ภาษีห้างหุ้นส่วนสามัญ 2558 (2)
โดย : สุเทพ พงษ์พิทักษ์
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ขอนำประเด็นการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2558 เป็นต้นไป ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 39) พ.ศ. 2557 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 249) ลงวันที่ 17 ธ.ค.2557 และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการเสียภาษีเงินได้ของห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 149/2558 ลงวันที่ ม.ค.2558 มา ปุจฉา – วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้
ปุจฉา ขอให้ช่วยสรุปความแตกต่างของ “ห้างหุ้นส่วนสามัญ” และ “คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” ให้กระจ่างอีกสักครั้ง
วิสัชนา ก่อนวันที่ 1 ม.ค.2558 ไม่มีความแตกต่างของการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาระหว่าง “ห้างหุ้นส่วนสามัญ” และ “คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” แต่อย่างใด ทั้งในส่วนของวิธีการคำนวณภาษี การหักค่าใช้จ่ายค่าลดหย่อน และอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องเสียในนามของห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยทั่วไปถือว่า หน่วยทางภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งกรณีผู้มีเงินได้ที่เป็นบุคคลธรรมดา หรือกองมรดกที่ยังมิได้แบ่ง รวมทั้งห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล นั้น เป็นทางภาษีที่ย่อยหรือเล็กที่สุด กฎหมายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจึงได้บัญญัติยกเว้นเงินได้ของผู้ที่รับเงินได้ต่อจากหน่วยทางภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เช่น
การยกเว้นเงินได้สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา หรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ตามมาตรา 42 (10) แห่งประมวลรัษฎากร หรือ
เงินได้ที่ได้รับจากกองมรดก ซึ่งต้องเสียภาษีตามความในมาตรา 57 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ตามมาตรา 42 (16) แห่งประมวลรัษฎากร
รวมทั้ง เงินส่วนแบ่งของกำไรจากห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ ตามมาตรา 42 (14) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งถูกยกเลิกโดย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 39) พ.ศ. 2557 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2558 เป็นต้นไป
การบัญญัติกฎหมายในลักษณะดังกล่าว ก่อให้เกิดปัญหาในการบริหารการจัดเก็บภาษีเงินได้ที่เป็น “ช่องโหว่” (Loophole) ขนาดใหญ่ ที่หลายอาชีพได้พากันจัดตั้งคณะบุคคล เพื่อกระจายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในอันที่จะหลบหลีกอัตราภาษีก้าวหน้า สำหรับเงินได้แหล่งที่สอง หรือแหล่งอื่นที่ไม่ใช่เงินได้ประจำที่เป็นเงินเดือนค่าจ้าง (ทั้งที่ไม่ได้มีการจัดตั้งคณะบุคคลขึ้นจริงๆ ก็มี)
เมื่อได้กำหนดนิยามศัพท์คำว่า “คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” ขึ้นใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2558 เป็นต้นมา ทำให้พิจารณาเห็นความแตกต่างกันชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของ “วัตถุประสงค์” ของการจัดตั้งหน่วยทางภาษีอากรทั้งสองประเภทดังกล่าว ดังนั้น นับแต่วันที่ 1 ม.ค.2558 เป็นต้นไป คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลต้องไม่มีการแบ่งปันผลกำไรอันเกิดจากกิจการที่กระทำ มิฉะนั้น จะได้ชื่อว่าเป็น “ห้างหุ้นส่วนสามัญ” ทันที และเงินส่วนแบ่งของกำไรนั้น ย่อมถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้อีกต่อไป
พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน