จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
เรียกได้ว่าเป็นโรค “ยอดฮิต” ที่พบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัยของคนนั่งโต๊ะทำงานหรือพนักงานออฟฟิศ เพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตในปัจจุบันที่ปรับเปลี่ยนเพื่อก้าวทันโลก ทำให้บ่อยครั้งจำเป็นต้องอั้นปัสสาวะเป็นระยะเวลานานๆ หรือรีบเร่งเบ่งปัสสาวะซึ่งเป็นสาเหตุกรณีของการเกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบที่พบบ่อยที่สุด
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นนอกจากสาเหตุของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบจะเกิดขึ้นจากพฤติกรรมการขับถ่ายปัสสาวะไม่ถูกวิธีเป็นหลัก เรายังพบว่า “ผู้หญิง” มีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชาย เนื่องจากท่อปัสสาวะสั้นและมีลักษณะแบบเปิดทำให้เอื้อโอกาสในการติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้นในผู้หญิงการมีเพศสัมพันธ์ อนามัยในการใช้ห้องน้ำ ความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศ จึงเป็นอีกหนึ่งทางที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบอีกด้วย
โดยอาการผู้ที่เป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบนั้น จะรู้สึกขัดๆ หลังจากปัสสาวะ ปวดปัสสาวะบ่อย แต่ปัสสาวะกะปริดกะปรอยหรือปัสสาวะออกไม่หมด และอาจจะมีอาการอื่นๆ อย่าง แสบร้อน ปวดบริเวณท้องน้อย ร่วมอยู่ด้วยในขณะปัสสาวะ บางรายมีไข้ขึ้น ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็น สีขุ่นไม่ใสหรือมีลักษณะคล้ายเลือดปนออกมา ซึ่งเราสามารถป้องกันเบื้องต้นเพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ดังนี้
1.ไม่ควรกลั้นปัสสาวะเป็นระยะเวลานาน
2.ไม่ควรเร่งรีบเบ่งปัสสาวะ ควรปล่อยปัสสาวะตามสบายจนกว่าปัสสาวะจะหมด
3.การหลีกเลี่ยงดื่มชา กาแฟ หรือแอลกอฮอล์ เพราะมีผลไปกระตุ้นให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ต้องเข้าห้องน้ำบ่อย
4.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่จะเสี่ยงทำให้ต้องกลั้นปัสสาวะ เช่นเข้าห้องน้ำก่อนจะออกไปข้างนอกหรือทำธุรระ และระหว่างนอนหลับถ้าปวดปัสสาวะไม่ควรกลั้นจนตื่นนอน
5.ควรรักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศให้สะอาดอยู่เสมอ พยายามอย่าสัมผัสอวัยวะเพศตอนที่มือไม่สะอาด ในส่วนกรณีคนที่ใช้ผ้าอนามัยแบบสอดควรแน่ใจแล้วว่ามือสะอาดก่อนทำการใช้
6.สำหรับผู้หญิงเวลาในการขับถ่ายทั้งปัสสาวะและอุจาระ ควรล้างให้ถูกวิธี (จากหน้าไปหลัง) และเช็ดให้สะอาดเรียบร้อยทุกครั้ง เนื่องจากช่องทวารหนักอยู่ใกล้กับอวัยวะเพศ
7.ควรใส่กางเกงที่สะอาดอยู่เสมอๆ เลือกใช้ชุดชั้นในประเภท Cottonที่ง่ายต่อการระบายและหลีกเลี่ยงการใส่กางเกงรัดรูป เพราะจะทำให้เกิดการอับชื้นก่อให้เกิดการสะสมของแบคทีเรีย
8.ไม่ควรใช้สารเคมีที่มีกรดแรงทำความสะอาดอวัยวะเพศ เพราะจะก่อให้เกิดการระคายเคืองทำให้เพิ่มโอกาสติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
9.หลังมีเพศสัมพันธ์ควรปัสสาวะทุกครั้ง เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ท่อปัสสาวะ
10.ดื่มน้ำสะอาดมากๆ ในปริมาณที่เหมาะสม 8-10แก้วต่อวัน เพราะหากดื่มน้ำน้อยจะส่งผลให้ไม่ค่อยได้ปัสสาวะ ปัสสาวะจึงแช่ค้างในท่อก่อให้เกิดการหมักหมมได้ง่าย เชื้อโรคในปัสสาวะจึงเจริญได้ดี นอกจากนี้การดื่มน้ำมากๆ ยังช่วยล้างเชื้อแบคทีเรียออกมาด้วย
และแม้ว่าโรคนี้จะไม่รุนแรงเราสามารถรักษาให้หายขาดได้ในระยะเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ โดยด้วยตัวเองง่ายๆ คือการปรับเปลี่ยนรูปพฤติกรรมรวมไปถึงการป้องกันโรคที่กล่าวข้างต้นหรือการรับประทานยาปฏิชีวนะลดอาการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ อีกวิธีหนึ่งที่ได้ผลคือการดื่มน้ำสมุนไพรขับปัสสาวะไปล้างกระเพาะและท่อปัสสาวะ เพราะนอจากจะทำให้ดื่มน้ำได้บริมาณมากขึ้น สมุนไพรยังเป็นตัวยาช่วยเร่งรักษาอาการปัสสาวะให้หายเร็วขึ้นอีกด้วย
ซึ่งสมุนไพรที่ว่านี้ก็อาทิ "กระเจี๊ยบแดง" ที่มีสรรพคุณขับปัสสาวะให้ออกมาในปริมาณที่มากกว่าปกติ รักษาอาการขัดเบา แก้นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ นิ่วในไต โดยใช้ส่วนดอกเอากลีบเลี้ยงมาตากให้แห้ง หลังจากนั้นบดให้ละเอียด ชงกับน้ำดื่มครั้งละ1ช้อนชาต่อ1ถ้วย (25ซีซี) ดื่มเช้า กลางวัน เย็น 3เวลา ติดต่อกันอาการขัดเบาก็จะทุเลา
หรือจะใช้ “หญ้าหนวดแมว” ที่นอกจากจะเด่นในเรื่องรักษานิ่วในทางเดินปัสสาวะชะงัด หญ้าหนวดแมวยังช่วยรักษากระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ดีอีกด้วย (แต่ผู้ที่เป็นโรคไตวาย โรคหัวใจ ไม่ควรบริโภคเพราะ มีเกลือโปตัสเซียมปริมาณสูง) ซึ่งวิธีการก็ง่ายๆ โดยคัดเอาแต่กิ่งกับไม่อ่อนไม่แก่เกินไป ทำให้แห้งในที่ร่ม นำมาชงกับน้ำร้อน ปริมาณ 4กรัม ต่อน้ำ 750 ซีซี หรือใช้ต้นกับใบสด/แห้งก็ได้ เอาประมาณขนาดตามสมควรพอดีกำมือต้มกับน้ำรับประทานก่อนอาหาร 3 เวลา
นอกจากนี้ก็ยังมี “หญ้าคา” ใช้แต่รากแบบแห้ง 100 กรัม ต้มกับน้ำ 1 ลิตร เช้า กลางวัน เย็น ก่อนอาหา “ขลู่” ใช้ใบมาชงช้าหรือต้มรักษาอาการนิ่ว ขับปัสสาวะ
หรือสมุนไพรในครัวเรือนอย่าง ตะไคร้ ผักปลัง หัวผักกาด แตงโม แตงกวา หนวดข้าวโพด ฟักเขียว ที่มีผลช่วยให้ปัสสาวะขับออกมาปริมาณที่มากกว่าเดิม ทำให้กระเพาะไม่เก็บค้างปัสสาวะจนเป็นสาเหตุเกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
ท้ายที่สุดอย่างไรก็ตามผู้ที่ป่วยเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์อย่างถี่ถ้วน เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดของโรคที่อาจมีอาการคล้ายคลึงกันแล้ว การปล่อยให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบเป็นระยะเวลานานไม่ใช่แค่สร้างความรำคาญเท่านั้น แต่อาจจะมีอาการอักเสบของไตเรื้อรัง หรือยิ่งไปกว่านั้นเกิดอาการติดเชื้อแทรกซ้อนกลายเป็นการอักเสบติดเชื้อในกระแสเลือด ติดเชื้อกระแสโลหิตส่งผลให้ทำให้เสียชีวิตได้อีกด้วย
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน