การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับภาษีที่เสียในต่างประเทศ
โดย : สุเทพ พงษ์พิทักษ์
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
มีข้อปัญหาบางประการของบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และได้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้แก่รัฐบาลของต่างประเทศ
ซึ่งตามประมวลรัษฎากรมีข้อกำหนดให้นำมาใช้เป็นเครดิตภาษีในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 300) พ.ศ. 2539 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 65) ลงวันที่ 15 พ.ย. 2539 จึงขอนำมาเป็นประเด็นปุจฉา - วิสัชนา ดังนี้
ปุจฉา การจัดเก็บภาษีเงินได้สำหรับธุรกิจสายการบินในต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะคำนวณเป็นอัตราร้อยละจากยอดขาย ซึ่งทำให้การคำนวณหาจำนวนภาษีที่ต้องเสียตามกฎหมายไทยโดยวิธีที่กำหนดใน ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 65) ลงวันที่ 15 พ.ย. 2539 ข้อ 3(1) ไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้ กรณีเช่นนี้ บริษัทฯ จะใช้อัตราส่วนของรายได้และภาษีที่เสียในประเทศไทย เป็นอัตราส่วนในการคำนวณเปรียบเทียบหาจำนวนภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทยส่วนที่คำนวณจากเงินได้จากการประกอบกิจการในต่างประเทศได้หรือไม่ หรือมีวิธีการอื่นที่กรมสรรพากร เห็นว่าเหมาะสมกว่า
วิสัชนา กรณีบริษัทฯ ได้เสียภาษีเงินได้จากการประกอบกิจการในต่างประเทศโดยคำนวณจากรายได้ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ในการคำนวณหาจำนวนภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้รับยกเว้น มีวิธีคำนวณแยกเป็นรายประเทศ โดยบริษัทฯ ต้องนำรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในต่างประเทศหักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุในมาตรา 65 ทวิ และ 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ได้เท่าใด ให้คูณด้วยอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่บริษัทฯ ต้องเสียผลลัพธ์ที่ได้ถือเป็นจำนวนภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทย ส่วนที่คำนวณจากเงินได้จากการประกอบกิจการในต่างประเทศ ตามข้อ 3(1) แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 65)ฯ ลงวันที่ 15 พ.ย. 2539
ดังนั้น การที่บริษัทฯ จะใช้อัตราส่วนของรายได้และภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทยเป็นอัตราส่วนเปรียบเทียบหาจำนวนภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทยส่วนที่คำนวณจากเงินได้จากการประกอบกิจการในต่างประเทศ จึงกระทำมิได้
ปุจฉา กรณีบริษัทฯ ได้รับดอกเบี้ยจากธนาคารที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายในประเทศไต้หวัน ซึ่งถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ และกฎหมายภายในของประเทศไต้หวันบังคับว่าบริษัทฯ ต้องนำดอกเบี้ยดังกล่าวไปรวมคำนวณกับเงินได้จากการประกอบกิจการขนส่งทางอากาศ แต่เงินได้จากการประกอบกิจการขนส่งทางอากาศ บริษัทฯ ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อตกลงระหว่างประเทศ กรณีดังกล่าว ในการคำนวณหาจำนวนภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทยส่วนที่คำนวณจากเงินได้จากการประกอบกิจการในต่างประเทศ จะต้องดำเนินการอย่างไร
วิสัชนา ให้บริษัทฯ ต้องนำดอกเบี้ยที่ได้รับจากบริษัทในประเทศไต้หวัน หักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ได้เท่าใดให้คูณด้วยอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่บริษัทฯ ต้องเสีย ผลลัพธ์ที่ได้ถือเป็นจำนวนภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทยส่วนที่คำนวณจากเงินได้จากการประกอบกิจการในต่างประเทศ ตามข้อ 3(1) แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 65)ฯ ลงวันที่ 15 พ.ย. 2539
พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน