สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กระแส ลดดอกเบี้ย แรง!

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

กระแส "ลดดอกเบี้ย" แรง! บีบคั้น.. นโยบายการเงิน

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในวันที่ 11 มี.ค.นี้ น่าจะเป็นนัดชี้ชะตา “ดอกเบี้ยนโยบาย” ของประเทศไทยว่าจะ “ลด” หรือจะ “คง” ในระดับ 2% ต่อไป ..เพราะเวลานี้ดูเหมือนกระแสบีบคั้นให้ ธปท. “ปรับลด” ดอกเบี้ยนโยบายลง มีมากเหลือเกิน

ถ้าย้อนดูช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จะเห็นว่า “ผู้อาวุโส” ทางเศรษฐกิจหลายคน “เริ่ม” ออกมาท้วงติงถึง “ดอกเบี้ยนโยบาย” ของ ธปท. กันบ้างแล้วว่า อัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2% ถือเป็นระดับที่สูงเกินไป

เริ่มจาก “ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่มองว่า กนง. ควรเริ่มวางแผนการลดดอกเบี้ยลงได้แล้ว เพราะหลายประเทศในเวลานี้ หันมาใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนปรนมากขึ้น ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นโดยปริยาย

ธีระชัย เชื่อว่า การลดดอกเบี้ยจะช่วยดึงเงินบาทให้อ่อนค่าลง ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้จากการส่งออกเมื่อแปลงกลับมาเป็นเงินบาทเพิ่มขึ้น อีกทั้งการส่งออกสินค้าเกษตรในปัจจุบันก็มีสัดส่วนคิดเป็น 1 ใน 5 ของการส่งออกทั้งหมด และประชากรในภาคเกษตรก็มีสัดส่วนราว 35% ของประชากรทั้งหมด ดังนั้นถ้าเงินบาทอ่อนลง จะช่วยเกษตรกรได้โดยตรง ซึ่งเร็วกว่า การจ่ายเงินช่วยเหลือของรัฐบาล ไร่ละ 1 พันบาทด้วย

ถัดมาไม่กี่วัน “ทนง พิทยะ” ก็ออกมาให้ความเห็นว่า ดอกเบี้ยนโยบายของไทยควรลดอย่างน้อย 0.25-0.5% เพราะเวลานี้ “เงินเฟ้อ” อ่อนแรงจนติดลบ ใกล้เคียง “ภาวะเงินฝืด” สถานการณ์เช่นนี้ นโยบายการเงินควรเข้ามาช่วยดูแล ประกอบกับการคงดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ สวนทางกับต่างประเทศ อาจเป็นแรงดึงดูดให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้ามา กดดันค่าเงินบาทให้ยิ่งแข็งค่าขึ้นได้

ขณะที่ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) มองว่า เงินเฟ้อที่ลดลงทำให้ “ดอกเบี้ยแท้จริง” เริ่มเป็นบวก นโยบายการเงินจึงสามารถสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้มากขึ้น และหลายประเทศในเวลานี้ก็เริ่มปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อรับมือกับปัญหาเงินเฟ้อติดลบ

แม้แต่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเคยนั่งในตำแหน่ง ผู้ว่าการ ธปท. มาก่อน ทั้งยังมีความสัมพันธ์อันดีกับ ธปท. ก็ออกมาให้ความเห็นในทำนองที่เห็นด้วยกับ สศช. ซึ่งมองว่า ดอกเบี้ยสามารถปรับลดลงได้เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็มองว่า สศช. มีตัวแทนนั่งอยู่ในบอร์ด กนง. จึงควรเข้าไปผลักดันเรื่องนี้ในที่ประชุม

เช่นเดียวกับ “สมหมาย ภาษี” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มองว่า การปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25-0.5% อาจไม่ได้ช่วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากนัก แต่อย่างน้อยน่าจะมีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคส่งออกได้ ส่วนเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น เป็นหน้าที่ของนโยบายการคลังอยู่แล้ว

เพียงแต่ทั้งหลายทั้งมวล ประเด็นที่ทำเอาคน ธปท. ถึงกับ “สะดุ้ง” คงเป็นคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ระบุเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ได้สั่งการให้ ธปท. จับตาการไหลเข้าของเงินทุนเคลื่อนย้าย หลังจากต่างประเทศดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ(คิวอี) ขณะเดียวกันได้สั่งให้ ธปท. ดูแลเรื่อง “เงินเฟ้อ” และ “ดอกเบี้ย” ด้วย

..บทสัมภาษณ์นี้ทำเอาหลายคนตีความหมายไปไกลว่า “นายกฯ” ส่งสัญญาณให้ ธปท. “ลด” ดอกเบี้ย!

แต่ถ้าจับสัญญาณจากฝั่ง ธปท. ในช่วงที่ผ่านมา ยังมีมุมมองที่ชัดเจนว่า “ดอกเบี้ยนโยบาย” ในปัจจุบัน “เพียงพอ” ต่อการ “ฟื้นตัว” ของเศรษฐกิจ การลดดอกเบี้ยท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ผลที่ได้อาจเป็นไปอย่างจำกัด และตัวเลขเศรษฐกิจปี 2557 ที่ออกมา ก็สอดคล้องกับที่ ธปท. ได้ประเมินเอาไว้

ส่วน “เงินเฟ้อทั่วไป” ที่ติดลบ ก็เป็นผลจาก “อุปทาน” น้ำมันโลกที่เพิ่มขึ้น ทำให้ราคาตลาดโลกปรับลดลง ส่งผลต่อเงินเฟ้อที่ลดลงตามไปด้วย ในสถานการณ์เช่นนี้นโยบายการเงินไม่สามารถเข้าไปดูแลได้ เนื่องจากนโยบายการเงินดูแลได้เฉพาะในฝั่งของ “อุปสงค์”

สำหรับข้อเรียกร้องที่ ธปท. ลดดอกเบี้ย เพื่อลดแรงจูงใจของเงินทุนเคลื่อนย้าย ..เรื่องนี้ ธปท. ยืนยันมาตลอดว่า “ดอกเบี้ย” เป็นเพียง “ประเด็นรอง” เพราะ “ประเด็นหลัก” ที่ดึงดูดเงินทุนเคลื่อนย้ายเข้ามา คือ พื้นฐานและแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจ อีกทั้งปัจจัยที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงนี้ คือ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ดังนั้นแม้จะลดดอกเบี้ยลงก็คงไม่ช่วยกดค่าเงินบาทให้อ่อนลงได้มากนัก

อย่างไรก็ตาม ธปท. ไม่ถึงกับ “ปิดประตู” ลดดอกเบี้ย โดยระบุว่า นโยบายการเงินยังมี “พื้นที่” เพียงพอที่จะผ่อนปรนเพิ่มได้ในกรณีที่เศรษฐกิจขยายตัวน้อยกว่าคาด แต่การผ่อนปรนต้องคำนึงถึงประสิทธิผลด้วย

“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ผู้ว่าการธปท. บอกว่า ถ้าดอกเบี้ยนโยบายอยู่ระดับสูงแล้วปรับลดลง ประสิทธิผลจะส่งผ่านได้ง่าย แต่ถ้าดอกเบี้ยอยู่ระดับต่ำแล้วไปลดลงอีก ประสิทธิผลที่ได้อาจไม่เท่ากัน ซึ่งเวลานี้ดอกเบี้ยนโยบายที่ 2% ก็เป็นระดับที่ค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว

สุดท้ายนี้จึงยังต้องจับตาการประชุม กนง. ในวันที่ 11 มี.ค.นี้ เพื่อลุ้นว่า กนง. เสียงส่วนใหญ่ คิดเห็นเช่นไรกับระดับของ “ดอกเบี้ยนโยบาย” ในปัจจุบัน!


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กระแส ลดดอกเบี้ย แรง

view