จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
สถาบันคีนันแห่งเอเชีย เผย หนี้ครัวเรือนของไทยเติบโตรวดเร็ว จำเป็นต้องเร่งแก้ไข สาเหตุสำคัญมาจากความไม่รู้พื้นฐานทางการเงิน
นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการ สถาบันคีนันแห่งเอเชีย กล่าวว่า ขณะนี้หนี้ภาคครัวเรือนเติบโตสูงมาก เฉลี่ยปีละ 15% ขณะที่การออมเติบโตลดลงต่อเนื่อง ล่าสุดเติบโตเพียง 1.2% คาดภายใน 2-3 ปี หนี้ครัวเรือนของไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 89% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 84-85% ของจีดีพี และภายในไม่กี่ปีก็จะแตะระดับ 100% ของจีดีพี
“หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาเร่งด่วน ที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการแก้ไข เพราะจะกระทบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ หากหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นมากๆ การอุปโภคบริโภคที่คิดเป็นส่วนสำคัญในเศรษฐกิจก็ไม่โต กระทบต่อเนื่องไปยังการลงทุนของภาคเอกชน ขณะที่การส่งออกก็ไม่ดี จึงเหลือเพียงกลไกการลงทุนของรัฐบาลเท่านั้นที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจไทย คำถามคือรัฐบาลจะแบกภาระนี้ไหวหรือไม่” นายปิยะบุตร กล่าว
3ปัจจัยหลักต้นตอดันหนี้ครัวเรือนพุ่ง
นายปิยะบุตร กล่าวว่า จากผลการศึกษาของคีนันหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจาก 1.การไม่รู้พื้นฐานทางการเงิน ทั้งออม การจัดการความเสี่ยง และการลงทุน 2. ทัศนคติต่อการใช้เงินม่าถูกต้อง บริโภคนิยมทำให้ขาดความระมัดระวังและการวางแผน และ 3.การเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย ซึ่งนอกเหนือจากการสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์แล้ว ยังมีแหล่งเงินอื่นๆ ที่ปล่อยกู้ ทั้งสหกรณ์ กองทุนหมู่บ้าน และสินเชื่อบริษัทเอกชน ที่ดึงดูดให้ประชาชนมีพฤติกรรมกู้ยืมเงิน
ผลการศึกษยังพบว่า ประชาชนที่มีความรู้ทางด้านการเงินน้อย และมีความเสี่ยงที่มีแนวโน้มเป็นหนี้สูงขึ้นมี 3 กลุ่ม กลุ่มที่น่าตกใจคือ กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ซึ่งกว่า 60-70% ล้วนเป็นหนี้ ทั้งที่ๆ เป็นกลุ่มที่ไม่มีรายได้ แต่พฤติกรรมการใช้จ่ายที่เกินตัวทำให้ไปกู้ยืมญาติ เพื่อน และหนี้นอกระบบ อีก 2 กลุ่มคือ กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มแรงงานรับจ้างมีรายได้น้อย โดยทั้ง 3 กลุ่มนี้ถือเป็นฐานประชากรหลักของประเทศ มีสัดส่วนต่อประชากร ประมาณ 18% 24% และ 38% ตามลำดับ
จี้รัฐเร่งเพิ่มความรู้การเงินให้ปชช.
ทั้งนี้เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องร่วมมือให้ความรู้ทางด้านการเงินให้กับประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องการเป็นหนี้ และการออม ส่งเสริมทักษะการอ่านเขียน เพราะพบว่าใน 3 กลุ่มเสี่ยงข้างต้น นอกจากจะมีปัญหาเรื่องขาดความรู้ด้านการเงินแล้ว ยังขาดปัจจัยเรื่องการอ่านออกเขียนได้ขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการเรียนรู้เรื่องการเงิน
นายปิยะบุตร กล่าวว่า จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายหน่วยงานที่เข้าให้ความช่วยเหลือเรื่องการแก้ไขปัฐหาหนี้สิน และการให้ความรู้เรื่องการเงิน พบว่า ประชาชนรากหญ้าจะตัดสินใจกู้เงินจากผู้ปล่อยกู้นอกระบบ มากกว่าจะพยายามยื่นขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินในระบบ หรือกู้ยืมโดยเลือกแหล่งเงินกู้ที่มีการชำระคืนขั้นต่ำ แต่มีดอกเบี้ยสูง แทนการกู้ยืมเงินที่มีการกำหนดให้ชำระคืนเงินกู้สูงๆ แต่มีดอกเบี้ยต่ำ หรือแม้แต่การกู้ยืมเงินโดยยังไม่มีวัตถุประสงค์ในการจ่ายเงินนั้น และนำเงินกู้ไปฝากบัญชีออมทรัพย์
ทั้งนี้ช่วงแรกของการพัฒนาความเรื่องการเงิน ควรจะมีการจัดทำโครงการกึ่งภาคบังคับ ในการให้ความรู้ทางการเงิน การออม หรือประกันความเสี่ยงต่างๆ แม้กระทั้งการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน อาจเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีการบังคับใช้ในขณะที่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงยังไม่มีความรู้พื้นฐานนอกจากนี้ประเด็นความรู้เรื่องการเงินควรถูกกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยมีหน่วยงานกลางที่บทบาทหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งการส่งเสริมให้ความรู้เรื่องการเงิน และการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน
“หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการชำระหนี้ล่าช้าที่เพิ่มขึ้น ไม่น่ากังวลเรื่องผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์ เพราะเขามีระบบในการดูแลอยู่แล้ว แต่เป็นห่วงส่วนที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน เช่น สหกรณ์ กองทุนหมู่บ้าน ควรมีหน่วยงานที่สามไปช่วยดูเรื่องการบริหารจัดการ”ซิตี้แบงก์เผยหนี้ครัวเรือนไทยโตก้าวกระโดด
นายดาเรน บัคลีย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซิตี้แบงก์ กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนของประเทศไทยเติบโตขึ้นเร็วมาก มาอยู่ที่ 10.2 ล้านล้านบาทแล้ว โตแบบก้าวกระโดดและโตเป็น 2 เท่าในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา และมีความเป็นไปได้ที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นเป็น 100% ต่อจีดีพี โดยกลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุดในขณะนี้ คือ สินเชื่อบุคคล และสินเชื่อรถยนต์
จากการสำรวจพบว่าอัตราการชำระหนี้ล่าช้าเพิ่มขึ้น โดยสินเชื่อบุคคลที่ชำระหนี้ล่าช้า 3 เดือนของระบบธนาคารพาณชิย์เพิ่มขึ้นจาก 2.7% ในปี 2553 เป็น 4.7% ในปี 2557 ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตที่มีการค้างชำระ 1 เดือนเพิ่มขึ้นจากระดับ 4.3% เป็น 4.7%
นายดาเรน บัคลีย์ กล่าวว่า การผิดนัดชำระหนี้อัตราการชำระหนี้ล่าช้า แต่ไม่น่ากังวลว่าจะกระทบฐานะของธนาคารพณิชย์ เพราะธนาคารส่วนใหญ่มีนะบบการบริการจัดการความเสี่ยงที่ดี ซึ่งธนาคารก็ยังปล่อยกู้ได้ตามปกติ โดยพิจารณาความเสี่ยงไปตามเกณฑ์จึงไม่ได้รับผลกระทบอะไรมากนัก
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน