จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
"อดีตนายกฯอานันท์" ระบุอย่าคาดหวังการปฏิรูป จะได้ประชาธิปไตย"สมบูรณ์แบบ"
นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ปฏิรูปประเทศไทย ปฏิรูปภาคเกษตร” ในประชุมสัมมนา เชิงวิชาการประจำปี ของสภาเกษตรกรแห่งชาติกับที่เมืองทองธานี มีรายละเอียดดังนี้
นายอานันท์ กล่าวว่าแม้ไม่ได้เกิดมาในครอบครัวเกษตรกร ไม่มีญาติพี่น้องที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่ก็มีเพื่อนเกษตรหลายคนที่ประกอบอาชีพเกษตร และ ได้เคยติดตามกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องมานาน จึงมีความเห็นใจในปัญหาต่างๆที่เกษตรกรประสบมาตลอด
“ความเห็นต่างๆที่ผมจะกล่าวต่อไปนี้อาจไม่มีคำตอบกับปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทย แต่อย่างน้อยจะเป็นข้อมูลเพื่อให้คนที่มีอำนาจหน้าที่นำไปพิจารณาร่วมกับคนอื่นที่รู้เรื่องดีกว่าผม สังคมของไทยทุกวันนี้ไม่ควรเป็นสังคมปิด แต่ต้องเป็นสังคมเปิด ที่มีขอบเขต ความรับผิดชอบ เปิดเพื่อฟังทัศนะทั่วไป การเป็นสังคมเปิดนั้นสำคัญ เหมือนน้ำในกระติกที่อยู่บนกองไฟเมื่อมันเดือด ร้อนขึ้นมาก็เกิดเปิดฝาภาชนะให้อากาศเล็ดลอด ไม่งั้นจะระเบิดได้ เช่นเดียวกับความทุกข์ของเกษตรกรในอดีตไม่ใช่ประเด็นใหม่ ทั้งภัยธรรมชาติ น้ำท่วม แล้ง ราคาสินค้าตกต่ำ สินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำ กำลังซื้อถดถอยรวมทั้งปัญหาที่มีโครงการรับจำนำข้าว มีการกล่าวหาว่าทำให้ชาติเสียหายกว่า 6 แสนล้านบาท เป็นรายการใหม่ที่แทรกเข้ามาทำให้ความเจ็บปวด เศรษฐกิจประเทศหยุดชะงัก”
นายอานันท์ กล่าวว่า ปัญหาในภาคการเกษตรที่ผ่านมารัฐบาลรวมทั้งรัฐบาลของตนเมื่อ 17 ปีที่ผ่านมา พยายามแก้ไขแต่ก็มีปัญหาตามมาอย่างไม่สิ้นสุด เช่นการพัฒนาระบบชลประทาน ที่เกิดปัญหาคลองส่งน้ำไม่มี เกิดความขัดข้องของระดับการบริหาร แก่งแย่งกันว่าเป็นหน้าที่ของใคร ไม่มีนโยบายที่จะคุ้มครองอย่างเป็นธรรมกับเกษตรกร
ดังนั้น การปฏิรูปภาคการเกษตรของไทยที่จะทำขึ้นครั้งนี้ จะต้องเสนอพรบ.คุ้มครองสร้างความเป็นธรรม สร้างความเกื้อกูลการเกษตรอย่างทั่วถึง จากที่ผ่านมารัฐบาลให้ความใส่ใจกับสถานภาพกับเกษตรน้อยไป ในขณะที่เกษตรกรต้องพิจารณาตรวจสอบข้อบกพร่องของตัวเองด้วย จากปัจจุบันเกษตรกรไม่มีอำนาจต่อรองกับพ่อค้านักธุรกิจเลย ซึ่งในสังคมไทย ภาคการเกษตรมีอำนาจการต่อรองน้อยที่สุด
ขณะนี้ยังไม่มีแนวทางที่จะปรับปรุงให้ดีขึ้น เกษตรกรควรเสริมสร้างความรู้การเงินการตลาด การบัญชีการทำสัญญาซื้อขายเพื่อให้รู้รูปแบบการทำสัญญาว่าเสียเปรียบอะไรบ้าง ทั้งนี้เพราะในทุกสังคมการเอาเปรียบคนอื่นมันอยู่ในนิสัยอยู่แล้ว แต่มันสามารถลบล้างได้
"ไม่มีใครอยากเห็นส่วนใดในสังคมอยู่ในฐานะเสียเปรียบตลอดทั้งชีวิต แต่ที่เป็นอย่างนั้นอยู่คือภาคการเกษตร ชาวนาที่ครอบครองที่ดินมาช้านาน ตอนนี้กลายเป็นผู้บุกรุกตามกฎหมาย ซึ่งอันนี้ต้องพิจารณาว่าใครบุกรุกใครกันแน่ รัฐบุกรุกสิทธิของชาวไร่ชาวนาเพราะเป็นผู้กำหนดกฎหมายหรือไม่ สิ่งๆต่างเหล่านี้ต้องสนใจทั้งสิ้น การดำเนินการของรัฐไม่ควรทำเพื่อเอาใจใคร แต่ควรทำเพื่อความถูกต้องเพื่อแก้ไขความยุติธรรมในสังคม รวมถึงความแตกแยก"
นายอานันท์ กล่าวว่า การปฏิรูปภาคการเกษตรที่กำลังจะเกิดขึ้นรวมทั้งการปฏิรูปประเทศไทย นั้น ในหนังสือปฏิรูปที่เคยเขียนเอาไว้ มีรูปแบบอยู่ มีรายงานที่ไม่เลื่อนลอย ไม่ใช้ข้อความผิดพลาด แต่อ่านแล้วจะได้รับความเห็นที่ต่างไปเพื่อนำไปไตร่ตรองต่อ อันนี้ไม่ใช่ปัญหา แต่แจ้งโจทย์ว่ามีอะไรบ้าง ข้อเสนอแก้ไขแนวทางการปฏิรูปประเทศไทย จากความล้มเหลวเชิงโครงสร้างไทย โครงสร้างอำนาจทำให้เกิดความล้มเหลว อำนาจของรัฐกับอำนาจของประชาชน ภาคธุรกิจจะมีมากที่สุด เกษตรมีน้อยที่สุด ด้านความเหลื่อมล้ำ มีหลายมิติ เช่น รายได้ สิทธิ อำนาจและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ รัฐ มีหน้าที่จะจัดสรรทรัพยากรของชาติ อย่างยุติธรรม แต่เท่าที่เห็นในขณะนี้ทรัพยากรธรรมชาติไทยกำลังถูกเบียดเบียนตลอดเวลา รัฐบาลจากโครงการของรัฐเช่นการปล่อยสัมปทานเหมืองแร่ เหมืองทองคำเป็นต้น
“เมื่อเร็วๆนี้มีการเขียนรัฐธรรมนูญและการปฏิรูป ผมไม่ได้พาดพิงกระบวนการหรือประเด็นต่างๆ แต่ที่เห็นการยกร่างรัฐธรรมนูญมักจะอ้างความต้องการประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ซึ่งในความเป็นจริงไม่มีการปกครองที่ไหนมีความเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ ทั้งในสหรัฐอเมริกา หรือยุโรป แม้ประเทศเหล่านั้นที่มีศาสตร์ประชาธิปไตยมา 200-300 ปี ดังนั้นประชาธิปไตยที่ไทยกำลังจะได้มาต้องรับรู้ในเบื้องต้นว่าประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ไม่มี แต่ประชาธิปไตยแบบไทยๆ คือ ให้มีความด่างพร้อย ช่องโหว่น้อยที่สุด แต่ต้องไม่ใช่ประชาธิปไตยจอมปลอม”นายอานันท์ กล่าว
นายอานันท์ กล่าวว่าประชาธิปไตยควรหลีกเลี่ยงการกระทบกับค่านิยม การเลือกตั้งต้องมี ที่ผ่านมาการเลือกตั้งของไทยก็จอมปลอม มีการโกงกิน ซื้อเสียงต่างๆนานา ดังนั้นการเขียนวาระการปฏิรูปขึ้นมา เพื่อให้เกิดการเลือกตั้ง ต้องให้ได้รับการบอบช้ำน้อยที่สุด นั่นคือการคืนประชาธิปไตยให้ประชาชน อาจใช้เวลา 2-3 ปี ก็แล้วแต่ แต่มันคือการคืนสิทธิให้กับมนุษยชน ที่จะทำให้เกิดการตรวจสอบได้จากสื่อ เกิดการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ สิ่งที่หวังอย่างยิ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้คือการกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง จะได้รับการกลั่นกรองอย่างรอบคอบเป็นผู้ที่เห็นแก่ประโยชน์ของชาติมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ธุรกิจ ไม่เห็นแก่ตัวซึ่งหาไม่ได้ง่ายๆ แต่อย่าท้อ
แม้ว่าในอนาคตไทยจะต้องเผชิญกับความขัดแย้งจากการไม่ยอมรับนักการเมือง ซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก ดังนั้นสังคมไทยจึงไม่แปลก เมื่อเทียบกับสังคมอื่นที่มีปัญหามากกว่า เช่นอินเดีย ยุโรป ปัญหาเหล่านี้แม้จะเขียนธรรมนูญให้ดีเลิศอย่างไรก็ไม่สามารถอุดช่องโหว่เหล่านี้ได้
การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สำคัญ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการให้ความเห็น เพื่อให้ทำหน้าที่การตรวจสอบจับผิด หลักของประชาธิปไตย สูงสุดคือประชาชน ส่วนอำนาจนิติบัญญัติ คืออำนาจจากประชาชนที่มอบให้คนกลุ่มหนึ่ง มีวาระเพียง 4 ปี
ดังนั้นอำนาจนิติบัญญัตินี้ ไม่ควรแอบอ้างมาว่ามาจากประชาชน การใช้ประโยชน์จากอำนาจนิติบัญญัติไม่ใช่เฉพาะวันที่กากบาท หลังจากนั้นประชาชนมีสิทธิที่จะตรวจสอบได้ตลอด เพราะอำนาจนิติบัญญัติไม่ใช่สิ่งศักดิ์ แต่สิทธิ์ที่รัฐบาลจะต้องคำนึงถึงคือหลักธรรมาภิบาล
ถ้าจะให้มีการเลือกตั้งที่แท้จริงผู้สมัครต้องซื่อสัตย์กับตัวเองสร้างความน่าเชื่อถือ ที่ผ่านมา เมื่อมีการเลือกตั้งแล้วส่วนใหญ่จะเข้ามาเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับทำธุรกิจตนเอง ไม่ได้ทำเพื่อภารกิจของชาติ การทำงานด้านนี้ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ทันต่อเหตุการณ์และเวลา เพราะศัตรูของประชาธิปไตยคือการโกงกิน การสมยอมในธุรกิจเอกชนให้ผูกขาดของรัฐ ซึ่งจะทำให้ในสังคมนั้นจะไม่มีหลักประกันความเป็นธรรม ดังนั้นต้องมีกฎหมายเพื่อส่งเสริมกระบวนการค้าโดยเสรี ความคาดหวังคือการให้บริการขั้นพื้นฐานให้ประชาชนได้ การรักษาพยาบาล การเรียน รวมทั้งสาธารณูปโภค
นอกจากนี้ระบบภาษีของไทยในปัจจุบันยังมีช่องโหว่มาก การจัดเก็บยังล้าหลัง ทั้งภาษีที่ดิน ภาษีที่ดินเพื่อการเกษตร ภาษีท้องถิ่น ภาษีจากโรงงาน ภาษีมรดก หรือแม้แต่ภาษีมูลค่าเพิ่ม หลายสิ่งหลายอย่างการเขียนรัฐธรรมนูญจะต้องปฏิรูป วิธีคิดของตนเอง
สังคมที่จะอยู่ได้ต่อเมื่อประชาชนให้การยอมรับความแตกต่างทางความคิดได้ทั้งด้านเชื้อชาติ ศาสนา เพราะสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่ความแตกแยก การจะเกิดประชาธิปไตยได้ ไม่ใช่ว่าข้างที่มีเสียงมากจะทำได้ทั้งหมด
ดังนั้นประชาธิปไตยจะดำเนินการไปอย่างราบรื่นจะต้องปรับปรุงนโยบาย ไม่มีใครจะทำได้ 100% แต่การปฏิรูปที่จะให้ได้ผล ต่อไปนี้ต้องปฏิรูปภาคการเมือง เพื่อคืนอำนาจให้กับท้องถิ่น มีการปรับโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินในระดับต่างๆ จะช่วยผ่อนคลายความขัดแย้งระหว่างรัฐกับเอกชน การมอบสัมปทานให้นักธุรกิจ จะต้องไม่ให้เกิดการผูกขาด การลงทุนต้องไม่สร้างมลภาวะ
ที่สำคัญมีการปฏิรูปที่เกิดขึ้นต้องไม่ให้เกิดปัญหารัฐบาลกับประชาชน เพราะจะสร้างความขัดแย้ง ในขณะที่ภาคธุรกิจอยู่ตรงกลาง ต้องไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชน กับประชาชน
ปัญหานี้จะแก้ได้เมื่อมีการยอมรับสิทธิ์กันและกัน รวมทั้งไม่ควรให้เกิดความขัดแย้งระบบราชการกับประชาชน ที่บางครั้งกฎกระทรวงบางฉบับก็ต้องได้รับการแก้ไขโดยหัวใจสำคัญในการปฏิรูป การสร้างระบบประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องเกิดจากความพึงพอใจในสังคมไทยพอประมาณ สิ่งเหล่านี้คือคนชาวสยามอยากเห็นและอยากได้รับ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน