จากประชาชาติธุรกิจ
ขุนคลังขอดูผลลัพธ์มาตรการเพิ่มค่าลดภาษี ลงทุน "อาร์แอนด์ดี" 300% ก่อนพิจารณาข้อเสนอเรื่องค่าลดหย่อน "เงินบริจาค" กองทุนวิจัย ลั่นต่อไปมาตรการสิทธิทางภาษีต่างๆ จำกัดกรอบเวลา
จาก ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอให้เรื่องมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลสำหรับการบริจาคเงินเข้ากองทุนที่เกี่ยวข้องกับการ วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมนั้นนายสมหมายภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ข้อเสนอดังกล่าวคงต้องพิจารณารายละเอียดก่อน เนื่องจากล่าสุดรัฐบาลเพิ่งเห็นชอบมาตรการเพิ่มการลดหย่อนภาษีเงินได้ นิติบุคคล สำหรับค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (R&D) จาก 2 เท่า เป็น 3 เท่า (หรือ 200% เป็น 300%) ของรายจ่ายที่ใช้ในการทำ R&D
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้การพิจารณามาตรการลดหย่อนภาษีต่าง ๆ จะไม่มีการให้เป็นการถาวร หรือไม่จำกัดระยะเวลาอีก แต่จะกำหนดกรอบเวลาไว้ทั้งหมด
ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า มาตรการเพิ่มค่าลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับค่าใช้จ่ายการทำ R&D ตอนนี้กรมสรรพากรอยู่ระหว่างดำเนินการเสนอร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป โดยค่าใช้จ่าย R&D จะต้องไม่เกินค่าใช้จ่ายสูงสุดที่กระทรวงการคลังร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯกำหนด
โดยมีกำหนดระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี 5 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2558 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2562 นอกจากนี้ โครงการ R&D ที่ได้รับยกเว้นภาษีจะต้องได้รับการตรวจสอบและรับรองโครงการจากสำนักงาน พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)และหน่วยงานที่กระทรวงการคลัง กำหนด
"มาตรการใหม่จะให้สิทธิ์ทั้งกรณีจ้างทำR&D หรือบริษัทไหนจะทำเองก็ได้ มีกำหนดกรอบเวลาให้ใช้สิทธิ์ได้ใน 5 ปี เพราะต่อไปมาตรการลดหย่อนภาษีเหล่านี้ต้องมีอายุ ไม่ใช่ให้แบบไม่มีขีดจำกัด"
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ส่วนข้อเสนอกระทรวงวิทย์เรื่องขอลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล สำหรับการบริจาค R&D อีกนั้นเป็นเรื่องที่เคยคุยกัน แต่กระทรวงการคลังยังไม่ได้อนุมัติ เพราะเห็นว่าควรจะผลักดันมาตรการที่ให้ไปแล้วให้เกิดผลก่อนว่าจะสามารถสนับสนุนให้มีการทำ R&D เพิ่มได้หรือไม่ ซึ่งมาตรการใหม่ได้ปรับปรุงกระบวนการอนุมัติโครงการไปด้วย เพราะของเดิมล่าช้ามาก ดังนั้นต้องพิสูจน์ว่าสามารถดึงรายใหม่ ๆ เข้ามาได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ไม่ใช่มีแต่บริษัทใหญ่ ๆ ที่ต้องทำอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมามีการใช้สิทธิ์แค่ปีละไม่กี่ร้อยล้านบาท
ขณะที่รายงานจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติมาตรการทางภาษีในเรื่อง R&D ที่ผ่านมาค่อนข้างล่าช้า ต้องใช้เวลาในการพิจารณาอนุมัติราว 9-12 เดือน ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าว โดยในปี 2555 มีผู้ใช้สิทธิ์แค่ 440 ล้านบาทเท่านั้น
ขณะที่นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า มาตรการที่ใช้อยู่เดิมเกี่ยวกับการส่งเสริมการทำ R&D นั้น มีการใช้สิทธิประโยชน์ค่อนข้างน้อย แต่ไม่ใช่เกิดจากเงื่อนไขกรมสรรพากร แต่เกิดจากขั้นตอนการพิจารณากลั่นกรองที่ต้องผ่านสภาวิจัยฯ และทางสภาวิจัยฯก็ต้องอาศัยงบประมาณ ไม่ได้เรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ประกอบการ จึงทำได้อย่างค่อนข้างจำกัด และใช้เวลาพิจารณาค่อนข้างนาน ทั้งนี้ สำหรับมาตรการใหม่เชื่อว่าจะทำให้มีการมาใช้สิทธิประโยชน์นี้ได้ง่ายขึ้น
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน