จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ทีมข่าวเศรษฐกิจภาครัฐ โพสต์ทูเดย์
นับถอยหลังวันหยุดยาว ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตั้งแต่วันที่ 11-15 เม.ย. กำลังจะเริ่มขึ้น และยังรวมไปถึงเดือนรัฐบาลคืนความสุขให้คนไทยได้หยุดยาว ช่วงวันแรงงานแห่งชาติและวันฉัตรมงคล ติดต่อกันแบบเหมาเข่งตั้งแต่วันที่ 1-5 พ.ค. 2558 อีก
การประกาศวันหยุดยาวในครั้งนี้ เพราะต้องการกระตุ้นให้พี่ไทยเที่ยวไทย หวังสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประเทศ โดยรัฐบาลต้องการให้ภาคการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนสร้างรายได้หลักในยามที่เครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจดับสนิท ทั้งการลงทุนภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชน การส่งออก จนถึงการบริโภคที่ซบเซา
หลายคนอาจไม่รู้ว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงได้คลอดมาตรการให้ผู้ท่องเที่ยวนำ ใบเสร็จโรงแรมที่พัก การซื้อทัวร์มาหักลดหย่อนภาษีรายได้บุคคลธรรมดาได้ 1.5 หมื่นบาท/ปี สำหรับบุคคลธรรมดา
ขณะที่นิติบุคคลสามารถหักลดหย่อนได้ 1 เท่าตัว หรือ 200% สำหรับบริษัทห้างร้านที่จัดการประชุมสัมมนา หรือจัดเดินท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (อินเซนทีฟ) ตั้งแต่ วันที่ 15 ธ.ค. 2557-31 ธ.ค. 2558
ได้เวลาเตรียมตัววางแผน ท่องเที่ยวอย่างชาญฉลาด สามารถกระจายรายได้ให้กับประเทศ ขณะที่ผู้เที่ยวหากมีการวางแผนที่ดีสามารถนำรายจ่ายมาหักลดหย่อนภาษีกลับเข้ากระเป๋าได้อีกฤดูกาลเสียภาษี
หลายคนมีคำถามคือทำอย่างไร จึงจะได้เงินกลับคืนมาในอนาคต...
ยุทธชัย สุนทรรัตนเวช นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ ชี้แจงว่า โครงการหักลดหย่อนภาษีมาปัดฝุ่นอีกครั้งของรัฐบาล มีเสียงตอบรับและพูดถึงในวงกว้างมากกว่าปี 2553 ที่รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศใช้ เพราะครั้งนี้สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ถึง 2 ปี การเสียภาษี ทั้งปีภาษี 2557 และปีภาษี 2558 หากใครพลาดโอกาสปีที่ผ่านมา ตลอดปีนี้สามารถเก็บใบเสร็จค่าโรงแรมที่พัก ค่าทัวร์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบการอย่างถูกต้องมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้
สำหรับแนวทางที่ผู้ท่องเที่ยวจะได้รับสิทธิการหักลดหย่อนนั้น จะต้องดำเนินการดังนี้ 1.ก่อนจองโรงแรมที่พักด้วยตัวเอง ควรตรวจสอบเลขที่จดทะเบียนโรงแรมเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นโรงแรมที่ได้รับใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายเพื่อให้ได้รับสิทธิอย่างสมบูรณ์
2.หากไม่ยุ่งยากควรจองผ่านบริษัททัวร์ เพราะจะมีใบเสร็จที่ชัดเจน แน่ใจได้ว่าสามารถเคลมเงินคืนได้
3.ควรตรวจสอบผ่านเว็บไซต์ www.tourism.go.th ของกรมการท่องเที่ยว ว่า บริษัททัวร์ที่จองนั้นถูกกฎหมายหรือไม่ เมื่อเลือกใช้ทัวร์สามารถมั่นใจได้ว่าโรงแรมที่พักจะเป็นโรงแรมที่ถูกกฎหมาย สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามหลักเกณฑ์
อย่างไรก็ตาม มีข้อแตกต่างในการจองผ่านบริษัททัวร์กับโรงแรมที่ต้องพิจารณาคือ การจองผ่านทัวร์ ใบเสร็จที่ได้รับจากบริษัทัวร์จะเห็นตัวเลขการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7%
ขณะที่หากจองผ่านโรงแรมโดยตรง ราคาห้องพักจะรวมทุกอย่างเบ็ดเสร็จไว้ในราคาค่าห้องไว้ด้วย นี่จึงอาจส่งผลต่อจิตวิทยากับนักท่องเที่ยวเล็กน้อย
กรณีที่นักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวกับกลุ่มเพื่อน ครอบครัว สามีภรรยา เป็นกรุ๊ปใหญ่ก็ควรหารือกับโรงแรมว่าสามารถนำค่าใช้จ่ายห้องพัก บริษัททัวร์ มาหารด้วยจำนวนของนักท่องเที่ยว เพื่อแยกใบเสร็จในแต่ละรายชื่อ เพื่อง่ายต่อการยื่นเสียภาษีได้หรือไม่
สำหรับบริษัทห้างร้านที่ต้องการใช้สิทธิหักภาษีและนำพนักงาน ท่องเที่ยว หากต้องการหาค่าใช้จ่ายมาเป็นส่วนลดทางบัญชีก็สามารถนำค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มาหักภาษีได้ และสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพนักงาน แถมได้เงินคืนกลับมาอีกด้วย
ขณะที่ สุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร นายกสมาคมโรงแรมไทย แนะนำว่า หากนักท่องเที่ยวไม่สามารถตรวจสอบกับเว็บไซต์สามารถสอบถามโดยตรงกับโรงแรมถึงเลขที่ จดทะเบียนของโรงแรมในช่วง การโทรศัพท์จองห้องพักได้
กรณีจองโรงแรมที่พักผ่านระบบออนไลน์ก็ควรโทรสอบถามเพิ่มเติม เพื่อความมั่นใจว่าเลือกโรงแรมถูกกฎหมายในการท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลต่อการได้รับสิทธิการลดหย่อนภาษี
"เพราะใบเสร็จที่ได้รับจากโรงแรมที่ผิดกฎหมายจะไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้"
นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวสามารถสังเกตใบอนุญาตได้ที่บริเวณล็อบบี้โรงแรม ส่วนใหญ่ได้แขวนป้ายใบอนุญาตไว้ หรือตรวจสอบใบอนุญาตผ่านเว็บไซต์ของกรมการปกครอง แม้อาจยุ่งยากในตอนต้น แต่เชื่อมั่นได้ว่าจะได้รับสิทธิหักลดหย่อนภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย
ประเด็นการหักลดหย่อนภาษีรายจ่ายที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวในปีนี้ หลายคนอาจจะไม่รู้ แต่นี่คือโอกาสทองของคนไทยที่จะลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ในอนาคต
ที่สำคัญรัฐบาลควรประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับคนไทยทุกเดือน โดยเฉพาะช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยวเพื่อจูงใจให้คนไทยตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวในประเทศแทนไปต่างประเทศ
สมชัย รัตนโอภาส กรรมการผู้จัดการ กลุ่มโรงแรมเอ-วัน กล่าวว่า ที่ผ่านมายังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนว่าคนไทยจะตื่นตัวเรื่องการเที่ยวเพื่อนำค่าใช้จ่ายไปหักลดหย่อนภาษี ส่วนมากมักจะนึกได้หลังจากที่ใช้บริการโรงแรมไปแล้ว ซึ่งก็อาจจะไม่ได้ลดหย่อน ถ้าในช่วงที่จองห้องพัก ไม่ได้ตรวจสอบดูก่อนว่าเป็นโรงแรมที่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม แต่หากตรวจสอบมาแล้วก็ต้องทวงใบกำกับภาษีตั้งแต่วันที่เข้าพักให้เรียบร้อย เพื่อให้แน่ใจ เพราะหากขอใบกำกับภาษีย้อนหลังอาจจะยุ่งยาก
หากเป็นการจองห้องพักผ่านตัวแทนจำหน่ายท่องเที่ยวออนไลน์ เช่น บุ๊คกิ้ง หรือ อโกด้า ก็ต้องไปขอใบเสร็จจากทางเว็บไซต์เหล่านั้น
เพราะอโกด้าเป็นผู้จองห้องพักกับโรงแรม โรงแรมออกใบกำกับภาษีให้อโกด้าได้ ส่วนผู้ที่จองผ่านอโกด้าก็ต้องไปขอใบกำกับภาษีจาก อโกด้า ต่างจากผู้ที่จองกับโรงแรมโดยตรงที่จะได้ใบกำกับภาษีจากโรงแรมโดยตรง
กรณีที่เข้าพักมากกว่า 1 คน ไม่สามารถจะแบ่งใบเสร็จออกเป็น 2 ใบ เพื่อแบ่งกันลดหย่อนภาษีได้ ดังนั้นผู้ที่จะมาเข้าพักก็ต้องตกลงกันเองว่าค่าใช้จ่ายครั้งนั้นใครจะเป็นผู้นำไปหักลดหย่อนภาษี เพราะออกใบเสร็จได้เพียงใบเดียว
โชติช่วง ศูรางกูร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท หนุ่มสาวทัวร์ กล่าวว่า หลักการลดหย่อนภาษีจากการซื้อทัวร์นั้นไม่ซับซ้อนมาก เพียงแค่จองโปรแกรมทัวร์ในประเทศเส้นทางไหนก็ได้ของบริษัทนำเที่ยวที่จดทะเบียนใบอนุญาตกับกรมการ ท่องเที่ยวล้วนใช้ลดหย่อนภาษีได้หมด
ส่วนการออกใบกำกับภาษี ก็ออกให้เป็นรายคนที่มาใช้บริการได้เลย เพราะค่าทัวร์จะคิดราคาต่อคนอยู่แล้ว
เห็นหรือยังว่าหากมีการวางแผนการท่องเที่ยวที่ดี สามารถลดเงินในกระเป๋าได้ไม่น้อยกว่าคนละ 1.5 หมื่นบาท หากรู้จักวางแผน การท่องเที่ยว คุณเริ่มทำแล้ว หรือยัง
สามีภรรยาแยกกันเคลมได้
กรมสรรพากร ชี้แจงว่า การใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเพื่อการท่องเที่ยวในประเทศ สิ่งสำคัญที่นำมาใช้เป็นหลักฐาน คือ ใบเสร็จรับเงิน หรือใบกำกับภาษีสำหรับค่าบริการนำเที่ยวภายในประเทศ หรือค่าที่พักโรงแรมภายในประเทศ ที่ผู้เสียภาษีต้องเรียกขอจากผู้ประกอบที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ หรือผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม
เอกสารดังกล่าวต้องระบุชื่อ-นามสกุล ของผู้มีเงินได้ที่จะใช้สิทธิหักลดหย่อน จำนวนเงิน และวัน เดือน ปี ในใบเสร็จ หรือใบกำกับภาษีให้ชัดเจน
ทั้งนี้ จะต้องเป็นใบเสร็จรับเงิน หรือใบกำกับภาษีที่ลงวันที่ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค. 2558 จะต้องนำไปใช้ลดหย่อนของปีภาษี 2558 ที่จะยื่นแบบภาษีภายในวันที่ 31 มี.ค. 2559
หากสามีหรือภรรยามีเงินได้เพียงฝ่ายเดียว ให้ใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีเฉพาะสามีหรือภรรยา ซึ่งเป็นผู้มีเงินได้
แต่หากสามี ภรรยา ต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ และในใบเสร็จ รับเงินหรือใบกำกับภาษีระบุผู้จ่ายเงินเป็นทั้งสามีและภรรยาให้ใช้หลักเกณฑ์ดังนี้
1.ถ้าสามีภรรยาต่างฝ่ายต่างแยกยื่นแบบ ให้ต่างฝ่าย ต่างหักลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินคนละ 15,000 บาท
2.ถ้าสามีภรรยาแยกยื่นแบบ เฉพาะเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นเงินได้ประเภทเงินเดือน ให้ต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนภาษีของตนเองได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง ไม่เกินคนละ 15,000 บาท
3.ถ้าสามีภรรยาตกลงยื่นแบบและเสียภาษีรวมกัน ให้หักลดหย่อนภาษีได้ทั้งสองฝ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง ไม่เกินคนละ 15,000 บาท
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน