู้บริโภคคนสุดท้าย จึงเรียกว่าภาษีมูลค่าเพิ่ม “ภาษีทางอ้อม” (Indirect Tax) ที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีกับผู้รับภาระภาษีเป็นคนละคนกัน
ในการบัญญัติกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้กำหนดหลักการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้
“มาตรา 77/2 การกระทำกิจการดังต่อไปนี้ในราชอาณาจักร ให้อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามบทบัญญัติในหมวดนี้
(1) การขายสินค้าหรือการให้บริการโดยผู้ประกอบการ
(2) การนำเข้าสินค้าโดยผู้นำเข้า
การให้บริการในราชอาณาจักร ให้หมายถึง บริการที่ทำในราชอาณาจักร โดยไม่คำนึงว่าการใช้บริการนั้นจะอยู่ในต่างประเทศหรือในราชอาณาจักร
การให้บริการที่ทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ให้ถือว่าการให้บริการนั้นเป็นการให้บริการในราชอาณาจักร”
โดยได้มีการนิยามศัพท์ ความหมายของคำที่เกี่ยวข้อง อาทิ “ผู้ประกอบการ” “ขาย” สินค้า” หรือ “บริการ” ไว้ตามมาตรา 77/1 (5)(8)(9) และ (10) แห่งประมวลรัษฎากร
ดังนั้น ภายใต้การเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ไม่ว่าจะขายทรัพย์สินใดๆ ที่มีไว้ใช้ในการประกอบกิจการที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็น “ทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่าง ที่อาจมีราคาและถือเอาได้ไม่ว่าจะมีไว้เพื่อขาย เพื่อใช้ หรือเพื่อการใด ๆ” จึงถือเป็นการขายสินค้าทั้งหมด
สำหรับความเข้าใจที่ว่า “กิจการถ้าอยู่ในระบบ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่ว่าจะได้รับเงินลักษณะใด ก็จะต้องนำส่ง VAT” ไม่ถูกต้องเสมอไป เพราะรายได้ที่ผู้ประกอบการหรือผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับนั้น อาจจำแนกได้เป็น (1) รายได้ที่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT Income) (2) รายได้ที่ผู้ประกอบการไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (3) รายได้ที่ไม่อยู่บังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (Out of VAT Scope) อาทิ รายได้จากการประกอบกิจการที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ หรือยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ ค่าปรับเนื่องจากผิดสัญญา รางวัล ส่วนลดหรือประโยชน์ใดๆ ที่ได้จากการส่งเสริมการขาย เช่น ค่าธรรมเนียมแรกเข้า เงินอุดหนุน เงินช่วยเหลือ รางวัล/ส่วนลดตามเป้า (Rebate) เป็นต้น รายได้จากการขายสินค้าหรือการให้บริการนอกราชอาณาจักร ส่วนลดเงินสด
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน