จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ชลลดา อิงศรีสว่าง
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ส่งหนังสือเวียนถึงธนาคารพาณิชย์ แจ้งให้ทราบถึงการปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชี โดยสาระสำคัญของการปรับปรุงประกาศฉบับนี้ คือ เพิ่มคุณสมบัติของผู้สอบบัญชีและผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้สอบบัญชีให้มีความเป็นอิสระต่อทั้งสถาบันการเงินที่ผู้สอบบัญชีรับปฏิบัติงาน และบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินนั้น
ทั้งนี้ ธปท.จะพิจารณาให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชีที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดคราวละไม่ เกิน 5 ปี ซึ่งสอดคล้องกับเกณฑ์การให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชีในตลาดทุนของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และให้สถาบันการเงินแจ้งการแต่งตั้งผู้สอบบัญชีประจำปีภายหลังจากปีที่ได้รับความเห็นชอบผู้สอบบัญชีแล้วแก่ ธปท.ด้วย
ประกาศของ ธปท.ระบุว่า หากผู้สอบบัญชีปฏิบัติงานสอบบัญชีให้สถาบันการเงินแห่งเดียวกันมาแล้ว 5 รอบปีบัญชีติดต่อกัน สถาบันการเงินจะสามารถยื่นขอความเห็นชอบผู้สอบบัญชีรายดังกล่าวได้ต่อเมื่อพ้นระยะเวลาการตรวจสอบสถาบันการเงินแห่งนั้นแล้วอย่างน้อย 2 รอบปีบัญชี
ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา ธปท.ได้ทำหนังสือถึงสถาบันการเงินทุกแห่ง ให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธุรกิจสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 ที่ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาได้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. 2558 ประกาศปรับปรุงแก้ไขเรื่องการให้สินเชื่อ หรือธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายสินเชื่อ หรือการประกันหนี้ของสถาบันการเงินแก่กรรมการ ผู้จัดการ รองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ หรือผู้ซึ่งมีตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่น ให้ทำได้ภายใต้วงเงินที่ได้รับการอนุมัติเดิมก่อนดำรงตำแหน่งหรือปรับโครงสร้างหนี้เดิมโดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการสถาบันการเงิน ขณะเดียวกันยังอนุญาตการให้สินเชื่อบัตรเครดิตตามอัตราขั้นสูงและสินเชื่อสวัสดิการภายใต้หลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด
ประกาศฉบับดังกล่าว แก้ไขเพื่อให้ผู้บริหารหรือคณะกรรมการของสถาบันการเงินจะไม่สามารถขอกู้ยืมจากสถาบันการเงินที่ตนจะเข้าไปรับตำแหน่งได้ หรือหากเคยกู้ยืมก็ต้องจัดการโอนย้ายออกไปอยู่สถาบันการเงินอื่นๆ ก่อนจะเข้ารับตำแหน่ง
ดังนั้น จึงเป็นข้อเสียให้การสรรหาผู้บริหารหรือคณะกรรมการในตำแหน่งสำคัญๆ ทำได้ค่อนข้างลำบากแม้บุคคลนั้นจะมีคุณสมบัติครบถ้วน แต่หากยังมีวงเงินสินเชื่อค้างอยู่กับสถาบันการเงิน ก็ไม่สามารถเข้ารับตำแหน่งได้ กฎหมายนี้จึงช่วยปลดล็อกและเอื้อให้การทำงานของสถาบันการเงินสะดวกขึ้น
แหล่งข่าวจากสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ประกาศของ ธปท.เป็นไปตามการดำเนินการตามธรรมาภิบาลที่ดี ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าหากผู้ตรวจสอบบัญชีทำงานกับธนาคารพาณิชย์นานเกินไป จะทำให้เกิดความสนิทสนมกัน และอาจเกิดความเกรงใจที่จะเสนอคำแนะนำที่สวนทางกับที่ผู้บริหารธนาคารที่เป็นนายจ้างได้ การปรับเปลี่ยนผู้ตรวจสอบบัญชีเมื่อครบรอบ 5 ปีบัญชี ก็เป็นเรื่องที่เหมาะสม ไม่ได้สร้างภาระเพิ่มให้กับธนาคารแต่อย่างใด
"บางธนาคารทางคณะกรรมการได้กำหนดข้อบัญญัติของธนาคารไว้เองด้วย อย่างเช่น การกำหนดวาระของคณะกรรมการอิสระของธนาคาร ที่จะดำรงตำแหน่งได้นานแค่ไหน เพราะกรรมการอิสระนั้นจะเหมือนผู้ตรวจสอบบัญชี คือเมื่อดำรงตำแหน่งนานเกินไปก็เริ่มมีความสนิทสนม มีความเกรงใจกัน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการบริหารงาน" แหล่งข่าวเปิดเผย
อย่างไรก็ดี เชื่อว่า ธปท.จะยังคงใช้มาตรการเข้มงวดในการดูแลธนาคารพาณิชย์เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลที่ดีในเรื่องอื่นๆ ต่อไปอีกด้วย ซึ่ง ธปท.น่าจะประกาศใช้เป็นระยะ
แหล่งข่าวจากธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารพาณิชย์สนับสนุนในเรื่องการสร้างธรรมาภิบาลในองค์กรที่ดีอยู่แล้ว บางเรื่องกำหนดเป็นพันธกิจที่ธนาคารจะต้องดำเนินการเลย เช่น เรื่องของกรรมการธนาคาร ที่มีข้อบังคับระบุอย่างชัดเจนว่าโครงสร้างของคณะกรรมการธนาคาร จะต้องประกอบด้วยกรรมการจำนวน 7 คนขึ้นไป แต่ไม่เกิน 18 คน
การดำรงตำแหน่งของกรรมการเมื่อประชุมสามัญประจำปีของธนาคารทุกครั้ง ให้กรรมการลาออกจากตำแหน่ง 1 ใน 3 ของกรรมการทั้งหมด หากตกลงกันไม่ได้ว่าใครจะลาออก ใครจะดำรงตำแหน่งต่อไป ก็ให้ใช้วิธีการจับสลากออก โดยกรรมการที่ลาออกอาจได้รับการเลือกตั้งกลับมาใหม่ได้
นอกจากนั้น ธนาคารได้ออกกฎเพิ่มเติมโดยระบุคุณสมบัติกรรมการใหม่ว่าจะต้องมีอายุไม่เกิน 72 ปี ส่วนกรรมการอิสระจะมีวาระการดำรงตำแหน่งไม่เกิน 3 วาระติดต่อกัน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้หลังการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2556 เป็นต้นไป
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน