จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...พุสดี สิริวัชระเมตตา
เนื่องในโอกาสมหามงคลที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา ในวันที่ 2 เม.ย. 2558 ชมรมภูมิพลังแผ่นดิน จัดงานเสวนาภูมิพลังแผ่นดิน "รัตนะของแผ่นดิน จักรินทร์ราชสุดา" เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมายุ 5 รอบ เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของเจ้าฟ้าพระองค์เอกในพระบรมราชวงศ์จักรี ที่ทรงมีพระราชปณิธานและการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขของปวงประชาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยได้รับเกียรติจาก ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถานำ
ทรงเป็นดั่งแก้ววิเศษอันประเสริฐของแผ่นดิน
ดร.วิษณุ เริ่มต้นการปาฐกถา โดยแบ่งออกเป็น 3 หัวข้อใหญ่ เริ่มจากความสำคัญของการจัดงานเฉลิมพระเกียรติวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อย่างยิ่งใหญ่ในปีนี้ว่า วันที่ 2 เม.ย.ของทุกปีเป็นวันสำคัญ แต่ปีนี้สำคัญเป็นพิเศษ เพราะประจวบเหมาะวาระที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบปีนักษัตร หรือ 60 พรรษา ซึ่งตามความเชื่อของคนไทยและอีกหลายประเทศที่นับรอบตามปีนักษัตร เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี จะให้ความสำคัญและถือเป็นวาระแห่งความปีติยินดี นอกจากนี้เมื่อย้อนไป 164 ปีที่แล้ว วันที่ 2 เม.ย.ก็เป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์มาก่อน เพราะเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4) เสด็จขึ้นครองราชย์
“ผมเชื่อว่าคนไทยหลายคนได้รับรู้เรื่องราวของพระองค์ท่านอยู่มาก เพียงแต่ต่างมิติ เพราะคนที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ท่านมีมากมาย ผมเชื่อว่าถ้าวงสนทนาไหนหยิบยกเอาหัวข้อเกี่ยวกับพระองค์ท่านขึ้นมาพูดคุย วงสนทนานั้นจะไม่นิ่งเงียบ เพราะแต่ละคนพร้อมจะถ่ายทอดเรื่องราวของพระองค์ท่านในแง่มุมที่ต่างกัน แต่ไปสู่เป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ ยกย่องและเทิดทูน ซึ่งหากจะยกย่องว่าพระองค์ทรงเป็นเจ้าฟ้าขวัญใจมหาชนก็คงไม่ผิด”
ประการที่ต่อมา คือ พระนามของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หลายคนยังไม่เข้าใจถึงการใช้คำนำหน้าพระนามว่า “สมเด็จพระ” ดร.วิษณุบอกว่า ในพระบรมราชวงศ์จักรีมีเจ้านายที่ได้คำนำหน้าพระนามว่า “สมเด็จพระ” ไม่มากนัก โดยหลักการผู้ที่มีคำนำหน้าว่า “สมเด็จพระ” แบ่งเป็น 1.“สมเด็จพระ” ที่เป็นพระ แต่ไม่ได้เป็นเจ้านาย ดังนั้นไม่จำเป็นต้องใช้คำราชาศัพท์ 2.“สมเด็จพระ” ที่เป็นเจ้านายแล้วได้รับการสถาปนาสู่พระอิสริยยศนี้ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สถาปนาพระราชอิสริยยศ และพระราชอิสริยศักดิ์ เป็น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ในปี 2520
ในส่วนพระนามของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ดร.วิษณุ อธิบายว่า หลายคนอาจคิดว่าชื่อการตั้งพระนามของพระบรมวงศานุวงศ์ เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยของพระมหากษัตริย์ ซึ่งก็จริง แต่ในประวัติศาสตร์การจะตั้งพระนามของพระธิดาที่มีคำว่า เทพ รัตนะ และ สุดา ในพระนามเดียวกันนั้นไม่เคยปรากฏมาก่อน ที่ผ่านมาจะมีเพียงการประสมคำเหล่านี้ เพียง 2 ใน 3 เท่านั้น
“ผมอยากให้ทุกคนภูมิใจในการเปล่งพระนามของพระองค์ และผมอยากเชิญชวนให้พวกเราขานพระนามพระองค์ว่า “สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ” เพื่อให้สมกับที่พระองค์ทรงเป็นแก้วของเทพ, แก้วของแผ่นดิน ผมเชื่อว่าถ้าเราเข้าใจแบบนี้ จะออกพระนามด้วยความซาบซึ้งมากกว่าไม่เข้าใจที่มา”
ประการสุดท้าย ดร.วิษณุ สรุปถึงพระปรีชาสามารถในด้านต่างๆ ของพระองค์ด้วยที่ประจักษ์ของคนไทยและชาวโลกมาตลอด โดยแบ่งเป็น 3 ด้านหลัก ประกอบด้วย ด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาของชาติ ด้านพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุณภาพประเทศ สุดท้ายคือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ทรงเป็นเจ้าฟ้านักปราชญ์
ในการเสวนาหัวข้อ "รัตนะของแผ่นดิน จักรินทร์ราชสุดา" ยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีโอกาสถวายงานพระองค์ท่าน มาถ่ายทอดเรื่องราวอันทรงคุณค่า เกี่ยวกับพระราชปณิธาน พระราชกรณียกิจ หลักการทรงงาน การศึกษา ตลอดจนพระจริยวัตรอันงดงามของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงเป็นดั่งแก้ววิเศษอันประเสริฐสุดของแผ่นดิน และทรงเป็นเจ้าฟ้าหญิงพระองค์เอกในพระบรมราชจักรีวงศ์ ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์จนถึงปัจจุบัน
ผศ.ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระสหายที่ได้มีโอกาสร่วมชั้นเรียนกับสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ บอกว่า สมัยเรียนพระองค์จะมีห้องสำหรับประทับ ห้องนี้ไม่ได้หรูหรา มีเพียงโต๊ะไม้ เก้าอี้นวมบุหนังพลาสติก และเก้าอี้ธรรมดาสำหรับเวลาอาจารย์และเพื่อนมาขอเข้าเฝ้า
“ถามว่าท่านสนิทกับพระสหายในคณะมั้ย ผมตอบง่ายๆ ว่า ท่านสามารถจดจำชื่อของพระสหายร่วมคณะได้ทั้งหมด 200 คน แถมยังจำชื่อรุ่นพี่ได้ด้วย พระองค์ท่านแทบไม่เคยขาดเรียน ยกเว้นต้องตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจ นอกนั้นในวันปกติ เวลา 06.30-07.00 น. พระองค์ท่านก็เสด็จมาถึงที่มหาวิทยาลัยแล้ว”
นอกจากนี้ ช่วงที่พระองค์กำลังศึกษาอยู่ ยังเป็นช่วงเวลาสำคัญของการเมืองไทย เพราะเป็นช่วงปี 2519 ซึ่งเป็นช่วงที่ความคิดในสังคมแตกแยก แต่สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ก็ทรงมีน้ำพระทัยกว้างขวาง ยอมรับว่าความคิดที่แตกต่าง ท่านบอกว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงสอนว่าคนเราต้องรู้เขารู้เรา ดังนั้นพระองค์ไม่ทรงอ่านเฉพาะหนังสือจากสหรัฐ แต่อ่านหนังสือของรัสเซีย และยังทรงเรียนภาษาจีนด้วย
“พระองค์ยังทรงเป็นนักจดบันทึก สมัยก่อนคนเรียนอักษรไม่จดไม่ได้ ท่านจะมีสมุดบันทึก 2 อย่าง แบบแรกเป็นเล่มเล็ก จดย่อๆ แบบเร็วๆ จดเฉพาะคำสำคัญ พอมีเวลาว่างระหว่างนั่งรถ หรือเสวยพระกระยาหารเสร็จ ถึงจะนั่งบันทึกสิ่งที่จดมาในสมุดเล่มใหญ่อย่างถูกต้อง ท่านจดทุกเรื่อง แม้แต่เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ผมคิดว่า ถ้าบันทึกเล่มใหญ่คงมีเป็นพันเล่ม ท่านทรงใช้หมดทุกเล่ม ไม่มีหน้าเปล่า ปากกาก็เหมือนกัน ทรงใช้หมดทุกแท่ง”
ผศ.ดร.ประพจน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า หลายคนมาถามว่าจะทำอะไรถวายท่านดี ผมว่าไม่ต้องหรอก แค่ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เป็นพ่อแม่ก็สอนลูกให้ดี เป็นนิสิตก็ตั้งใจเรียน พระราชกิจของพระองค์ก็จะเบาลง กว่าพระองค์จะมาถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นะ แทบจะคิดถึงประชาชนทุกลมหายใจ
ด้าน ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ในฐานะอีกหนึ่งบุคคลร่วมสมัยของสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ บอกว่า ในสมัยนั้นเด็กนักเรียนที่จบ มศ.5 ต้องสอบข้อสอบเดียวกันทั้งประเทศพร้อมกัน เพื่อเข้ามหาวิทยาลัย ปรากฏว่าพระองค์ท่านทรงได้คะแนนสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ในแผนกศิลปะ ถามว่าวันนั้นมีคนสงสัยในความสามารถของพระองค์หรือไม่ ศ.พิเศษ ธงทอง บอกว่า คิดว่ามี แต่เชื่อว่ามาจนถึงวันนี้ ถามว่าพระองค์เก่งจริงมั้ย คิดว่าท่านได้พิสูจน์พระอัจฉริยภาพให้เป็นที่ประจักษ์แล้ว
“ช่วงที่ทรงเป็นนิสิตมหาวิทยาลัย ผมในฐานะนิสิตต่างคณะ เพราะผมเรียนคณะนิติศาสตร์ ผมได้เห็นพระองค์ในงานรับน้อง พิธีไหว้ครู เรียกว่าพระองค์ท่านทรงเข้าร่วมในกิจกรรมของมหาวิทยาลัยตลอด เวลาที่ท่านเข้าชมรม ผมก็ไม่เห็นว่าต้องมีการปูพรมแดง หรือเอาโต๊ะมาให้ทรงประทับ เพราะในชมรมมีแต่ม้านั่งยาว ตอนที่ท่านเสด็จมาเรียน ก็ใช้รถนำขบวนเพียงแค่ 3 คัน ซึ่งถ้าไม่สังเกตจะไม่รู้เลยว่า เจ้าฟ้าของประเทศเสด็จมาทรงศึกษาแล้ว”
เรื่องการเป็นเจ้าฟ้านักจดบันทึก ศ.พิเศษ ธงทอง บอกว่า พระองค์ท่านไม่เพียงโปรดการจดบันทึก ยังส่งเสริมให้ผู้อื่นจดด้วย ตอนปี 2524 ผมได้มีโอกาสร่วมคณะบูรณะวัดพระแก้ว พระองค์ท่านทรงรับสั่งให้ผู้ร่วมคณะบันทึกรายละเอียด เนื่องจากในการบูรณะครั้งนั้น การกลับไปสืบค้นข้อมูลการปฏิสังขรณ์ในสมัย ร.7 มีน้อยมาก พระองค์ท่านจึงอยากให้ครั้งนี้เราช่วยกันจด เพื่อเป็นรายละเอียดเผื่อในอนาคตต้องมีการปฏิสังขรณ์อีก
“ถึงพระองค์จะเป็นเจ้าฟ้าโดยกำเนิด แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา พระองค์ก็ทรงเป็นแบบอย่างให้เห็นแล้วว่า ผู้ที่จะประสบความสำเร็จเป็นที่นับถือ ไม่สามารถได้มาเพราะนั่งอยู่เฉยๆ แต่พระองค์ทรงทำงาน และเสียสละเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ”
ปิดท้ายด้วย สมประสงค์ บุญยะชัย ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ ซึ่งได้มีโอกาสถวายงานพระองค์ท่านหลายครั้ง เล่าถึงความประทับใจที่มีต่อสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ว่า พระองค์ท่านเป็นปราชญ์ในสหวิชาการ มีความรู้หลายแขนง ในแง่การทำงาน พระองค์ท่านเป็นตัวอย่างในเรื่องความจริงจังและเอาใจใส่ในงานที่ทำ
“ในการกระทำการใดๆ ท่านทรงเปี่ยมไปด้วยความขยันและอดทน อีกสิ่งที่ผมสัมผัสได้ คือ ท่านเป็นผู้ที่ทรงประหยัด เห็นได้จากการที่ผมมีโอกาสเข้าเฝ้าพระองค์หลายครั้ง บางครั้งก็ฉลองพระองค์ด้วยชุดเดิม ผมยังจำพระราชดำรัสของพระองค์ที่น่าประทับใจได้ว่า ที่ผ่านมามีเพียง 2 สิ่งที่พระองค์ทรงทำเพื่อตัวเอง นั่นคือ การเรียนหนังสือ และเสวยพระกระยาหาร นอกนั้นสิ่งที่พระองค์ท่านทรงทำล้วนเพื่อประเทศชาติ"
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน