จาก โพสต์ทูเดย์
หมายเหตุ : บทความนี้เขียนโดย คุณวิกรม กรมดิษฐ์ และตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2555
เมื่อเอ่ยถึงสิงคโปร์สิ่งแรกที่เราต่างนึกถึงคือ “ลีกวนยู” เพราะตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่เขาดำรงตำแหน่งผู้นำสิงคโปร์เขาได้นำพาความเจริญรุ่งเรือง ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ มายังเกาะเล็กๆ แห่งนี้จนทำให้กลายเป็นผู้นำที่โดดเด่นมากที่สุดคนหนึ่งในโลก
“ม้วนเดียวจบ” เมื่อบุตรชายของเขาคือนายลีเซียนลูง เข้ารับช่วงตำแหน่งต่อจากนายโก๊ะจ๊กตง ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่ปรากฏความไม่พอใจจากคนสิงคโปร์หรือจากผู้ร่วมงานในรัฐบาลเลย
ลีกวนยู คือผู้นำของโลกที่สามารถครองอำนาจได้นานที่สุดคนหนึ่งของโลกและเลือกเวลาก้าวลงจากอำนาจได้อย่างสวยงามแบบ ผู้ชนะ เพราะเขาเป็นผู้นำที่ รู้จักการวางตัวให้เหมาะสมทั้งในเรื่องของผลประโยชน์ ความโปร่งใส จนทั่วโลกต่างยกย่องว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีการคอร์รัปชันน้อยที่สุดและน่าลงทุนมากที่สุดในโลก
เมื่อปี ค.ศ.1999 สิงคโปร์ได้รับฉายา “สวิตเซอร์แลนด์แห่งตะวันออกไกล” ที่มีรายได้ต่อหัวกว่า 22,000 เหรียญสหรัฐต่อปี โดยใช้เวลาเพียง 30 กว่าปีก็สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศที่ยากจนกว่าไทย แม้กระทั่งน้ำยังไม่พอใช้ ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติใดๆ เลย ผมมองว่าหากปราศจากลีกวนยูแล้วสิงคโปร์คงไม่มีแบบนี้ในวันนี้แน่
ลีกวนยู คือใคร
ลีกวนยู เป็นชาวจีนแคะรุ่นที่สาม ซึ่งบรรพบุรุษของเขาได้อพยพมาจากมณฑลฮกเกี้ยน ประเทศจีน เข้ามาตั้งรกรากในสิงคโปร์เมื่อ 100 ปีกว่าที่แล้ว ลีกวนยูเป็นลูกชายคนโตของครอบครัวที่คุณพ่อของเขาคือ ลีซินคุณ ซึ่งเคยทำงานกับบริษัทน้ำมันเชลล์และต่อมามีอาชีพเป็นพนักงานในร้านขายนาฬิกาและเครื่องเพชรแถวถนนไฮสตรีทใน สิงคโปร์ คุณแม่ของลีกวนยู ชื่อ นางชัวจิมเหนียว เป็นครูสอนการทำอาหารจีนและมาเลย์ ที่มีชื่อเสียง
ลีกวนยู ลืมตาดูโลกเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2466 พ่อของเขามีอายุเพียง 20 ปี ส่วนแม่ก็มีอายุเพียง 16 ปีเท่านั้น เขาเกิด ณ บ้านเลขที่ 92 ถนนกำปงยะวา สิงคโปร์ ตอนเด็กๆ ลีกวนยูเป็นเด็กหนุ่มที่มีอายุน้อยที่สุดในสิงคโปร์ที่ได้รับทุนเรียนที่ Raffles College เพราะเขาเป็นเด็กที่มีผลการเรียนยอดเยี่ยมจนเขาได้ไปศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยที่ London School of Economics ในประเทศอังกฤษ และได้โอนไปเรียนกฎหมายต่อที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์จนได้รับเกียรตินิยมในปี ค.ศ.1949 การเรียนที่เคมบริดจ์ทำให้เขาได้พบกับภรรยาชื่อ กวาเกี้ยกซู และมีบุตรร่วมกัน 3 คน คนโตคือ ลีเซียนลูง ลูกสาวชื่อ ลีไวหลิง และคนสุดท้องคือ ลีเสียนยาง
ลีกวนยู นับเป็นปัญญาชนอย่างแท้จริงทั้งในด้านบุคลิกภาพ ภาษาอังกฤษของเขาคล่องแคล่วอย่างหาตัวจับได้ยากและเป็นนักคิดที่สมองฉับไว พูดได้ทั้งภาษามาเลย์ ภาษาทมิฬ ภาษากวางตุ้ง ภาษาแมนดาริน ภาษาฮกเกี้ยน และภาษาญี่ปุ่น
เมื่อเขาเรียนจบเขากลับมาเริ่มอาชีพนักกฎหมายในปี ค.ศ.1950 กับสำนักกฎหมายชื่อ Laycoch and Ong เขารู้สึกว่าตัวเองมีความสนใจและชอบการเมือง ปี ค.ศ.1954 จึงได้ตั้ง “พรรคกิจประชาชน” (People’s Action Party) อีก 5 ปี เขารับตำแหน่งเป็นผู้นำสิงคโปร์ในเมื่ออายุเพียง 35 ปี
ชีวิตวัยหนุ่มของลีกวนยู เป็นคนรักพวกพ้องและเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง พูดจาโผงผาง แข็งกร้าวต่อพวกที่บ่อนทำลายชาติ ต่อต้านคอมมิวนิสต์ ตัดสินใจเด็ดขาด ขยันขันแข็ง อดทนและบึกบึนแต่ก็ละเอียดอ่อนมาก ทำทุกอย่างด้วยความตั้งใจให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดในทุกๆ เรื่อง แม้การขัดรองเท้าก็จะต้องสะอาดและเป็นมันเงาที่สุด
ลีกวนยู เป็นนักคิดที่คิดอย่างมีเหตุผล สามารถวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างแม่นยำและต่อเนื่อง มีวิสัยทัศน์โดยธรรมชาติของเขาเองเป็นคนที่มีเลือดนักสู้เพื่อแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้อย่างมีเหตุผล ไม่ได้ต่อสู้อย่างเลื่อนลอย เขาไม่ใช่ปัญญาชนสูงส่งประเภทที่ว่าอยู่บนหอคอยงาช้าง หรือพวกไฮโซแต่อย่างใด แต่เขาก็มีนิสัยจุกจิกจู้จี้พอสมควร เป็นคนละเอียดทำอะไรเรียบร้อย ไม่ชอบอะไรมั่วๆ หยาบๆ โดยเฉพาะในด้านความสะอาด เรียกได้ว่ามือของเขาต้องสะอาดแบบมือ ต้องเกลี้ยงเกลาอยู่ตลอดเวลา
ลีกวนยู ชอบพักผ่อนหย่อนใจด้วยการอ่านหนังสือ ชอบอยู่โดดเดี่ยว กว่าจะเป็นเพื่อนกับใครสักคนได้ต้องใช้เวลาพอประมาณและมักจะระแวงคนที่เป็นกันเองกับใครง่ายๆ ชอบที่จะดูนิสัยคนที่คบด้วยไปนานๆ ก่อนจะลงความเห็นแต่ละคนเป็นอย่างไรและควรปฏิบัติต่อคนเหล่านั้นอย่างไร แต่อย่างไรก็ตาม เขาก็เป็นคนมีอารมณ์ขันพอสมควร
ลีกวนยู เป็นคนที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพอนามัยเออกกำลังกายทุกเช้า รวมทั้งการวิดพื้น กระโดดเชือก ยกน้ำหนักบริหารกล้ามเนื้อ เขากินอาหารเช้าเล็กน้อยเท่านั้น จิบชาจีนตลอดวัน กินอาหารเย็นเป็นอาหารหลักประจำวัน แต่ก็กินไม่มากนัก และชอบดื่มไวน์สักแก้วสองแก้วในตอนเย็น และที่สำคัญว่ากันว่าเขาชื่นชอบการเล่นกอล์ฟมาก จนอาจกล่าวได้ว่าเขาเป็นนายกรัฐมนตรีที่เล่นกอล์ฟดีที่สุดในโลก
ลีกวนยู มีลักษณะผสมระหว่างความเป็นนักนิยมความจริงอย่างลึกซึ้ง ปรัชญาการบริหารการปกครองของเขาก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความเคารพต่อกฎหมายกับการมุ่งสู่เป้าหมายอย่างอิสระของประชาชน
ด้านการเมือง
เมื่อเผชิญหน้ากับคู่ต่อสู้ ลีกวนยู แก้ปัญหาต่างๆ เฉพาะหน้าได้เด็ดขาด เขาเคยเอาชนะพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งในการเลือกตั้งทั่วไปและการออกเสียงประชามติ จนปัจจุบันคู่ปรปักษ์ทางการเมืองของเขาส่วนใหญ่เลิกราจากเวทีการเมืองไป ไม่ก็ถูกจำคุกอยู่
เมื่อปี พ.ศ.2510 พรรคกิจประชาชนของลี ได้รับเลือกเข้าครองที่นั่งในสภา ถึง 49 จาก 51 ที่ และในปี พ.ศ.2511 ซึ่งมีการเพิ่มจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคส่งคนลงแข่งขัน 58 คน ได้รับเลือกกลับเข้ามาถึง 51 คน
ในอีกด้านหนึ่งของการวิพากษ์วิจารณ์มักมีเสียงกล่าวว่าเขาเป็นนักการเมืองการปกครองที่มีเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราว และบางคนอาจมองว่าเขาเป็นจอมเผด็จการที่คอยใช้อำนาจกดหัวประชาชน แต่เขาก็มักจะหลีกเลี่ยงการมีความคิดอย่างแคบๆ หรือการหลงใหลใน อำนาจความเก่งกาจของตนด้วยการออกเดินทางไปพบปะผู้คน เพื่อเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้น
เมื่อครั้งที่ ลีกวนยู ขึ้นมาบริหารประเทศมีปัญหาหลายประการอาทิ ระบบการศึกษาไม่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม, โรงเรียนมีหลายรูปแบบตามเชื้อชาติก่อให้เกิดอคติกับชนชาติอื่น, หลักสูตรการสอนมักเน้นการจำมากกว่าการใช้ความคิดวิเคราะห์ และ การเพิ่มจำนวนประชากรอย่างรวดเร็วภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้สิงคโปร์มีเด็กนักเรียนมากขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง
ข้อสังเกต คือระบบการศึกษาของสิงคโปร์เป็นแบบ “แพ้คัดออก” หรือระบบ “พีระมิด” ในการก้าวสู่แต่ละขั้นของพีระมิด นักเรียนต้องผ่านการสอบอย่างเข้มงวด เพราะรัฐบาลเอาจริงเอาจังกับคุณภาพของการศึกษา เนื่องจากสิงคโปร์มีบุคคลหลายเชื้อชาติ รัฐบาลจึงกำหนดนโยบายเรียนสองภาษา นักเรียนทุกคนจะต้องเรียนภาษาอังกฤษและภาษาพ่อแม่อีกหนึ่งภาษา รัฐบาลให้ความสำคัญแก่ภาษาอังกฤษสูงสุดเพราะจะได้พูดสื่อสารและเรียนรู้จากชาวต่างประเทศได้อย่างเต็มที่
ด้านเศรษฐกิจ
นับตั้งแต่ ลีกวนยู เข้ามารับตำแหน่งนายก รัฐมนตรีครั้งแรกในปี ค.ศ.1959 ต้องพบกับปัญหาต่างๆ มากมาย คน 31% ต้องทำงานเลี้ยงคนทั้งประเทศ เพราะงานมีไม่มาก อัตราการเพิ่มของประชากรในปีนั้นก็สูงถึง 33% แต่ปัจจุบันสิงคโปร์กลับเป็นประเทศที่มีสภาพเศรษฐกิจที่ล้ำหน้าเกินกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่ง ลีกวนยู มีวิธีการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ ดังนี้
- แยกการเมืองออกจากการบริหารเศรษฐกิจ,ปฏิรูประบบราชการ, การเจรจากับกลุ่มอิทธิพลต่างๆ เช่น พ่อค้า นักลงทุน ข้าราชการ นักศึกษา นักหนังสือพิมพ์ให้ช่วยกันสร้างชาติ ทำโทษอย่างเด็ดขาดกับ ผู้ไม่ให้ความร่วมมือ,สร้างบรรยากาศตราพระราชบัญญัติที่เป็นประโยชน์ต่อการลงทุน ,การจัดระบบแรงงานให้มีความมั่นคง, การสร้างหน่วยงานที่เอื้อประโยชน์ให้กับการพัฒนาอุตสาหกรรม เช่น การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม หน่วยงานส่งเสริมการลงทุน, การพัฒนาระบบการเงิน
ด้านการพัฒนาสังคม
- รณรงค์การกำจัดวัฒนธรรมต่างชาติที่ไม่พึงปรารถนา เช่น สั่งปิดโรงระบำโป๊ ห้ามตู้เพลง หนังสือโป๊และสมาคมลับต่างๆ, การส่งเสริมให้มีความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวในความเป็นชาวสิงคโปร์มีความรักชาติ, เผยแพร่ภาพลักษณ์ของคนสิงคโปร์ยุคใหม่ ว่าเป็นคนทำงานหนักเคารพกฎหมาย มีความสุจริตใจ สุภาพ อ่อนโยนและยิ้มแย้มแจ่มใสต่อกัน, ส่งเสริมการสร้างบ้านเมืองให้สะอาด เป็นระเบียบ จัดตั้งกระทรวงสิ่งแวดล้อม บำรุงรักษาต้นไม้ ชักชวนให้ประชาชนอนุรักษ์ต้นไม้ โดยเฉพาะต้นไม้ใหญ่ๆ ให้รักษาเอาไว้, กฎหมายของสิงคโปร์มีการลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างเฉียบขาด, จัดระบบผังเมืองที่ดีและมีการจัดระเบียบการใช้รถใช้ถนนอย่างมีประสิทธิภาพ
ลักษณะนิสัยส่วนตัวของอดีตผู้นำประเทศสิงคโปร์ได้สะท้อนออกมาในผลงานที่ทำเพื่อสังคมความเข้มแข็ง เด็ดขาด ฉลาดเฉลียวได้นำพาให้สิงคโปร์เป็นประเทศชั้นแนวหน้า ซึ่งเป็นสิ่งที่นักบริหารรุ่นหลังควรเรียนรู้และนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมก็จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน