สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปฏิรูปองค์กรอิสระ-เพิ่มอำนาจ-ยุบรวม

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ข้อสรุปการร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราในส่วนขององค์กรอิสระ ซึ่งคณะ กมธ.ยกร่างฯ ได้เปลี่ยนแปลงตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ อย่างในชื่อหมวดหมู่คณะ กมธ.ยกร่างฯ ก็ได้จัดการเปลี่ยนชื่อให้ใหม่เป็น "องค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ" จากเดิมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ใช้ชื่อว่า "องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ"

เหตุผลของการเปลี่ยนชื่อดังกล่าวมาจากความต้องการให้ของคณะ กมธ.ยกร่างฯ เองที่ต้องการย้ำในหน้าที่ขององค์กรอิสระที่ต่างๆ ในการตรวจสอบอำนาจรัฐให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

สำหรับองค์กรอิสระที่ถูกคณะ กมธ.ยกร่างฯ ปฏิรูปอย่างมีนัยสำคัญ คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยคณะ กมธ.ยกร่างฯ ได้ลดทอนอำนาจของ กกต.ลง จากเดิมที่ กกต.จะมีอำนาจหน้าที่ทั้งการจัดการเลือกตั้งเพื่อให้ประชาชนมาลงคะแนน และการวินิจฉัยคดีทุจริตเลือกตั้ง

ในเรื่องอำนาจการจัดการเลือกตั้งนั้นคณะ กมธ.ยกร่างฯ ได้ออกแบบให้เป็นหน้าที่ของ "คณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง" (กจต.) ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่งตั้งจากข้าราชการในแต่ละหน่วยงาน หน่วยงานละ 1 คน มีหน้าที่ดำเนินการจัดการเลือกตั้ง สส. สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งการออกเสียงประชามติ

ขณะที่ กกต. ยังมีคน 5 คนตามเดิม และถึงแม้จะถูกริบอำนาจการจัดการเลือกตั้ง แต่อำนาจการสอบสวนยังคงเป็นของ กกต.ตามเดิม ไม่ว่าจะเป็นการออกระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินการของพรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ไปจนถึงข้อห้ามการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในช่วงที่มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร และมีหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค เพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครที่ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง

ไม่เพียงเท่านี้ กกต.มีหน้าที่คุมการทำงานของ กจต.อีกชั้นหนึ่ง ผ่านการให้ กกต.สอบสวนทางวินัยกับ กจต.บางรายที่มีการดำเนินการจัดการเลือกตั้งโดยไม่สุจริตเที่ยงธรรม และเมื่อ กกต.ได้ไต่สวน กจต.คนใดเสร็จสิ้นแล้วและเห็นว่ามีความผิด ให้ส่งรายงานไปให้ผู้บังคับบัญชาของผู้กระทำความผิดพิจารณาลงโทษทางวินัยต่อไป

มากันที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในช่วงแรกคณะ กมธ.ยกร่างฯ มีแนวคิดจะให้ลดวาระการดำรงตำแหน่งจาก 9 ปี ให้เหลือเพียง 6 ปี เพื่อให้เท่ากับองค์กรอื่นๆ แต่ที่สุดแล้วที่ประชุมก็ให้คงวาระของ ป.ป.ช.ไว้ตามเดิม เนื่องจากเห็นว่า ป.ป.ช.เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่กึ่งตุลาการ จึงควรให้มีระยะเวลาการทำงานที่มากพอ เพื่อให้การทำงานเกิดความต่อเนื่อง

ทั้งนี้ คณะ กมธ.ยกร่างฯ ไม่ได้ลงมือเปลี่ยนแปลงในเรื่องอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.มากเท่าไหร่นัก เพียงแต่ได้เขียนถ้อยคำถึงการไต่สวนบุคคลของ ป.ป.ช.ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยระบุว่า "คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีอำนาจหน้าที่ไต่สวนและวินิจฉัยว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้พิพากษา ตุลาการ ข้าราชการอัยการ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในหน่วยงานของรัฐ ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม รวมทั้งตัวการ ผู้ใช้ และผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าวด้วย"

ขณะเดียวกัน ป.ป.ช.ยังมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลปกครองด้วย ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยจะเป็นคดีเกี่ยวกับวินัยการคลังและการงบประมาณ เพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายบริหารในอนาคตใช้งบประมาณแผ่นดินในทางที่ไม่ถูกต้อง

ส่วนคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ยังคงมีอยู่เหมือนเดิม แต่ให้มีอำนาจฟ้องศาลปกครองเพื่อพิจารณาในกรณีที่ฝ่ายบริหารใช้จ่ายเงินแผ่นดินอันที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ

อย่างไรก็ตาม มีองค์กรอิสระบางองค์กรที่ถูกควบรวมและยุบด้วย อย่างในกรณีของ “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ”และ “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ปรากฏว่า คณะ กมธ.ยกร่างฯ มีความเห็นให้รวมสององค์กรนี้เข้าด้วยกันและเปลี่ยนชื่อเป็น "ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิของประชาชน” โดยให้มีกรรมการจำนวน 11 คน และยังคงอำนาจหน้าที่ของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและผู้ตรวจการแผ่นดินตามเดิมทุกประการ

การควบรวมดังกล่าว คณะ กมธ.ยกร่างฯ มีเจตนาต้องการให้เกิดการรวมศูนย์ในการคุ้มครองสิทธิและการให้ความยุติธรรมกับประชาชนไว้ที่องค์กรเดียว ไม่กระจัดกระจายเหมือนที่ีผ่านมา

สำหรับองค์กรอิสระที่ถูกยุบ คือ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพราะเห็นการทำงานที่ผ่านมาไม่เกิดประสิทธิภาพตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

เหนืออื่นใด ใช่ว่าองค์กรอิสระจะมีหน้าที่ตรวจสอบคนอื่นแต่เพียงฝ่ายเดียว เพราะตัวเองก็ต้องถูกตรวจสอบด้วยเช่นกัน โดยองค์กรที่จะเข้ามาตรวจสอบการทำงานขององค์กรอิสระ คือ คณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ มีหน้าที่ตรวจการบ้านเป็นรายปี และแจ้งให้กับองค์กรนั้นและประกาศให้สาธารณชนรับทราบ ซึ่งในอนาคตจะมีกฎหมายมากำหนดขั้นตอนการตรวจสอบในเรื่องนี้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปฏิรูปองค์กรอิสระ เพิ่มอำนาจ ยุบรวม

view