จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
หมอกระดูก เตือนเด็กไทย นั่งหน้าคอม-ไม่วิ่งเล่น-กลัวแดด แก่ตัวเสี่ยงกระดูกพรุน แนะออกกำลังกายแบบลงน้ำหนักเท้า
รับแสงแดดให้เพียงพอ ระบุอัตราตายจากสะโพกหักในกระดูกพรุนเทียบเท่าอัตราตายจากมะเร็งเต้านม
ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย รศ.นพ.พงษ์ศักดิ์ ยุกตะนันท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า การป้องกันภาวะกระดูกและมวลกล้ามเนื้อลดลงในผู้สูงวัย ในส่วนของมวลกระดูกต้องพิจารณาตั้งแต่วัยเด็ก กล่าวคือ หากวัยเด็กมีการวิ่งเล่น กระโดดโลดเต้นสม่ำเสมอ รับแสดงแดดยามเช้าอย่างพอเหมาะ รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมเพียงพอประกอบมีพันธุกรรมที่พ่อแม่มีมวลกระดูกที่ดี บุคคลนั้นก็จะมีมวลกระดูกที่ดี โดยมวลกระดูกสูงสุดจะอยู่ในช่วงอายุ 30 ปี จากนั้นมวลกระดูกจะลดลงราว 0.3-0.5 % ต่อปี และหากลดลงถึง 30 % ถือว่ามีภาวะกระดูกพรุน ซึ่งกระบวนการนี้อาจใช้เวลา 60 ปี ภาวะกระดูกพรุนจึงมักพบในผู้สูงอายุ โดยพบว่าผู้หญิงอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 1 ใน 3 ขณะที่ผู้ชายอายุ 70 ปีขึ้นไปราว 1 ใน 4 มีภาวะกระดูกพรุน การรักษาจะให้รับประทานยาที่คล้ายฮอร์โมนเพื่อลดการสูญเสียของมวลกระดูก ป้องกันกระดูกบาง และต้องลดความเสี่ยงในการที่จะทำให้กระดูกหัก โดยเฉพาะสะโพก ข้อมือและกระดูกสันหลัง
“หากสังเกตอาการ มีการล้มข้อมือหัก ตัวเตี้ยหรือหลังค่อมลง ปวดหลัง เป็นสัญญาณอันตรายแสดงว่ากระดูกเริ่มพรุน และหากกระดูกสะโพกหัก จะทำให้เดินไม่ได้ ต้องเข้ารับการผ่าตัด แต่เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุจึงอาจไม่มีความพร้อมในการผ่าตัด ซึ่งอัตราตายจากการที่สะโพกของผู้ที่กระดูกพรุนในผู้สูงอายุ พอๆกับอัตราตายจากมะเร็งเต้านม”รศ.นพ.พงษ์ศักดิ์กล่าว
สำหรับมวลกล้ามเนื้อ ในวัยผู้สูงอายุมวลกล้ามเนื้อจะทำงานได้น้อยลง ยกของหนักไม่ค่อยได้ เนื่องจากมวลกล้ามเนื้อลดลงหรือกล้ามเนื้อถดถอย ยิ่งอายุมากมวลกล้ามเนื้อจะลดลง โดยหากมวลกล้ามเนื้อลดลง 30 % ถือว่ามีภาวะมวลกระดูกพร่อง ทำให้การทรงตัวไม่ดี หกล้มและกระดูกหักได้ การรักษาในผู้สูงอายุ อาจให้มีการยกน้ำหนักบ้างเล็กน้อย ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เช่น ปั่นจักรยาน หรือเดิน เป็นต้น
รศ.นพ.พงษ์ศักดิ์ กล่าวอีกว่า การป้องกันภาวะกระดูกและมวลกล้ามเนื้อลดลง ควรเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก ให้เด็กได้วิ่งเล่น ออกกำลังกาย เพื่อให้มีพัฒนาการที่ดีและสร้างความแข็งแรงของมวลกระดูกและมวลกล้ามเนื้อ ไม่ใช่นั่งแต่เฉพาะหน้าคอมพิวเตอร์ หลบอยู่ในมุมใดมุมหนึ่งของบ้าน โดยไม่ได้รับแสงแดดที่เหมาะสม เพราะหากมีพฤติกรรมเช่นนี้ตั้งแต่เด็กเมื่อสูงวัยขึ้น มีโอกาสเสี่ยงที่กระดูกพรุนสูงกว่ากลุ่มเด็กที่ได้วิ่งเล่น รับแสดงแดด ทั้งนี้ มีการศึกษาของรพ.รามาธิบดี ที่ทำการเจาะเลือดวัดปริมาณวิตามินดี พบว่า คนอายุ 18-24 ปีต่ำที่สุด อาจเป็นเพราะวัยรุ่นไม่ถูกแดด ไม่ออกกำลังกาย ซึ่งจะมีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกพรุน ส่วนการป้องกันในคนที่อายุ 30 ปีขึ้นไป ควรให้ร่างกายได้รับแสงแดดสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีแคลเซียม ลดพฤติกรรมเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และออกกำลังกายที่เหมาะสมเพียงพอ นอกจากนี้ ผู้หญิงถ้ารักษาการมีประจำเดือนจนถึงอายุประมาณ 50 ปี ร่างกายจะมีฮอร์โมนนาน ช่วยส่งเสริมให้ไม่เกิดภาวะกระดูกพรุนเร็ว
“การออกกำลังกายควรเป็นแบบลงน้ำหนักเท้าแตะพื้น เช่น เดิน วิ่ง เนื่องจากแรงที่ลงน้ำหนักที่ส้นเท้าจะผ่านเชิงกราน ไปสู่กระดูกสันหลัง กระตุ้นสารในร่างกาย สร้างกระดูกทำให้กระดูกทั่วร่างกายแข็งแรง โดยคนทั่วไปควรออกกำลังกาย 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 20-30 นาที ส่วนวัยเด็กควรออกกำลังกาย 5 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละอย่างน้อย 45 นาที”รศ.นพ.พงษ์ศักดิ์กล่าว
อนึ่ง ระหว่างวันที่ 22-24 พฤษภาคม 2558 สภากาชาดร่วมกัหบโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จัดการประชุมวิชาการแห่งชาติ ด้านสูงวัยและผู้สูงอายุ ครั้งที่ 3 เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สอบถามเพิ่มเติมโทร 02-256-4455 ,02-256-4466 ต่อ 13-18
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน