สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หยวน ในสงครามชิงเงินสกุลหลักของโลก

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ช่วยกันคิด โดย ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร อรกันยา เตชะไพบูลย์

การแย่งชิงความเป็นมหาอำนาจของโลก ไม่เพียงแต่จะมีการต่อสู้แย่งชิงดินแดน เช่น ในกรณีของอิสราเอลกับปาเลสไตน์ หรือการต่อสู้แย่งชิงทรัพยากร เช่น ในกรณีของรัสเซียและยูเครนเท่านั้น

แต่ในปัจจุบันมีการสู้รบในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งไม่มีการรบราฆ่าฟันกันเหมือนแต่ก่อน แต่เป็นการแย่งชิงความเป็น มหาอำนาจของโลกในเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งคู่ต่อสู้สำคัญที่น่าจับตามองในขณะนี้คือฝั่งซีกโลกตะวันตก นำโดยสหรัฐ และฝั่งซีกโลกตะวันออก นำโดยจีน

ที่ผ่านมา จีนได้รบชนะในหลายสมรภูมิ ทั้งในเรื่องการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งจีนก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก แซงหน้าสหภาพยุโรป สหรัฐ และเยอรมนี และเรื่องขนาดเศรษฐกิจ ซึ่งจีนได้แซงหน้าญี่ปุ่น เยอรมนี และฝรั่งเศส ไปเรียบร้อย ก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก ตามหลังเพียงสหรัฐ ที่ขนาดเศรษฐกิจยังคงใหญ่กว่าจีนเกือบ 2 เท่าตัว

แต่มีอีกสมรภูมิหนึ่ง ซึ่งสหรัฐยังสามารถยึดฐานที่มั่นได้อย่างมั่นคง แม้จีนจะมีความพยายามรุกเข้าตีอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ การผลักดันให้ เงินหยวน เป็น เงินสกุลหลักของโลก (RMB Internationalization) ซึ่งจีนหมายมั่นปั้นมือที่จะผลักดันให้เงินหยวนก้าวขึ้นแท่นเงินสกุลหลักของโลก ที่ในขณะนี้มีเงินดอลลาร์สหรัฐ เงินยูโร และเงินปอนด์ เป็นผู้นำ

โดยล่าสุดในปี"57 การชำระเงินด้วยเงินทั้ง 3 สกุลหลักนี้มีสัดส่วนรวมกันคิดเป็นกว่า 4 ใน 5 ของมูลค่าการชำระค่าสินค้าและบริการทั่วโลก โดยเงินดอลลาร์สหรัฐมีสัดส่วนมากถึงเกือบครึ่งของมูลค่าการชำระเงินทั้งหมดในโลก

แม้การใช้ "เงินหยวน" ในการชำระเงินทั้งหมดในโลกยังมีสัดส่วนน้อยเพียง 1.6% เมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจและขนาดการค้าระหว่างประเทศของจีน ซึ่งผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของจีนมีสัดส่วน 12.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมโลก และมูลค่าการส่งออกของจีนเป็นสัดส่วน 11.1% ของมูลค่าการส่งออกรวมโลก และมูลค่าการนำเข้าเป็นสัดส่วน 9.8% ของมูลค่าการนำเข้ารวมโลก

แต่การใช้ "เงินหยวน" มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว จากที่เมื่อ 2 ปีก่อน การชำระเงินด้วยเงินหยวนถือเป็นอันดับที่ 20 มีสัดส่วนแค่เพียง 0.3% ของมูลค่าการชำระเงินทั้งหมดในโลก ได้ก้าวกระโดดขึ้นมาเป็นอันดับที่ 7 ในปีนี้ มีสัดส่วน 1.6% หรือเป็นการเพิ่มขึ้นถึงกว่า 5 เท่า

การเพิ่มขึ้นของปริมาณการชำระเงินด้วยเงินสกุลหยวนนี้ไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เป็นผลจากการวางแผนยุทธการและการผลักดันอย่างค่อยเป็นค่อยไปแต่ต่อเนื่องของทางการจีน ซึ่งทางการจีนทราบดีว่าจะต้องยอมเสียสละ เพลี่ยงพล้ำในบางสนามรบ เพื่อแลกกับการมุ่งสู่ชัยชนะในสงครามการผลักดันเงินหยวนขึ้นแท่นเงินสกุลหลักของโลก

สมรภูมิที่ทางการจีนรุกคืบมากที่สุดคือ อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวน ซึ่งทางการจีนได้ยอมผ่อนปรนให้มีการเคลื่อนไหวเป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น โดยจากเดิมที่ได้ "ตรึงค่าเงินหยวน" ต่อดอลลาร์สหรัฐในลักษณะค่อนข้างอ่อน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการส่งออก ได้เปลี่ยนมาเป็น "ระบบลอยตัว" ภายใต้การจัดการ โดยกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนรายวันและอนุญาตให้ค่าเงินหยวนเคลื่อนไหวได้ภายในกรอบที่กำหนด ซึ่งได้ขยายกรอบให้กว้างขึ้นเป็นระยะเพื่อให้เป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้ง ธนาคารชำระดุลหยวน (RMB Clearing Bank) ในหลายประเทศ เช่น ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร เพื่ออำนวยความสะดวกในการชำระเงินหยวนและขยายช่องทางการเข้าถึงเงินหยวน และมีการทำความตกลงทวิภาคี ว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเงินสกุลท้องถิ่น (Bilateral Currency Swap Agreement) กับธนาคารกลางในหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย อินโดนีเซีย นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย เพื่อสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนเงินสกุลท้องถิ่นระหว่างกัน

สมรภูมิต่อมาที่ทางการจีนบุกอย่างค่อยเป็นค่อยไปคือการผ่อนปรนการเคลื่อนย้ายเงินทุนให้เสรีมากขึ้น โดยยอมให้มีการลงทุนและระดมทุนในสกุลเงินหยวนได้บ้าง เช่น การเปิดบัญชีฝากเงินหยวนให้แก่ลูกค้ารายย่อยในธนาคารในต่างประเทศ การออกหุ้นกู้สกุลเงินหยวนหรือ Dim Sum Bond นอกประเทศ และการให้บริษัทต่างชาติสามารถเข้ามาออกหุ้นกู้สกุลเงินหยวนหรือ Panda Bond ในจีน และประกาศให้เซี่ยงไฮ้เป็นเขตบูรณาการการค้าเสรี เพื่อทดลองเปิดเสรีบัญชีทุนและการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์จีน

อย่างไรก็ตาม การลอยตัวค่าเงินหยวนให้เป็นไปตามกลไกตลาด และการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเต็มรูปแบบ จะยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ ที่ระบบการเงินการธนาคารของจีนยังคงไม่พร้อม เพราะจะก่อให้เกิด "ความเสี่ยง" ที่เป็นอันตรายหลายอย่าง โดยเฉพาะเงินทุนมหาศาลที่จะทะลักไหลเข้าเพื่อเก็งกำไรในจีน ดังเช่นในช่วงต้นปี"56 ส่งผลให้ธนาคารกลางจีนต้องเข้ามาแทรกแซง

ดังนั้น การเปิดเสรีภาคการเงินของทางการจีนจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามลักษณะการดำเนินนโยบายของทางการจีนที่จะต้องทดลองในกรอบจำกัดให้แน่ใจก่อนขยายนโยบายไปสู่วงกว้าง

ด้วยเหตุนี้ การต่อสู้ของจีนจึงยังต้องใช้เวลาและความพยายามอีกระยะ กว่าที่เงินหยวนจะได้รับชัยชนะในการชิงชัยตำแหน่งเงินสกุลหลักของโลกได้ ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่าการผลักดันให้หยวนเป็นเงินสกุลหลักของโลกจะได้คุ้มเสียหรือไม่ หรือจะเข้าทำนองชนะสนามรบย่อย แต่แพ้สงคราม (winning a battle but losing a war)


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : หยวน สงครามชิง เงินสกุลหลักของโลก

view