จากประชาชาติธุรกิจ
โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจเอเชีย ธนาคารเอชเอสบีซี
ปัจจุบันมีบรรดาบริษัทและนักลงทุนจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ที่ใช้เงินหยวนเพื่อการค้า การลงทุน การประกันความเสี่ยง การบริหารเงินสด และการระดมทุน ซึ่งสะท้อนว่าความแตกต่างระหว่างเงินหยวนกับเงินสกุลหลักอื่น ๆ ของโลกกำลังมลายหายไปอย่างรวดเร็ว
เมื่อ 5 ปีก่อน เอชเอสบีซีเคยคาดการณ์ไว้ว่า ภายในสิ้นปี 2558 ร้อยละ 30 ของการค้าจีนจะชำระกันด้วยเงินหยวน ซึ่งเมื่อพิจารณาการค้าทั้งหมดของจีน พบว่า สัดส่วนการใช้เงินหยวนเพื่อชำระสินค้าเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12 ในปี 2555 เป็นร้อยละ 22 ณ สิ้นปี 2557 ดังนั้น เราจึงยังมั่นใจว่าจะเป็นไปตามคาด
การชำระสินค้าด้วยเงินหยวนคาดว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้เป็นเพราะการที่จีนมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในการค้าและการลงทุนของโลกเพียงอย่างเดียว ขณะนี้มหานครปักกิ่งกำลังเร่งปฏิรูปด้านการเงินและปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ ให้ชัดเจนและง่ายขึ้น ที่สำคัญคือ การชำระสินค้าด้วยเงินหยวนขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้ง ๆ ที่การแข็งค่าของหยวนต่อเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีมานานนับสิบปีกลับมีทิศทางอ่อนค่าลงเล็กน้อย เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งอธิบายได้อย่างชัดเจนว่าคนเลือกใช้เงินหยวน เพราะเห็นว่าหยวนเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่าการใช้เพื่อเก็งกำไรระยะสั้น
เอชเอสบีซีคาดว่า ภายในปี 2563 การใช้เงินหยวนเพื่อการค้าจะพุ่งทะลุร้อยละ 50 ของการค้าทั้งหมดของจีน ซึ่งจะผลักดันให้หยวนก้าวสู่การเป็นสกุลเงินหลักของโลก แต่ในที่นี้ไม่ได้มองหยวนแต่ในแง่การค้า เราได้เห็นการจัดตั้งศูนย์กลางชำระเงินหยวนแห่งใหม่นอกฮ่องกงทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ การที่หยวนก้าวไปสู่สกุลเงินระดับโลก การเชื่อมโยงศูนย์กลางชำระเงินหยวนแห่งต่าง ๆ นี้กับจีน และการเชื่อมโยงระหว่างศูนย์กลางชำระเงินหยวนด้วยกันเอง จะทำให้การยกระดับเงินหยวนเข้าสู่สากลเป็นไปอย่างรวดเร็ว ลึกซึ้ง และกว้างขวางมากขึ้น
นอกจากนี้ การที่จีนเป็นผู้บริโภคและผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดของโลก ย่อมจะเป็นโอกาสใหม่ ๆ ของเงินหยวน ซึ่งจะนำมาใช้กำหนดราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการค้ากับตลาดเงินหยวนในต่างประเทศที่กำลังก่อตัวขึ้นอย่างเข้มแข็งและไม่หยุดนิ่ง
ปัจจุบัน รัฐบาลจีนอนุญาตให้มีการไหลเข้าออกของเงินลงทุนจำนวนมากการลงทุนโดยตรงใน ต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจีนมีการชำระกันด้วยเงินหยวนมากขึ้น ส่วนโครงการเชื่อมโยงการซื้อขายหุ้นระหว่างสองตลาด (Shanghai-Hong Kong Stock Connect) ก็เริ่มดำเนินการแล้วเมื่อพฤศจิกายนที่ผ่านมา และในไม่ช้าก็จะมีโครงการเชื่อมโยงกับตลาดหุ้น Shenzhen ตามมา แผนการอันยิ่งใหญ่ของจีนที่เรียกว่า เส้นทางสายไหมสายใหม่ (New Silk Road Plan) และพันธะสัญญาของจีนที่มีต่อธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank) เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะผลักดันให้ทุนจีนออกไปสู่ต่างประเทศ
เศรษฐกิจ จีนที่ชะลอตัวลงและหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้กะเก็งกันว่าจีนอาจจะ ชะลอการปฏิรูปบางอย่างออกไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดเสรีด้านบัญชีทุนแต่ ความจริงแล้วมหานครปักกิ่งได้เร่งรีบที่จะดำเนินการเปลี่ยนแปลง และเมื่อเป็นเช่นนั้น กระบวนการปฏิรูปก็ยากที่จะถอยหลังกลับได้ โดยเราพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วเห็นว่าการเปิดเสรีบัญชีทุนและการปฏิรูปด้าน การเงินอื่น ๆ เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาภายในประเทศได้
เมื่อเดือนมีนาคม สภาประชาชนแห่งชาติจีน (National People′s Congress) ยืนยันความเห็นเราว่า การปฏิรูปทางการเงินและการเปิดเสรี บัญชีทุนกำลังรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงเสียงย้ำชัดจากผู้ว่าการธนาคารชาติจีนว่าจะปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยเคลื่อนไหวอย่างเสรีในปีนี้ ซึ่งจะปูทางให้เกิดการปฏิรูปที่สำคัญอื่น ๆ และเร่งพัฒนาตลาดทุนภายในประเทศ การพัฒนาต่าง ๆ พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่คาดว่าจะเกิดขึ้น สะท้อนว่าเงินหยวนน่าจะกลายเป็น 1 ใน 5 ของสกุลเงินที่ใช้ซื้อขายในแต่ละวันมากที่สุดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และเงินหยวนก็คาดว่าจะกลายเป็นสกุลเงินที่ใช้แลกเปลี่ยนได้อย่างเสรีภายใน 2 ปี
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน