สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปลุกพลังผู้หญิง-สร้างสมดุลการเมือง

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...เจษฎา จี้สละ

หลังจากกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญผ่านไปกว่าครึ่งทาง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกใกล้เผยโฉมให้คนไทยได้เห็นโครงสร้างอำนาจใหม่ ขณะที่สถานการณ์ภายในทวีความร้อนแรงขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะเหตุการณ์ล่าสุดที่ “ทิชา ณ นคร” หนึ่งในกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญคนสำคัญผู้ผลักดันเรื่องสิทธิพลเมือง สตรี และเยาวชน ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากผลักดันให้มีการกำหนดสัดส่วนสตรีในสภาท้องถิ่น รวมถึงการเลือกตั้งในระดับชาติ

ฉะนั้น เมื่อสตรีผู้หนึ่งตัดสินใจจากไป สังคมจึงเบนความสนใจไปยัง “ผู้รับไม้ต่อ” ในภารกิจนี้ ซึ่งหนีไม่พ้นคนวงในคณะ กมธ.ยกร่างฯ อย่าง “ถวิลวดี บุรีกุล” หนึ่งในตัวละครสำคัญที่ร่วมผลักดันวาระดังกล่าวมาแต่ต้น

ก่อนหน้านี้ ถวิลวดีเป็นผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา และเป็นนักวิจัยคนสำคัญของสถาบันพระปกเกล้า ผู้ซึ่งสนใจประเด็นสิทธิสตรีและความเสมอภาคมาโดยตลอด

“ที่ผ่านมาเราพูดถึงแต่ความเสมอภาค แต่มันยังไปไม่ถึง กระบวนการยังไม่เปิดให้คนเข้าไปได้ ฉะนั้นผลมันก็เลยไม่เกิด นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมต้องเอาแนวคิดจากต่างประเทศมาเสนอ เพราะว่าหลายประเทศเขาคำนึงถึงส่วนนี้และมีการใช้แล้ว

“แม้ประเทศไทยจะเปิดโอกาสบ้าง แต่ด้วยศักยภาพอาจจะไม่เหมือนกันและมีไม่เท่ากัน ก็เหมือนคนตัวเตี้ยกับคนตัวสูงที่พยายามดูฟุตบอล แต่คนตัวเตี้ยมองไม่เห็น ก็เลยต้องมีเก้าอี้ หรือให้โอกาสคนตัวเตี้ยไปยืนข้างหน้า ซึ่งเราจะทำอย่างนั้นบ้างได้ไหม” ถวิลวดียกตัวอย่างเปรียบเทียบถึงความไม่เสมอภาคทางเพศ ที่สังคมจะต้องวางกลไกให้แต่ละฝ่ายสามารถเข้าถึงโอกาสได้เช่นกัน

“บางเรื่องผู้หญิงอาจจะทำได้ดีกว่า บางเรื่องผู้ชายก็อาจจะทำได้ดีกว่า เพราะฉะนั้นจะดีกว่าไหมถ้าเราสร้างความสมดุล ให้โอกาสคนเหล่านี้ได้ทำงานร่วมกัน แทนที่จะให้เพศใดหรือซีกใดเป็นเสียงส่วนใหญ่ไปเลยจนลืมอีกซีกหนึ่ง แต่ให้เดินหน้าไปด้วยกัน”

ถวิลวดี บอกว่า การผลักดันความเท่าเทียมของเพศชายและเพศหญิง โดยเฉพาะการกำหนดสัดส่วนสตรีในสภาท้องถิ่นและการเลือกตั้งระดับชาติไม่ใช่เรื่องสุดโต่ง เพราะนานาประเทศให้การยอมรับในหลักการดังกล่าว โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นประเทศฝรั่งเศส สวีเดน และนอร์เวย์ รวมถึงประเทศเยอรมนี ที่ประเทศไทยกำลังจะประยุกต์ระบบเลือกตั้งมาใช้

เธอยืนยันว่าการกำหนดสัดส่วนของสตรีจะช่วยเติมเต็มสมดุลของนโยบายทางการเมือง เช่น นักการเมืองเพศชายจะมุ่งเน้นไปในการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ขณะที่นักการเมืองเพศหญิงอาจเติมเต็มเรื่องคุณภาพชีวิต สวัสดิการสังคม และสาธารณประโยชน์ เป็นต้น

“มันจะทำให้เกิดความสมดุล ประชาชนจะมีความสุขเพราะว่าได้เติมเต็มในหลายๆ ประเด็นที่มันอ่อนด้อยในสังคม เมื่อมันเป็นเช่นนี้ จะเกิดการยอมรับซึ่งกันและกัน ประชาชนก็จะมีความสุขอีก ถ้าประชาชนเข้าใจในเรื่องความแตกต่างทางสถานะ ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ก็ถึงเวลาที่เราน่าจะพิจารณาตรงนี้”

ในอีกด้านหนึ่ง คณะ กมธ.ยกร่างฯ บางส่วนตั้งข้อสังเกตว่า การกำหนดสัดส่วนสตรีจะก่อให้เกิดปัญหาระยะยาว เนื่องจากอาจมีผู้สมัครเพศหญิงไม่ครบตามสัดส่วนที่กำหนดไว้ จะกลายเป็นการบังคับให้ประชาชนต้องเลือกผู้หญิงที่เข้าสมัครหรือไม่? ถวิลวดีตอบทันทีว่า ไม่ใช่การบังคับ! เพราะในทางปฏิบัติจะต้องคำนึงถึงความพร้อมในแต่ละพื้นที่ ยกตัวอย่างการนำระบบดังกล่าวไปใช้ในต่างประเทศ จะต้องพัฒนาศักยภาพของเพศหญิงในด้านการเมืองก่อนที่จะมีการนำระบบนี้ไปใช้จริง ซึ่งในประเทศไทยก็มีการพัฒนาศักยภาพของเพศหญิงในด้านนี้มาหลายสิบปีแล้ว

ทั้งนี้ การกำหนดสัดส่วนของสตรีอย่างน้อย 1 ใน 3 ของสมาชิกสภาท้องถิ่นถือว่าน้อยมาก ซึ่งเป็นมาตรการชั่วคราวที่เปิดโอกาสให้กับคนที่มีโอกาสน้อยได้มีสิทธิเสนอตนเข้าสู่ระบบการเมือง โดยอาจจะเริ่มจากการเมืองท้องถิ่นในลำดับแรก แล้วผลักดันให้มีการกำหนดสัดส่วนของสตรีในบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง แม้ที่ผ่านมาจะมีการบรรจุรายชื่อของเพศหญิงเข้าไปในบัญชีรายชื่อส่วนหนึ่ง แต่ไม่ได้รับความใส่ใจจากพรรคการเมือง พิจารณาจากการจัดลำดับรายชื่อเพศหญิงไว้ในลำดับท้ายๆ

อย่างไรก็ตาม หากไม่สร้างทางเลือกให้ประชาชนในการเลือกตั้ง ก็จะมีแต่บุตร ภรรยา และทายาทนักการเมืองเข้าสู่ระบบการเลือกตั้ง โดยใช้สถานภาพทางเศรษฐกิจเป็นช่องทางในการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง ขณะที่ประชาชนที่มีศักยภาพ แต่ไม่มีปัจจัยดังกล่าว จะไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองได้

“เราเพียงแต่ให้คนที่มีโอกาสน้อยกว่าได้มีช่องทางที่จะเสนอตัวเข้ามาให้ประชาชนเลือก ไม่ได้หมายความว่าเพศหญิงที่เข้ามาสมัครตามสัดส่วนที่กำหนดไว้จะต้องได้รับเลือกทุกคน หากพื้นที่ไหนยังไม่พร้อมก็อาจจะให้เวลาในการพัฒนาศักยภาพไว้ 5-10 ปี จนกว่าจะเกิดความพร้อม แต่ต้องบัญญัติช่องทางเหล่านี้ไว้ ไม่เช่นนั้นจะเกิดขึ้นจริงได้ยากมาก ไม่ใช่คิดแต่ตัวเลขอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงคุณภาพด้วย

“ส่วนการเลือกตั้งในระดับชาติ เราไม่ได้ขอกำหนดสัดส่วนนี้ในระดับเขต เราเสนอให้กำหนดสัดส่วนสตรีในบัญชีรายชื่อ เป็นไปได้ไหมว่าอย่างน้อยผู้หญิงจะมีโอกาสได้เข้าไปเสนอตัวให้ประชาชนเลือก ซึ่งหากผลักดันสำเร็จ ก็จะเป็นการส่งสัญญาณให้กับพรรคการเมืองว่าจะต้องพัฒนาศักยภาพของผู้สมัครเพศหญิง เพราะมีการกำหนดสัดส่วนของสตรีไว้แล้ว”

ข้อถกเถียงในประเด็นนี้น่าจะยุติได้โดยง่าย แต่ทำไมจึงมีการแขวนประเด็นดังกล่าวไว้รอการพิจารณาอีกครั้ง?

ถวิลวดีบอกว่า แต่ละคนมีจุดยืนที่แตกต่างกัน จะยอมรับในหลักการที่เสนอหรือไม่ ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ ซึ่งในท้ายที่สุดหากคณะ กมธ.ยกร่างฯ ท่านอื่นๆ ไม่เห็นด้วยกับหลักการนี้ ก็ต้องยอมรับ โดยส่วนตัวเคยเป็นทั้งเสียงส่วนน้อยและเสียงส่วนใหญ่ เข้าใจถึงจุดยืนในการเสนอหลักการของโครงสร้างรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามจะต้องให้เกียรติกับคณะ กมธ.ยกร่างฯ ทุกคนที่เข้ามาทำหน้าที่ในจุดนี้

“มีความพยายามที่จะคุยกันด้วยความเข้าใจหลายครั้ง แต่มันเรื่องของแต่ละคน คิดไม่เหมือนกัน จะไปบังคับความคิดของใครไม่ได้ เพราะคณะ กมธ.ยกร่างฯ ทุกคนมีความเป็นอิสระ ไม่ได้ขึ้นตรงต่อใคร ทุกคนตัดสินใจบนพื้นฐานความเชื่อของตัวเองทั้งนั้น เราอาจจะมีการพูดคุยกันว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างนี้ แต่ท้ายที่สุดไม่จำเป็นต้องเชื่อก็ได้

“เพราะเคารพในการตัดสินใจของคณะ กมธ.ยกร่างฯ ทุกคน ฉะนั้นไม่ว่าข้อสรุปในเรื่องจะเป็นอย่างไร ดิฉันยอมรับได้ แล้วค่อยพัฒนาในโอกาสต่อไป เพราะต้องเดินหน้าต่อไป เพียงแต่ว่าเราก็เสียใจ ที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกของสหประชาชาติแล้ว ซึ่งรับปากว่าจะปฏิบัติตามข้อตกลงกัน ทั้งนี้ดัชนีชี้วัดตัวหนึ่งคือเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ แต่ประเทศไทยยังไม่ประสบความสำเร็จ ก็ต้องยอมรับความเป็นจริงว่ามันเกิดขึ้นได้ยาก”

อย่างไรก็ตาม จะต้องผลักดันเรื่องนี้ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการเสนอให้บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงการรณรงค์ให้เพศหญิงเกิดความสนใจทางการเมืองและพัฒนาศักยภาพของเพศหญิงให้พร้อมที่จะเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง เพราะหากมีกลไกที่เปิดโอกาสให้เพศหญิงเข้าสู่ระบบการเมืองได้มากขึ้น ก็สามารถที่จะทำหน้าที่ได้อย่างมีศักยภาพ

นอกจากนั้นแล้ว ถวิลวดีย้ำว่า การกำหนดสัดส่วนสตรีไม่ได้ขัดกับประชาธิปไตย เพราะการสร้างกลไกต่างๆ จะต้องคำนึงถึงผู้ที่มีโอกาสน้อยให้สามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับสังคมได้มากที่สุด

“หน้าที่หลักของดิฉันคือการสร้างประชาธิปไตย ข้อเสนอนี้ไม่ใช่สวนทางกับประชาธิปไตย ประชาธิปไตยไม่จำเป็นจะต้องเท่ากันหนึ่งๆ แต่ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเสรีภาพด้วย ไม่ว่าจะเป็นคนชายขอบ คนด้อยโอกาส ไม่อย่างนั้นจะไม่มีเรื่องของพหุนิยม ระบบสัดส่วน คนนับถือศาสนาต่างกัน และเรื่องสิทธิสตรี ฯลฯ ฉะนั้นรัฐธรรมนูญจะต้องเปิดโอกาสตรงนี้ เพื่อเสริมสร้างให้มันเกิดได้จริง”

ในมุมมองของนักวิชาการที่เชี่ยวกรำกับการวางรากฐานประชาธิปไตย พึงพอใจกับบทบัญญัติส่วนใดของรัฐธรรมนูญมากที่สุด? ถวิลวดีเผยว่า พึงพอใจกับบทบัญญัติในหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ เพราะเป็นหมวดที่ให้ความสำคัญกับสิทธิพลเมืองมากที่สุด เช่น การบัญญัติให้มีการจัดสรรงบประมาณที่คำนึงถึงความเสมอภาคทางเพศ เนื่องจากเป็นการยกระดับการจัดสรรงบประมาณที่สอดคล้องกับสากล เป็นต้น

ส่วนข้อกังวลที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ “การปรองดอง” เพราะจะต้องมีกระบวนการที่ดำเนินไปพร้อมกับการบัญญัติแนวทางการปรองดองไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่สามารถเป็นหลักประกันได้ว่าการปรองดองจะเกิดขึ้นจริง เนื่องจากปัจจัยสำคัญขึ้นอยู่กับว่าประชาชนจะเป็นผู้สร้างความปรองดอง ซึ่งจะต้องดำเนินการพร้อมกันทุกกลุ่ม ไม่ใช่ทำเฉพาะคนกลุ่มเดียว นอกจากนั้นยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับโครงสร้างการเมืองและองค์กรอิสระต่างๆ ที่จะทำหน้าที่ในการยับยั้งปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น เพราะจะต้องผลักดันให้มีการปฏิบัติแล้วเกิดผลจริง

ไม่คิดลาออก หากภารกิจยังไม่สำเร็จ

แม้ช่วงที่ผ่านมาในวงกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะเกิดปัญหาจน “ทิชา ณ นคร” หรือ “ป้ามล” ต้องลาออกจากตำแหน่ง กมธ.ยกร่างฯ จึงเกิดคำถามตามมาว่าจะมีบรรดานักร่างรัฐธรรมนูญผู้ใดถอดใจอีกหรือไม่ คำถามดังกล่าวได้ชี้มายัง “ถวิลวดีบุรีกุล” หนึ่งในผู้ร่วมผลักดันวาระร้อนต่างๆ ร่วมกับ “ป้ามล”

“ไม่คิดจะลาออก” ถวิลวดีเปิดคำสัมภาษณ์ในประเด็นดังกล่าว พร้อมกับเปิดเผยว่าจะไม่มีการเดินออกจากกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะภารกิจยังไม่เสร็จสิ้น ยืนยันว่าไม่มีอุปสรรคใดที่จะขวางกั้นการปฏิบัติหน้าที่ได้

“ภารกิจยังไม่เสร็จ จะต้องทำให้สำเร็จ เพราะเราเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาในฐานะหน่วยงานรัฐ ฉะนั้นก็จะไม่ทำให้คนที่เลือกเข้าใจว่าเราจะทิ้งหน้าที่ เราต้องทำ แต่ทุกคนมีความเห็นของตนเอง ก็ต้องเดินหน้าต่อไป”เสียใจหรือไม่กับการลาออกของ“ป้ามล”? ถวิลวดีตอบทันทีว่า “เสียใจและเสียดายอย่างมาก เข้าใจเหตุผลของป้ามล เพราะป้าคิดว่าไม่อยู่จะเป็นประโยชน์มากกว่า ป้าถึงออกไป เพราะเราก็ทำงานครึ่งหนึ่งแล้ว ร่างเกือบเสร็จแล้ว ก็ต้องเดินหน้ากันต่อไป

"เราจะต้องทำต่อ ไม่อย่างนั้นป้ามลก็จะเสียใจ ป้ามลเป็นคนเดียวที่เดินออกไป เพื่อเราจะเดินหน้าต่อไปได้"

อย่างไรก็ตาม ถวิลวดีเปิดเผยถึงความรู้สึกเบื้องลึกระหว่างการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า เคยมีความท้อแท้ใจเช่นกันกับภาระงานที่หนักหน่วง เพราะยังมีภาระงานของหน่วยงานต้นสังกัดที่ต้องรับผิดชอบควบคู่กันไปด้วย แต่ก็เป็นงานที่เชื่อมโยงกัน นั่นคือการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในสังคม จึงยินดีที่จะสู้ต่อไป

“อาจเพราะมุ่งมั่นมาก เราก็เลยคาดหวังเยอะ ความคาดหวังของเรามันคงจะไม่ได้ดังหวังในเวลาอันรวดเร็วหรืออาจไม่ได้ดังหวังเลยก็ต้องยอมรับ”

ถวิลวดีขมวดที่มาของความท้อแท้ณ จุดหนึ่งที่เกิดขึ้นทั้งนี้ อีกหนึ่งภารกิจของถวิลวดีคือการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เธอมุ่งมั่นที่จะผลักดันวาระต่างๆ ในกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ

“ดิฉันออกไปข้างนอกฟังเสียงประชาชนเยอะ ซึ่งเขาฝากความคาดหวังมามากเช่นกัน เขาต้องการให้เราเป็นตัวกลาง ส่งสารจากประชาชนไปยัง กมธ.ยกร่างฯ ประเด็นเรื่องสิทธิพลเมือง เรื่องสิทธิสตรี ก็มาจากกลุ่มนี้ ถ้าไม่ได้นำเสียงของประชาชนมาถึงกมธ.ยกร่างฯ ก็เท่ากับว่าไม่ได้สร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

“ทุกครั้งเรากลับไปประชาชนจะถามว่าเสียงของเขามันจะมีใครฟังเพราะเขาเป็นคนเล็กคนน้อย แต่เราพยายามเปิดโอกาสให้เขามีคนฟัง เสียงของเขาต้องมีคนฟัง เพราะเราอุตส่าห์ออกแบบให้มีคนเข้าร่วมมากที่สุดครอบคลุมทุกกลุ่ม ไม่ใช่กลุ่มจัดตั้ง จะมีประโยชน์อะไรถ้าภาษีของคนที่เราใช้ในกระบวนการครั้งนี้ไม่มีความหมายดิฉันไม่ได้นั่งแต่ในห้องสี่เหลี่ยม แต่ไปฟังเสียงคนข้างนอก”

แม้จะมีคนอย่างถวิลวดีเป็นผู้ส่งสารจากประชาชน แต่จะมั่นใจได้อย่างไรว่าสารจากประชาชนจะได้รับการพิจารณา? ถวิลวดีชี้แจงว่า “ไม่ใช่
ข้อเสนอทั้งหมดจะถูกตีตกไป เพราะประเด็นใดที่เป็นประโยชน์ก็จะต้องผลักดันจนถึงที่สุด หลายครั้งข้อเสนอเหล่านั้นก็สอดคล้องกับข้อเสนอจากส่วนอื่นๆ อย่างสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) อยู่แล้ว ก็ยิ่งไม่ต้องพูดกันมาก”

ในการประชุมคณะ กมธ.ยกร่างฯถวิลวดีมีบทบาทในการผลักดันประเด็นร้อนหลายวาระ จน ศ.บวรศักดิ์อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ต้องปรามอยู่บ่อยครั้ง กรณีดังกล่าวสะท้อนความขัดแย้งระหว่างคณะ กมธ.ยกร่างฯ หรือไม่? ถวิลวดีสวนทันทีว่าไม่เป็นความจริง เพราะ ศ.บวรศักดิ์ให้การสนับสนุนคณะ กมธ.ยกร่างฯในการเสนอข้อคิดเห็นอยู่แล้ว โดยเฉพาะข้อเสนอที่ตนผลักดันให้มีการกำหนดสัดส่วนสตรีในสภาท้องถิ่นเพราะ ศ.บวรศักดิ์ เห็นว่าเรื่องดังกล่าวจะนำประเทศไปสู่ความเป็นสากล ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศได้รับการยอมรับมากขึ้น

“อาจารย์อธิบายว่ามันเป็นการเลือกปฏิบัติที่เป็นธรรม ไม่ใช่การเลือกปฏิบัติ แต่เป็นการสร้างความเป็นธรรมกับคนที่มีโอกาสน้อย ซึ่งกลุ่มนี้มีอยู่เป็นจำนวนมาก อาจารย์เป็นประธานที่เข้าใจเรื่องนี้ ไม่ได้ขัดแย้งอะไรเลย”

ในทางตรงกันข้าม ถวิลวดีเปิดเผยว่า นอกจากนี้กรณีดังกล่าวยังได้รับการสนับสนุนจาก ศ.บวรศักดิ์เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นต่อที่ประชุมคณะกมธ.ยกร่างฯ เนื่องจากเคยร่วมงานกันมาตั้งแต่อดีต ซึ่ง ศ.บวรศักดิ์ ทราบดีว่าไม่ได้แสดงความคิดเห็นโดยขาดข้อมูลพื้นฐาน เพราะในฐานะที่เป็นนักวิชาการศึกษาเกี่ยวกับการวางรากฐานประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของพลเมือง รวมถึงทำหน้าที่ในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จึงทำให้ตนมีข้อมูลและหลักฐานในการยืนยันข้อเสนอต่างๆ ที่ได้อภิปรายร่วมกับคณะ กมธ.ยกร่างฯ

“เรื่องนี้มันมีที่มาที่ไป เพราะดิฉันมีฐานจากงานวิจัย มีหลักการมาจากการฟังเสียงประชาชน ไม่ได้คิดจากความรู้สึกหรือความเชื่อ เราเคยทำงานร่วมกันมา ไม่มีอะไรอยู่เบื้องหลังในการเสนอ ไม่ได้เป็นนักการเมือง”ถวิลวดีหยิบยกคำสอนของ“ป้ามล” สรุปท้ายหัวใจสำคัญในการทำงานร่วมกันของคณะ กมธ.ยกร่างฯว่า “เอาสิ่งที่ดีของทุกคนมาช่วยกันทำงาน ก้าวข้ามด้านมืดของเขาเอาด้านสว่างมาใช้ นี่ป้ามลสอนเลยนะ เอาด้านสว่างของทุกคนมาใช้ประโยชน์ ให้ทุกคนภูมิใจด้านสว่างของตนเอง”


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปลุกพลังผู้หญิง สร้างสมดุลการเมือง

view