จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์
มาตรา 142 แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2557 แก้ไขเกี่ยวกับ “ข้อสันนิษฐาน” โดยเพิ่มอำนาจให้เจ้าพนักงานสามารถทดสอบผู้ขับขี่ที่มีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่าเสี่ยงเมาสุรา
“หากผู้ขับขี่ไม่ยอมให้ทดสอบ ให้เจ้าหน้าที่สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นเมาสุรา เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีฐานขับรถขณะเมาสุราได้”
ภายหลังกฎหมายปรับแก้มีผู้ประเดิมไปแล้ว 1 ราย เป็นหญิงสาวที่ตัดสินใจล็อกตัวเองไว้ในรถยนต์เป็นเวลา 4 ชั่วโมง โดยไม่ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในทุกกรณี
ที่สุดแล้ว ศาลตัดสินจำคุกหญิงสาวรายดังกล่าวเป็นเวลา 6 เดือน และปรับอีก 1.7 หมื่นบาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี และถือเป็นบรรทัดฐานคดีอื่นๆ ในอนาคต
นั่นหมายความว่า ไม่เป่า = เมาแล้วขับ
ผลพวงจากกฎหมายฉบับแก้ไข คือจากนี้เป็นต้นไปข้ออ้างต่างๆ ของผู้ใช้รถใช้ถนนเพื่อหลีกเลี่ยงหรือบ่ายเบี่ยงการ “เป่าเมา” คงไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป
คำถามคือ เหตุใดต้องมีการปรับแก้กฎหมายเพิ่มอำนาจเจ้าพนักงานสำหรับล้อมคอกพฤติกรรมไม่พึงประสงค์เหล่านี้
หนึ่งในผู้ที่ให้คำตอบได้ตรงความจริงมากที่สุด คือ พ.ต.อ.ภูษิต วิเศษคามินทร์ รองผู้บังคับการตำรวจจราจร นายตำรวจผู้มากประสบการณ์ในเรื่องการจับเมาแล้วขับ
พ.ต.อ.ภูษิต บอกว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ประชาชนบ่ายเบี่ยงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่คือเกรงกลัวโทษ นั่นเพราะนอกจากอัตราค่าปรับที่สูงแล้ว ยังต้องเสียประวัติและถูกทัณฑ์บนกำกับเอาไว้ นั่นทำให้ผู้ขับขี่มักจะดึงเกม ไม่ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ตรวจ
สำหรับพฤติกรรมเอาตัวรอดของนักดื่มสะท้อนออกมาหลากหลายรูปแบบ บ้างก็แอบอยู่ในรถไม่ยอมให้ตรวจ บ้างก็รอให้ตำรวจเลิกด่านแล้วจึงขับต่อ บ้างก็อ้างว่าเครื่องมือสำหรับเป่าวัดแอลกอฮอล์ไม่สะอาด
“เดิมหากผู้ขับขี่ไม่ยอมเป่า จะถูกดำเนินคดีในฐานความผิดขัดคำสั่งเจ้าพนักงานเท่านั้น แต่หลังจากนี้คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะหากปฏิเสธการขอตรวจ จะถือว่าคนๆ นั้นเมาแล้วขับทันที”พ.ต.อ.ภูษิต กล่าวชัด
ความสำเร็จของการปรับแก้กฎหมายเพิ่มโทษ คือสามารถลดจำนวนผู้เมาแล้วขับลงได้
“ตั้งแต่มีการแก้กฎหมาย ตัวเลขการจับกุมผู้ที่เมาแล้วขับในวันจันทร์ถึงวันพฤหัสบดีลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ในวันศุกร์ยังคงอยู่ในระดับเดิม”พ.ต.อ.ภูษิต กล่าว
สอดคล้องกับ พ.ต.อ.วีระวิทย์ วัจนะพุกกะ รองผู้บังคับการตำรวจจราจรอีกนาย ที่บอกว่า นับตั้งแต่มีการแก้ไขกฎหมาย ผู้ขับขี่น้อยรายที่จะขอปฏิเสธเป่าวัดแอลกอฮอล์
“เขารู้ว่าหากไม่ยอมเป่าเท่ากับมีความผิดทันที ด้วยเหตุนี้ผู้ขับขี่อาจจะยอมเป่าวัดดวงดีกว่า” พ.ต.อ.วีระวิทย์ กล่าว
ในส่วนของการลงโทษ พ.ต.อ.วีระวิทย์ อธิบายว่า เดิมทีหากผู้ขับขี่ไม่ยินยอมให้ตรวจ จะปรับไม่เกิน 1,000 บาท แต่หากยอมให้ตรวจแล้วพบว่าเมาแล้วขับ จะระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000-1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งพักใบอนุญาต หรือเพิกถอนใบขับขี่
ทว่า กฎหมายใหม่ได้เพิ่มโทษขึ้น หากผู้ขับขี่ไม่ให้ความร่วมมือให้เจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่า “มีเหตุอันควรเชื่อว่าเมาไว้ก่อน” โดยมีบทลงโทษคือจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 1-2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ดี ผู้ถูกกล่าวหาไปสืบพยานหักล้างในศาลได้
“เรามีกฎหมายเพื่อป้องกันเหตุที่จะเกิดบนท้องถนนจากการดื่มสุรา ไม่ใช่ว่าจะมาจับมาปรับกัน”พ.ต.อ.วีระวิทย์ กล่าวย้ำ
สำหรับ 12 พฤติกรรมพิรุธที่ทำให้เจ้าพนักงาน “สันนิษฐาน” ว่าผู้ขับขี่กำลัง “เมาแล้วขับ” ประกอบด้วย
1.กลิ่นสุราจากลมหายใจหรือเสื้อผ้า
2.การเดินไม่ตรงทาง
3.การพูดจาอ้อแอ้ไม่สื่อความหมาย
4.การขับรถเร็วหรือช้าโดยไม่มีเหตุผล
5.การขับรถในอัตราเร็วไม่คงที่
6.การหยุดรถไม่ถูกจังหวะไม่เรียบร้อย
7.การแซงหรือสวนรถในขณะที่ยังไม่สมควร หรือหักหลบมากเกินสมควรเมื่อมีรถผ่าน
8.ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร
9.ขับรถในเวลากลางคืนไม่เปิดไฟ
10.ขับเกียร์ต่ำตลอด หรือเปลี่ยนเกียร์บ่อยๆ โดยไม่มีเหตุผล
11.ขับรถไม่ตรงทางส่ายไปมา
12.ขับรถเปลี่ยนช่องทางบ่อยๆ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน