สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โรงไฟฟ้าชีวมวล ...แหล่งพลังงานทางเลือก

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์เปิดมุมมอง โดย ประยุทธ คำเรืองศรี ทีมกรุ๊ป

"โรงไฟฟ้าชีวมวล" เป็นการผลิตไฟฟ้าทางเลือก ซึ่งในประเทศไทยมีการก่อตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลขึ้นหลายแห่ง แต่การที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลขึ้นได้นั้นจะต้องพิจารณาหลายปัจจัย

โรง ไฟฟ้าชีวมวล คือ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ผลิตไฟฟ้าจากวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรแปรรูป หรือกากที่เหลือจากกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เช่น ชานอ้อย เหง้ามันสำปะหลัง ใยกะลาปาล์ม แกลบ และซังข้าวโพด มาเป็นเชื้อเพลิงป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้าเพื่อผลิตไฟฟ้าจ่ายเข้าระบบ โดยมากเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) และโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP)

การ ก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลต้องมีการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ความเป็นไปได้ ในด้านต่าง ๆ ดังนี้ 1.การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ได้แก่ รายละเอียดโครงการ อาทิ สถานที่ตั้งโครงการ ซึ่งควรอยู่ใกล้แหล่งชีวมวลและจุดเชื่อมโยงเข้าระบบไฟฟ้าหรือสถานีย่อยของ ไฟฟ้า และควรห่างจากชุมชนเพื่อลดผลกระทบระหว่างการก่อสร้างและดำเนินการ ขนาดพื้นที่ที่ต้องการ และการจัดผังพื้นที่บริเวณโครงการ เป็นต้น

 

ปริมาณชีวมวลในพื้นที่เพียงพอหรือไม่ พร้อมพิจารณาราคาค่าขนส่งและความเสี่ยงด้านราคาของชีวมวลที่เปลี่ยนแปลงตาม อุปสงค์-อุปทานและฤดูกาลผลผลิต เทคโนโลยีการผลิต ได้แก่ กำลังผลิต ระบบการผลิตไฟฟ้า ระบบการผลิตไอน้ำ การใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ข้อกำหนดเบื้องต้นของอุปกรณ์ที่จะนำมาใช้กับชีวมวลแต่ละชนิด จนถึงระบบส่งไฟฟ้าถึงจุดเชื่อมโยงเข้าระบบของการไฟฟ้า

การศึกษาแหล่ง น้ำ มีแหล่งน้ำที่เพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้าและไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน นอกจากนี้จะต้องเก็บข้อมูลและวิเคราะห์คุณภาพน้ำ แผนเบื้องต้นการส่งน้ำดิบ ตลอดจนวิธีการที่จะใช้ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำดิบ การกำจัดของเสียจากโรงไฟฟ้า จะต้องไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งน้ำเสีย ขี้เถ้า และมวลสาร การวางแผนดำเนินโครงการ ได้แก่ การประเมินราคาโครงการเบื้องต้น ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและบำรุงรักษา ควรเริ่มจากการศึกษาหาแหล่งเงินทุน ออกแบบ และข้อกำหนด จัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ ระยะเวลาก่อสร้าง จนกระทั่งกำหนดการจ่ายไฟเข้าระบบ

 




2.การ พิจารณาด้านการเงินและจัดหา แหล่งเงินทุน คำนวณหาผลตอบแทนการลงทุนของโครงการ ว่าอยู่ในระดับดีหรือไม่ และควรศึกษาแหล่งเงินสำหรับการดำเนินการโครงการ เช่น เงินทุนของผู้ประกอบการ การสนับสนุนจากภาครัฐ ดอกเบี้ย เงินกู้ แหล่งเงินทุนจากนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

3.การทำความ เข้าใจกับชุมชน ผู้ประกอบการควรทำการศึกษาผลกระทบต่อชุมชนจากการสร้างโรงไฟฟ้า และเผยแพร่ข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง สร้างความยอมรับจากชุมชนหรือประชาชนทั่วไป

4.การออกแบบโรงไฟฟ้า การออกแบบและกำหนดขนาดของอุปกรณ์เบื้องต้น เพื่อนำไปใช้ในการจัดทำข้อกำหนดทางวิศวกรรม และจัดทำรายละเอียดทางเทคนิคและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในโรงไฟฟ้า

โดย เทคโนโลยีจะแบ่งได้ดังนี้ โรงไฟฟ้า แบบใช้หม้อไอน้ำ (Boiler) เหมาะกับกำลังการผลิตระดับกลางถึงระดับสูง ขนาดตั้งแต่ 1 เมกะวัตต์ขึ้นไป โดยนำเชื้อเพลิงชีวมวลมาเผาไหม้ในหม้อไอน้ำ ภายใต้กระบวนการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ในเตาเผา ความร้อนที่ได้จากการเผาไหม้จะถูกนำไปใช้ในการต้มน้ำ เพื่อผลิตไอน้ำที่มีอุณหภูมิและความดันสูง ซึ่งจะถูกนำไปใช้ขับกังหันไอน้ำที่ต่ออยู่กับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Turbine Generator) เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจ่ายเข้าระบบในโรงงานอุตสาหกรรมอย่างโรงงานน้ำตาล โรงงานกระดาษ โรงงานอาหาร ยังนำไอน้ำที่ผ่านกังหันผลิตไฟฟ้า (Condensing Turbine) มาใช้ประโยชน์ในรูปแบบความร้อนในกระบวนการผลิต เช่น การอบแห้ง หรือการแปรรูปอาหารต่าง ๆ โดยการผลิตไอน้ำและไฟฟ้าร่วมกันนี้เรียกว่าระบบผลิตไฟฟ้าและความร้อนร่วม ซึ่งเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพในการใช้เชื้อเพลิงสูง

(ดูรูป การเผาไหม้โดยตรงของชีวมวลในหม้อต้มน้ำ เพื่อผลิตไอน้ำใช้ขับกังหันผลิตไฟฟ้า)

โรง ไฟฟ้าแบบไม่ใช้หม้อไอน้ำ เช่น เทคโนโลยี Gasification หรือ Pyrolysis เหมาะสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็ก โดยใช้ความร้อนสลายโมเลกุล เปลี่ยนเชื้อเพลิงชีวมวลให้เป็นก๊าชเชื้อเพลิง นำไปใช้กับเครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine) ต่อเข้ากับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า

กระบวนการ Gasification จะทำให้เกิดการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงชีวมวลแบบไม่สมบูรณ์ ด้วยการจำกัดออกซิเจน โดยสารประกอบไฮโดรคาร์บอนจะแตกตัวในสภาวะที่มีการควบคุมปริมาณออกซิเจนในสัด ส่วนที่ต่ำกว่าค่าที่ทำให้เกิดการเผาไหม้สมบูรณ์ (Lower Stoichiometric Fuel Air Ratio) เกิดการออกซิเดชั่นบางส่วนกับออกซิเจน ไอน้ำ หรือคาร์บอนไดออกไซด์ เปลี่ยนชีวมวลที่อยู่ในรูปของแข็งที่มีองค์ประกอบหลัก คือ คาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน ให้กลายเป็นก๊าซที่เผาไหม้ได้ ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซไฮโดรเจน และก๊าซมีเทน หรือเรียกว่าก๊าซสังเคราะห์ ก๊าซเชื้อเพลิงเหล่านี้เมื่อถูกป้อนเข้าสู่เครื่องยนต์จะมีหลักการคล้ายกับ เครื่องยนต์แก๊สทั่วไป คือจะถูกเผาไหม้แล้วเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนขับดันลูกสูบเปลี่ยนเป็น พลังงานกล ขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพื่อผลิตไฟฟ้าต่อไป

(ดูรูป กระบวนการ Gasification เพื่อผลิตก๊าซเชื้อเพลิง เข้าสู่เครื่องยนต์ผลิตไฟฟ้า)

5.การ ติดต่อขออนุญาตจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ การขออนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้า การใช้ที่ดิน และขออนุญาตจำหน่ายไฟฟ้า รวมไปถึงข้อกฎหมาย และกฎระเบียบอื่น ๆ 6.การดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ประกอบด้วยการเปิดประมูลหรือสอบราคา เพื่อว่าจ้างผู้รับเหมามาดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งการดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแบ่งได้ 2 ขั้นตอน คือขั้นตอนก่อสร้างโรงไฟฟ้า และขั้นตอนการเชื่อมต่อโรงไฟฟ้ากับระบบสายส่ง

7.การ เริ่มใช้งานและการบริหารโรงไฟฟ้า การบริหารโรงไฟฟ้าเป็นส่วนที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากจะมีผลต่อความสามารถในการจำหน่ายไฟฟ้า และจะส่งผลต่อต้นทุนในการดำเนินการ ผู้ประกอบการจะต้องคำนึงถึงการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งแผนซ่อมบำรุงประจำปี แผนการจัดซื้อวัตถุดิบระหว่างการดำเนินการ และแผนการจ่ายไฟฟ้าในช่วง Peak หรือ Off Peak

นอกเหนือจากนั้น การดำเนินโครงการยังมีการศึกษาวิเคราะห์ทั่วไป เช่น การศึกษาทางด้านสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ด้านเศรษฐกิจและสังคม ด้านนโยบายของรัฐ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือการประเมินสำรวจและจัดทำรายงานอื่น ๆ ตามกฎหมาย และเป็นการเสริมสร้างความมั่นใจให้แก่ชุมชนมากยิ่งขึ้น


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : โรงไฟฟ้าชีวมวล แหล่งพลังงานทางเลือก

view