จากประชาชาติธุรกิจ
ความน่ากลัวของ "โรคลมชัก" ไม่ได้มีเพียงแค่ทำให้ร่างกายเกิดอาการเกร็งกระตุกไปชั่วขณะ จนอาจนำมาซึ่งอุบัติเหตุร้ายภายในพริบตาเดียวเท่านั้น แต่ยังแอบซ่อนความอันตรายอันรุนแรงระดับทำให้เซลล์สมองตาย ในกรณีที่มีอาการกำเริบติดต่อกันบ่อย ๆ เอาไว้อีกด้วย
เพื่อเป็นการเตือนให้ตระหนักถึงภัยเงียบใกล้ตัวจากโรคลมชัก พ.อ. (พิเศษ) ดร.น.พ.โยธิน ชินวลัญช์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านอายุรกรรมสมองและระบบประสาท โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า จึงได้ออกมาให้ข้อมูลถึงความน่ากลัวของโรคภัยชนิดนี้กับประชาชน
"ในเมืองไทยมีการประมาณตัวเลขผู้ป่วยโรคลมชักเอาไว้ราว6-7 แสนคน ซึ่งหมายความว่าจะพบคนที่เป็นโรคลมชัก 1 คน ในทุก 100 คน โดยสาเหตุของโรคเกิดจากความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าภายในสมองลัดวงจร จนก่อให้เกิดอาการชักตามมา นอกจากนี้ อาจมีสาเหตุมาจากโรคทางกรรมพันธุ์, ภาวะติดเชื้อในสมอง, สมองขาดออกซิเจน มีไข้สูงแล้วชัก มีอุบัติเหตุทำให้เกิดแผลเป็นในสมอง เซลล์ในสมองอยู่ผิดที่ ไปจนถึงเนื้องอกในสมอง และอีกหลายสาเหตุ"
น.พ.โยธินกล่าวว่า ภาวะชักมีอยู่หลายประเภท อาทิ เหม่อลอย, เกร็ง, กระตุก, คอบิด แขนเหยียดไม่เท่ากัน หรือมีอาการชักทั่วทุกส่วนที่เรียก โรคลมบ้าหมู อาจจะเป็นอาการที่สังเกตง่าย ผู้ป่วยมีโอกาสถูกนำตัวส่งแพทย์และได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ สูง โรคลมชักหากได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ และถูกต้อง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถหายขาดได้
"ถ้าปล่อยให้คนไข้ชักอยู่เรื่อย ๆ สภาวะที่กระแสไฟฟ้าในสมองถูกระตุ้นมากเกินไป จะไปกระตุ้นให้เกิดการหลั่งสารทำลายเซลล์สมอง เซลล์สมองจะตาย เน็ตเวิร์กภายในเซลล์สมองจะเสีย คนไข้ที่มีอาการชักนาน ๆ พอเอกซเรย์สมอง 2 ปีถัดมา พบว่าสมองเหี่ยวลง สมองส่วนความจำก็เหี่ยวด้วย แล้วยังกระทบต่อสมองส่วนอื่น ภาวะเหล่านี้ถ้าเรารักษาช้า คนไข้จะไม่สามารถกลับมาปกติเหมือนเดิมได้เลย"
"วันที่ 26 มีนาคมของทุกปี เป็นวันโรคลมชักโลก เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญและอันตรายของโรคลมชัก" น.พ.โยธินทิ้งท้าย
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน