จากประชาชาติธุรกิจ
ก่อนเข้าสู่ปี 2558 ไม่กี่วัน รัฐบาล "บิ๊กตู่" หรือ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ได้ "ตีปี๊บ" แถลงผลการทำงานรอบ 3 เดือนแรก เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. พร้อมทั้งแจกแจงงานที่จะทำในระยะข้างหน้า รวมทั้งให้รองนายกรัฐมนตรีแต่ละด้านร่วมแถลงด้วย
หากวัดผลงานกันเป็นตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) เติบโต "ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล" รองนายกรัฐมนตรี หัวเรือใหญ่ด้านเศรษฐกิจ ก็แสดงความมั่นใจว่า มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลผลักดันออกไป เช่น การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็กำลัง "เห็นผล" มากขึ้น ทั้งล้างท่องบฯลงทุน, งบฯกลาง รวมกับงบฯไทยเข้มแข็ง 23.000 ล้านบาท, การจ่ายเงินชาวนา-ชาวสวนยางยอดรวมราว 4 หมื่นล้านบาท ฯลฯ ก็น่าจะทำให้ไตรมาส 4/57 โตได้ 3% และทั้งปี 2557 จีดีพีโต 1%
ส่วนปี 2558 "คุณชายอุ๋ย" มองว่าเศรษฐกิจไทยจะ "ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง" กลับมาขยายตัวได้ในระดับ 4.5% โดยเฉพาะไตรมาสแรกจะโตได้ไม่ต่ำกว่า 4%
นอกจากด้านการ "ล้างท่อ" ใช้งบประมาณต่าง ๆ แล้ว ก็ยังเดินหน้าปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุน, มาตรการส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (IHQ) และบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (ITC) ซึ่งคลังจะเข้ามาช่วยด้านการยกเว้นภาษี, การเตรียมจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน
ขณะที่ "มาตรการด้านการคลัง" เดินตาม "โรดแมประยะที่ 2" ที่มีความคืบหน้าไปตามลำดับ อาทิ การเสนอกฎหมายภาษีมรดก ซึ่งอยู่ในชั้นการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), มาตรการสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อย (Nano-Finance) ที่จะออกประกาศกระทรวงการคลัง เพื่อเปิดให้ผู้สนใจทำธุรกิจนี้มายื่นขอรับใบอนุญาตได้ในช่วงหลังเทศกาลปีใหม่นี้
มาตรการจัดตั้งกองทุนร่วมทุนหรือเวนเจอร์แคปิตอลเพื่อลงทุนในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs)วงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาทซึ่งจะแต่งตั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง, การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยปรับขยายช่วงกำไรสุทธิจากเดิมกำหนดช่วงเกิน 3 แสนบาท แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท เป็นช่วงที่เกิน 3 แสนบาท แต่ไม่เกิน 3 ล้านบาท ให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 15%,
รวมไปถึงการออกพันธบัตรออมทรัพย์รุ่น "สุขกันเถอะเรา" วงเงินรวม 1 แสนล้านบาท เน้นขายรายย่อยเป็นหลัก, มาตรการปรับลดภาษีศุลกากรให้แก่กลุ่มวัตถุดิบ จำนวน 1,532 ประเภทย่อย เหลือ 0% และ 10% และยังมีการเสนอแก้ไขกฎหมายอีกหลาย ๆ ฉบับที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.แล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช. ในขั้นกรรมาธิการ เช่น ร่าง พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน, ร่าง พ.ร.บ.แปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ เป็นต้น
ผลงานที่ทยอยออกมาเป็นรูปธรรมเหล่านี้ "กฤษฎา จีนะวิจารณะ" ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง บอกว่าหลายๆ มาตรการทางด้านการคลัง ตามโรดแมประยะที่ 2 ได้ถูกขับเคลื่อนผลักดันไปมากพอสมควรในช่วงปี′57 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามแผนกรอบระยะเวลา 1 ปี (ปีงบประมาณ 2558)
"ที่ผ่านมาเราทำได้ตามโรดแมป และบางเรื่องก็ทำได้เร็วกว่าโรดแมปด้วยซ้ำไป อย่าง IHQ ก็เลื่อนมาเร็วขึ้นเป็นเสร็จก่อนปีใหม่ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือ SMEs ที่เป็นการปรับอัตราภาษี ก็เลื่อนมาทำเร็วขึ้นกว่ากำหนดเดิม ส่วนเวนเจอร์แคปิตอลไม่ได้อยู่ในโรดแมปตั้งแต่แรก เป็นสิ่งที่คิดใหม่ แล้วก็ทำกันเลย"
แต่ก็ยังมีบางมาตรการต้องใช้เวลาในการศึกษาเพิ่มเติม อาทิ การนำระบบภาษีและเงินโอน หรือ "เงินโอน แก้จน คนขยัน" โดย "กฤษฎา" ยอมรับว่า เรื่องนี้ สศค.ต้องกลับมาศึกษาต่อ หลังจากผ่านกระบวนการนำเสนอหลักการต่อสาธารณะแล้ว ซึ่งหากได้ข้อสรุปเร็ว ก็อยากจะเสนอรัฐบาลพิจารณาภายในปี 2558 นี้ด้วยเช่นกัน
ดังนั้น งานในมือของรัฐบาลในปี 2558 ภายใต้โรดแมประยะที่ 2 ที่กระทรวงการคลังเสนอไว้ ยังมีอีกหลาย ๆ เรื่องที่ขุนคลัง "สมหมาย ภาษี" และ "วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ" รมช.คลัง ต้องแท็กทีมกันผลักดันให้ชัดเจน ซึ่งที่สำคัญ ๆ ได้แก่ 1) การเสนอกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2) การปรับปรุงกฎหมายสรรพสามิตทั้งระบบก่อนที่จะเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) 3) การเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เช่น ภาษีเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์อย่างกรณีชาเขียว เป็นต้น, การเสนอร่าง พ.ร.บ.ภาษีมลพิษทางน้ำ
นอกจากนี้ ยังต้องสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการลดหย่อนภาษีแก่กองทุนลงทุนหุ้นระยะยาว (LTF) ว่าจะขยายเวลาต่อไปหรือไม่ ซึ่งขุนคลังระบุว่า จะชัดเจนประมาณปลายไตรมาสแรกที่จะถึงนี้ เช่นเดียวกับการประเมินราคาที่ดินทั่วประเทศ 30 ล้านแปลง ซึ่งต้องการเร่งรัด เพื่อรองรับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
อย่างไรก็ดี ยังมีอีกหลายเรื่องที่กระทรวงการคลังต้องทำให้ชัด เช่น การลดภาษีนิติบุคคลให้เหลือ 20% เป็นการถาวร, การปรับโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดา และการพิจารณาค่าลดหย่อนต่าง ๆ ให้เหมาะสมรวมถึงการพิจารณาว่าจะต่ออายุการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เหลือ 7% ต่อไปอีก เมื่อครบอายุมาตรการในวันที่ 1 ต.ค. 2558 หรือจะปรับขึ้นเป็น 9% หรือ 10%
จะเห็นได้ว่า ภารกิจของกระทรวงการคลังในยุคชูธง "ปฏิรูป" นี้ ส่วนใหญ่เป็นการ "สังคายนา" ด้านภาษี โดยมีหลายเรื่องทำไปแล้ว และอีกหลายเรื่องยังไม่ได้ทำ ซึ่งต้องผลักดันในปี 2558 นี้
ปีนี้เรียกว่ามีหลายเรื่องที่เป็น "โจทย์ยาก" โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงด้านภาษี อย่างเช่นกรณีการปรับขึ้นภาษี VAT ซึ่งข้าราชการระดับผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดรัฐบาล กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ภาษี VAT น่าจะไม่มีการปรับขึ้นแน่นอน เนื่องจากไม่ต้องการให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน สอดรับไปกับที่นายกฯ "บิ๊กตู่" ย้ำในวันแถลงผลงาน 3 เดือนว่า เรื่อง "มาตรการทางภาษี" ที่จะทำในระยะข้างหน้า ถ้าอะไรที่ทำให้ประชาชน "เดือดร้อน" ก็สามารถ "ชะลอได้"
ระดับนายกรัฐมนตรีส่งสัญญาณมาขนาดนี้ ภารกิจ "ปฏิรูปด้านภาษี" ของกระทรวงการคลังคงต้องออกแรงกันมากขึ้น ไม่ได้ "ทางสะดวก" เหมือนช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาแล้ว
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน