จากประชาชาติธุรกิจ
ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่แตะระดับ 84% ของจีดีพี ถือว่าค้ำคอคนไทยที่ทำให้กำลังซื้อทรง ๆ ทรุด ๆ มาอย่างต่อเนื่อง
นี่ยังไม่นับรวมหนี้นอกระบบที่ยังไม่รู้มีจำนวนอีกเท่าไหร่
ขณะที่รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาให้กับประชาชนคนไทยระดับรากหญ้า มีช่องทางเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบมากขึ้น แทนการเป็นหนี้นอกระบบที่ต้องเสียดอกเบี้ยสูงมาก ทั้งอาจมีปัญหาเรื่องทวงหนี้ (โหด)
โดยกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดให้ใบอนุญาต "นาโนไฟแนนซ์" เพื่อปล่อยกู้รายย่อยวงเงินไม่เกิน 1 แสนบาท อัตราดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 36% ต่อปี แม้จะเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าเงินกู้นอกระบบ แต่ก็ยังเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงมาก
หลังธปท.ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 24 มกราคม 2558 มีบริษัทเล็กใหญ่ จำนวนมากยื่นขอใบอนุญาตเป็นผู้ให้บริการ "นาโนไฟแนนซ์" อาทิ เงินสดทันใจ ในเครือ บมจ.ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979, ไทยเอซ แคปปิตอล ผู้ให้บริการเช่าซื้อรถแท็กซี่, เงินติดล้อ ในเครือธนาคารกรุงศรี, เมืองไทยลิสซิ่ง รวมถึงบริษัทไอร่า แอนด์ ไอฟุล ของ บล.ไอร่า ร่วมกับพันธมิตรญี่ปุ่น และตระกูลจุฬางกูร แห่งซัมมิท กรุ๊ป ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ของประเทศ
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบริษัทที่สนใจเข้าเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์
โดยกระทรวงการคลังยืนยันว่า ภายในเดือนมีนาคม-เมษายนนี้จะสามารถอนุมัติรายชื่อผู้ได้รับใบอนุญาตนาโนไฟแนนซ์ลอตแรกออกมาได้
ขณะที่แต่ละบริษัทก็เตรียมแผนเจาะกลุ่มเป้าหมาย ทั้งแม่ค้าตลาดสด ตลาดนัด สาวโรงงาน คนขับรถแท็กซี่ ฯลฯ
บางบริษัทเดินหน้าตั้งทีมปล่อยสินเชื่อและทวงหนี้นับ 1,000 คน เพื่อไปประจำตามตลาดสด หรือชุมชนนั้น ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกทั้งการปล่อยกู้และเก็บหนี้รายวัน แบบถึงที่ถึงบ้าน
ฟังดูเผิน ๆ น่าจะช่วยให้การเข้าถึงแหล่งเงินกู้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนค้าขาย หรือขยายกิจการเล็ก ๆ ได้ดีขึ้น
กลับกันหากความสะดวกสบายที่เข้าถึงเงินกู้เหล่านี้ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง หรือนำไปใช้จ่ายแบบผิด ๆ ก็กลายเป็นส่งเสริมประชาชนเป็นหนี้มากขึ้นนั่นเอง
สิ่งสำคัญคือ นอกจากการเพิ่มโอกาสเป็นหนี้แล้ว ขณะเดียวกัน ภาครัฐต้องส่งเสริมการให้ความรู้เรื่องบริหารจัดการหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเติมเต็มความรู้ด้าน "การออม" ให้กับประชาชนด้วย ไม่เช่นนั้นประชาชนก็จะติดกับดักหนี้
ดังเช่นที่ "สถาบันคีนันแห่งเอเซีย" ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความรู้ทางการเงินของคนไทย และปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิซิตี้ ระบุว่าหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวของหลาย ๆ ครัวเรือน เหตุสำคัญมาจากประชากรส่วนใหญ่มีความรู้เรื่องทางการเงินในระดับที่ค่อนข้างต่ำ
โดยกลุ่มที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องทางการเงินต่ำที่สุด คือ กลุ่มนักเรียนนักศึกษา-แรงงานที่มีรายได้น้อย และเกษตรกร ทำให้ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการติดกับดักหนี้สินและความยากจน
กรณีกลุ่มนักเรียนนักศึกษาคิดเป็นประมาณ 17-18% ของประชากร หรือราว 12 ล้านคน ส่วนใหญ่ประสบปัญหาทางการเงินเนื่องจากขาดความรู้ความเข้าใจ ประกอบกับสังคมบริโภคนิยมและพฤติกรรมเลียนแบบ ทำให้มีการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเพื่อซื้อสมาร์ทโฟน เครื่องสำอางราคาแพง
ทั้งยังพบว่ากลุ่มนิสิตนักศึกษามีการนำเงินกู้ยืมการศึกษามาใช้ซื้อสินค้าเหล่านี้ จนไม่สามารถชำระคืนเงินกู้ยืมได้
สะท้อนว่าการสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงิน เป็นการแก้ปัญหาด้านเดียว และไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนได้ หากไม่มีการส่งเสริมความรู้เรื่องการบริหารจัดการหนี้ และ การออมอย่างจริงจัง
และหากปล่อยไว้เช่นนี้ กำเนิด "นาโนไฟแนนซ์" ก็จะเป็นเพียงการย้ายหนี้จากเงินกู้นอกระบบเข้าสู่ในระบบ ทั้งยังอาจส่งเสริมให้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นด้วย
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน