จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
รศ.นพ. กีรติ เจริญชลวานิช
ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด
จะทำให้กระดูกแข็งแรง ต้องรู้ก่อนว่า กระดูกแข็งแรงมีประโยชน์อย่างไร
ที่เห็นได้ชัด คือ ไม่หักง่ายเมื่อกระทบกับแรงกระแทกเพียงเล็กน้อย ไม่เกิดความพิการของโครงสร้างร่างกาย เช่น ตัวเตี้ยลง หลังค่อมจนเงยไม่ขึ้น ขาโก่งงอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเห็นชัดในวัยสูงอายุ ทำให้เป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิตในบั้นปลาย
กระดูกเป็นอวัยวะที่มีการสร้างและทำลายตลอดเวลาในมวลกระดูก คือ มีการสลายกระดูกในรูปแคลเซียมออกมาสู่เลือด ขณะเดียวกันก็มีการสร้างกระดูกใหม่ โดยใช้แคลเซียมจากอาหารที่รับประทานเข้าไปปะปนอยู่ในเลือดมาสร้าง ทำให้ได้มวลกระดูกใหม่เกิดขึ้น
ส่วนมวลกระดูกเก่า (แคลเซียม) จะถูกขับถ่ายออกมาทางปัสสาวะวันละ 200 มิลลิกรัม และทางอุจจาระวันละ 800-900 มิลลิกรัม รวมแล้วร่างกายจะเสียแคลเซียมวันละ 800-1000 มิลลิกรัม
โดยที่เราจะต้องจัดหาเข้ามาเติมทางอาหารให้อยู่ในภาวะสมดุล มิฉะนั้นร่างกายจะดึงแคลเซียมจากกระดูกมาตลอดเวลา เป็นผลให้กระดูกถูกสลายเพิ่มมากกว่าการสร้างกระดูก ท้ายสุดมวลกระดูกจะบางลงซึ่งมวลกระดูกนั้น ประกอบด้วย เกลือแร่ ที่มีมากที่สุดคือ ธาตุแคลเซียม ถ้าแคลเซียมน้อยลงจะมีผลให้กระดูกอ่อนแอและเกิดหักง่ายหรือพิการได้
การทำให้กระดูกแข็งแรงนั้น แนะนำให้ควรเริ่มตั้งแต่ก่อนวัยเจริญพันธุ์ ในวัยช่วง 18-20 ปี โดยธรรมชาติร่างกายจะพยายามเก็บเนื้อกระดูกให้มากที่สุด หากรู้จักวิธีเพิ่มมวลกระดูกได้ในวัยนี้ จะเป็นผู้ที่มีมวลกระดูกมาก และเป็นการป้องกันกระดูกพรุนในวัยสูงอายุได้อย่างดี แต่หากพ้นวัยนี้แล้ว โอกาสเพิ่มมวลกระดูกเพื่อการสะสมจะไม่มี แต่ต้องรักษามวลกระดูกที่มีอยู่ไม่ให้ลดไปจากเดิม ซึ่งปล่อยให้แคลเซียมหลุดไปจากกระดูก ก็จะทำให้กระดูกบางลงและหักง่ายในที่สุด
พูดง่ายๆ กระดูกแข็งแรงจะต้องคงสภาพมวลกระดูกให้อยู่ในอัตราส่วนที่เหมาะสมระหว่าง แคลเซียมกับองค์ประกอบอื่นๆ ของกระดูก สัปดาห์หน้าพบวิธีช่วยกระดูกให้แข็งแรง
จะเป็นอย่างไร ติดตามได้
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน