สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ภัยในโลกโซเชียล

ภัยในโลกโซเชียล

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




รองโฆษกรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อ้างถึงความห่วงใยที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กังวลเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในโลกโซเชียลมีเดีย ที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ไม่เป็นความจริง ทำให้ประชาชนที่ขาดข้อมูลหลงเชื่อ ส่วนท่าทีรัฐบาลขอประณามผู้ที่นำเรื่องดังกล่าวมาเผยแพร่ในโลกโซเชียล และจะตรวจสอบเพื่อหาตัวมาดำเนินคดี

"คิดว่าผู้ที่ปล่อยบ่อยครั้งมีจิตใจที่แย่ ใช้ไม่ได้ และคิดว่าคนไทยทั้งประเทศรับไม่ได้อยู่แล้ว ฉะนั้น อย่าไปเชื่ออะไรที่ผลีผลาม เมื่อคืนพอทราบก็ได้สั่งการโดยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนได้รับการยืนยันก็ให้รีบแถลงไปเพราะเดี๋ยวจะเป็นปัญหา" นายกรัฐมนตรี ตอบคำถามกับผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล พร้อมย้ำว่า "ที่วิจารณ์ว่า 1. มาจากรัฐบาลทำเอง คสช.ทำเองเพื่อต่อกฎอัยการศึก พวกนี้สมองเสีย มันเขียนอย่างนี้ได้อย่างไร ไม่มีใครเขาลงทุนขนาดนั้น 2. การแย่งชิงจ่าฝูงในกองทัพบก การโยกย้ายในกองทัพบกจะมีเดือนตุลาคมโน่น ยังไม่มีปรับย้าย หรือจะเป็นตำรวจนอกแถวก็กำลังตรวจสอบทั้งหมด จะเกี่ยวข้องทหารเก่าตำรวจเก่าก็ต้องลงโทษอยู่แล้ว"

ก่อนหน้านี้เพียงวันเดียว (2 ก.พ.) โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ แถลงการจับกุม "เครือข่ายบรรพต" ประกอบด้วย 1.ดำรงค์ ชาญสิทธิโชค หรือ ลิขิตชีวะ 2.ศิวาพร ปัญญา 3.เงินคูณ อุดมคุณากร 4.ไพศิษฐ์ จิรประดับวงศ์ 5.อัญชัญ ปรีเลิศ และ 6.ธารา วานิชพงษ์พันธุ์

กลุ่มดังกล่าว มีการกระทำผิดร่วมกันเป็นเครือข่าย ใช้สื่อสังคมออนไลน์กระทำความผิดกฎหมาย เป็นสื่อยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวาย บ่อนทำลายสถาบันฯ ผลิตสื่อในรูปแบบซีดี คลิปเสียง และบทความออกมาเผยแพร่ตามเว็บไซต์

"เครือข่ายบรรพต" ถือว่ามีการกระทำผิดมายาวนาน เป็นภัยร้ายแรงต่อความมั่นคงของชาติและสถาบันหลักของประเทศ

ย้อนไปก่อนหน้านั้น (9 ม.ค.) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา เป็นประธานการประชุมกำหนดแนวทางการดำเนินการป้องกัน และแก้ไขปัญหาคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือคดี 112 โดยมี อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สุวณา สุวรรณจูฑะ ตัวแทนจากกระทรวงกลาโหม สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) อัยการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

ปัญหาที่ผ่านมา มีคณะกรรมการหลายชุด มีขอบเขตแตกต่างกันไป ดังนั้น เพื่อทบทวนการทำงานที่ผ่านมาว่ากรรมการแต่ละชุดเชื่อมโยงอย่างไร แต่ละหน่วยงานมีปัญหาข้อขัดข้องในการเชื่อมโยงข้อมูลกันอย่างไร คณะกรรมการบางชุดมีอำนาจไม่ครอบคลุมความรับผิดชอบ

ข้อสรุปในวันนั้น จะเสนอหัวหน้ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งคณะกรรมการใหม่ 4 ด้าน คือ 1.ด้านการบังคับใช้กฎหมาย 2.ด้านการต่างประเทศ 3.ด้านการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทางโซเชียลมีเดีย และ 4.คณะทำงานทำความเข้าใจกับคนในประเทศและต่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังเสนอให้ยกเลิกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี 2552 และ 2554 ที่คณะทำงานเน้นขั้นตอนก่อนเข้าสู่กระบวนทางกฎหมาย และวิธีการลงโทษ ไม่ครอบคลุมงานทั้ง 4 ด้าน

จากข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศ ขณะนี้มี 10 ประเทศ ที่มีผู้ต้องหาคดี 112 เข้าไปพักอาศัย

จากท่าทีที่ชัดเจนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แต่ผ่านมาแล้วจะ 1 เดือน ยังไม่เห็นคำสั่งตั้งคณะกรรมการใหม่ ทั้ง 4 ด้าน

คงมีเพียงปฏิกิริยาของ อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) พล.อ.อ.กันต์ พิมานทิพย์ ในฐานะประธานกลุ่มนายทหารนอกประจำการที่จงรักภักดีต่อสถาบันฯ และยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (นกภป.) พร้อมคณะ ไปยื่นหนังสือประท้วงกรณีที่นิวซีแลนด์ ให้ที่พำนัก เอกภพ เหลือรา หรือ ตั้ง อาชีวะ ผู้ต้องหาในคดีความผิด มาตรา 112 ที่สถานทูตนิวซีแลนด์ ประจำกรุงเทพฯ

ภาครัฐตระหนักรู้ถึงปัญหาในเรื่องนี้แล้ว ต้องไม่เงื้อง่าราคาแพง ปล่อยคนผิดได้ใจ เพราะ "ภัยในโลกโซเชียล" นับว่าอันตรายเหนือสิ่งใด

มันเป็นภัยที่ไร้พรมแดน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ภัยในโลกโซเชียล

view