จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เผยอุดช่องโหว่ปัญหาจากการแก้ไขครั้งก่อน หลังถูกร้องเรียนโดยธนาคารพาณิชย์
เปิดสาระสำคัญร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการค้ำประกันและจำนองฉบับใหม่
วันนี้ (12 ก.พ.) ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... (แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับค้ำประกันและจำนอง) ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบ มีสาระสำคัญ 7 ประเด็น คือ
1.การกำหนดให้ผู้ค้ำประกันที่เป็นนิติบุคคลสามารถผูกพันตนเพื่อรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม และไม่มีสิทธิตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 688 มาตรา 689 และมาตรา 690 (ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ปพพ.เดิม)
2.กำหนดให้ข้อตกลงที่แตกต่างจากที่บัญญัติไว้เกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ของเจ้าหนี้ และผู้ค้ำประกันตามมาตรา 686 (ปพพ.เดิม) เป็นโมฆะ
3.แก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้ค้ำประกันได้รับประโยชน์จากการที่เจ้าหน้าที่กระทำการใดๆ อันมีผลเป็นการลดจำนวนหนี้ให้แก่ลูกหนี้ และมีการชำระหนี้ตามที่ได้ลดแล้วภายในกำหนดเวลาชำระหนี้ตามข้อตกลงลดหนี้นั้น
4.กำหนดให้ผู้ค้ำประกันที่เป็นสถาบันการเงินหรือค้ำประกันเพื่อสินจ้างที่เป็นปกติธุระ สามารถทำข้อตกลงไว้ล่วงหน้ายินยอมให้มีการผ่อนเวลาได้
5.กำหนดให้ผู้มีอำนาจในการจัดการนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้จำนองทรัพย์สินของตนเพื่อประกันหนี้ของนิติบุคคลนั้น สามารถผูกพันตนอย่างผู้ค้ำประกัน โดยทำเป็นสัญญาค้ำประกันต่างหากได้
6.กำหนดบทเฉพาะกาลรองรับสัญญาที่ทำขึ้นก่อนวันที่ร่างกฎหมายมีผลใช้บังคับ เพื่อมิให้มีผลกระทบต่อสัญญาที่ทำไว้ก่อนดังกล่าว
และ 7.กำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากการค้ำประกันตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 691 วรรคหนึ่งตาม ปพพ.ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.นี้ ในกรณีเจ้าหนี้กระทำการใดๆ อันเป็นการลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้
สรุปสาระสำคัญของร่างกฎหมายใหม่ คือ กำหนดให้ผู้ค้ำประกันที่เป็นนิติบุคคลสามารถผูกพันตนเพื่อรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วมได้ และแก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้ค้ำประกันได้รับประโยชน์จากการที่เจ้าหนี้กระทำการใดๆ อันมีผลเป็นการลดจำนวนหนี้ให้แก่ลูกหนี้ และมีการชำระหนี้ตามที่ได้ลดแล้วภายในกำหนดเวลาชำระหนี้ตามข้อตกลงลดหนี้นั้น
พร้อมกันนี้ กำหนดให้ผู้ค้ำประกันที่เป็นสถาบันการเงิน หรือค้ำประกันเพื่อสินจ้างเป็นปกติธุระ สามารถทำข้อตกลงไว้ล่วงหน้ายินยอมให้มีการผ่อนเวลาได้ และกำหนดให้ผู้มีอำนาจในการจัดการนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้จำนองทรัพย์สินของตนเพื่อประกันหนี้ของนิติบุคคลนั้น สามารถผูกพันตนอย่างผู้ค้ำประกัน โดยทำเป็นสัญญาค้ำประกันต่างหากได้
ทั้งนี้ ได้กำหนดบทเฉพาะกาลรองรับสัญญาที่ทำขึ้นก่อนวันที่ร่างกฎหมายมีผลบังคับใช้ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อสัญญาที่ทำไว้ก่อน
อนึ่ง การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ครั้งนี้ เกิดขึ้นภายหลังจากที่มีนายธนาคารออกมาท้วงติงว่า ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2557 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 ก.พ.2558 มีประเด็นทำให้ธนาคารไม่กล้าปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้รายย่อยซึ่งจำเป็นต้องใช้ผู้ค้ำประกัน และส่งผลให้มีปัญหาในการปรับโครงสร้างหนี้ รวมทั้งการออกหนังสือค้ำประกันของธนาคารพาณิชย์ ทำให้มีการหยิกยกเรื่องดังกล่าวเข้ามาพิจารณาใน ครม.อีกครั้ง
กระทั่งคณะกรรมการกฤษฎีการับไปพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉบับดังกล่าว โดยได้เชิญผู้แทนจากธนาคารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณาด้วย โดยทางธนาคารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นพ้องให้แก้ไขเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวกับการค้ำประกันและการจำนองดังที่ได้แก้ไขใหม่ตามที่มีการเสนอเข้าสู่วาระการพิจารณาของ สนช.ในวันนี้ (12 ก.พ.)
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน