จากประชาชาติธุรกิจ
สัปดาห์ที่แล้ว โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงเรื่องคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน โดยให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แก้ไขจัดระเบียบขอทาน และยกเลิก พ.ร.บ.ขอทาน พ.ศ.2484 ด้วยการตั้งคณะกรรมการควบคุมการขอทานขึ้น มีใจความคร่าวๆ ดังต่อไปนี้
ห้ามกระทำการใดให้ผู้อื่นมอบทรัพย์สินให้ โดยมิได้ทำงานตอบแทนหรือด้วยทรัพย์สินใด
ห้ามกระทำการใดให้ผู้อื่นสงสาร โดยมิได้ทำงานตอบแทนหรือด้วยทรัพย์สินใด
ห้ามประกอบการแสดงใดๆ ในที่สาธารณะ เช่น เล่นดนตรีเปิดหมวก เว้นแต่ได้ขออนุญาตต่อเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นนั้นๆ
นอกจากนี้ ครม.ยังกำชับให้ พม.กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฝึกอบรมและฝึกอาชีพแก่ขอทานที่เป็นคนไทย ให้สามารถสร้างรายได้เลี้ยงตนเอง พร้อมจัดการเด็ดขาดในการส่งขอทานต่างด้าวกลับประเทศเดิม
จากสามข้อห้ามคร่าวๆ ข้างต้น คนจำนวนไม่น้อยแม้จะมีเมตตาและกรุณาเป็นนิสัย ก็อาจเห็นดีเห็นงาม ผู้คนจะมีโอกาสเรียนรู้วิชาชีพสร้างทักษะนานาประเภทขึ้นหารายได้
โดยเฉพาะความมักง่ายในชีวิต ที่ใช้วานหรืออาจจะบังคับให้เด็กเล็ก กระทั่งทารก คอยขายสินค้ากลางถนน หวังเอาว่าวัยน้อยๆ นั้นจะเป็นที่มาของเงินทองจากความสงสาร เวทนา โดยไม่คำนึงถึงอันตรายที่จะเกิดกับเด็ก หรือความเหมาะควรในวัยของผู้ถูกกระทำ
รวมถึงการทะลักเข้ามาของขอทานต่างด้าว อันอาจเป็นที่มาของอาชญากรรมเกี่ยวกับเด็ก หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
แต่หลายคนอาจยังขอเวลาคิดเกี่ยวกับการแสดงในสถานที่สาธารณะ โดยเฉพาะที่เรียกแล้วเข้าใจกันได้ง่ายว่า การเล่นดนตรีเปิดหมวก (รับบริจาค)
เพราะการแสดงดนตรีถือได้ว่าทำงานแล้ว ที่จริงโดยพฤตินัยนั้นทำงานฟรีด้วย ผู้ฟังพอใจจะให้เงินตอบแทนก็ได้ ไม่ว่าจะมากจะน้อย หรือฟังเฉยๆ ไม่ให้ก็ได้ มิได้มีการ (เท่าที่รู้เห็น) รบกวนหรือพะเน้าพะนอขอหรือกรรโชกบังคับ
อย่างหลังเผลอๆ อาจจะได้สิ่งอื่นตอบแทน
ประเด็นเปิดหมวกเล่นดนตรีอยู่ตรงสถานที่มากกว่า ว่าสถานที่สาธารณะนั้นรบกวนผู้คนหรือไม่ ทำให้สาธารณชนเดือดร้อนหรือเปล่า หรือกีดขวางทางสัญจร หรือทำตรงจุดที่ไม่เหมาะ เช่น กลางป้ายรถประจำทางคนขึ้นลง เป็นต้น
ดังนั้น เรื่องนี้จึงต้องพูดสองประเด็นคือ ประเด็นแรก สมัยนี้การแสดงดนตรีถือว่าทำงานเพราะเป็นวิชาชีพ ไม่ใช่ขอทาน
ต่อให้เป็นวณิพกถือกะลาร้องเพลงลูกทุ่งไปตามตลาดสด หรือที่มีเครื่องมือเล็กๆ น้อยๆ กระทั่งลำโพงประกอบ ก็ถือเป็นการแสดงความสามารถ ไม่ใช่เหมาเอาจากภาพที่เห็นมาช้านานเหล่านั้นว่าล้วนเป็นการหากินของขอทาน
หรือยังคิดเห็นว่าเป็นพวกเต้นกินรำกินข้างถนน
พวกเต้นกินรำกินข้างถนนกี่คณะมาแล้วที่ถูกเชิญมาแสดงเวทีใหญ่ๆ อย่างศูนย์วัฒนธรรมไทยตอนเทศกาลเดือนกันยายน ลองย้อนไปค้นดู กระทั่งคณะ เซิร์ค ดู โซเลย์ ชื่อกระเดื่องโลกนั้นมิใช่เกิดจากนักเต้นกินรำกินข้างถนนหรือ
จะคิดเอาง่ายๆ ว่าเล่นดนตรีข้างถนนเป็นขอทานไม่ได้แล้ว
ไปเปิด ยูทูบ ดูเถอะ นักดนตรีข้างถนนชั้นยอดแต่ละเมืองที่โลกเพิ่งรู้จัก (แต่ชาวบ้านรู้จักมานานแล้ว) มีมากขนาดไหน ฝีมือแต่ละคน เช่น กีตาร์หรือออร์แกน เป็นอาทิ สะกดนักดนตรีอาชีพได้เลย
ประเด็นที่สองคือการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกัน
หลายคนคงเดินทางท่องเที่ยวมาแล้วหลายเมืองอารยะ ไม่ว่าญี่ปุ่น ยุโรป อเมริกา หรือแม้แต่สิงคโปร์ ฮ่องกงเพื่อนบ้าน
ต่อให้เข้มงวดกับการใช้พื้นที่สาธารณะให้เหมาะสมแก่บุคคลทั่วไปขนาดไหน ก็ยังต้องเว้นหรือเปิดพื้นที่ อาจจะเป็นถนนทั้งสายหรือที่ใดที่หนึ่งเวลาใดเวลาหนึ่ง ให้ผู้คนได้แสดงออก ทั้งที่ใส่หมวกแสดงและที่เปิดหมวกแสดง
ส่วนในมหานครต่างๆ วณิพกเองอาจต้องใช้วิจารณญาณว่าจะใช้พื้นที่ตรงไหนที่เหมาะสม ทั้งสะดวกกับการหารายได้และไม่กีดขวางรบกวนผู้คน โดยเฉพาะสวนสาธารณะหรือลานประจำเมืองประจำมุมเมืองจุดต่างๆ
เพราะบ้านเขาก็มีกฎหมายการใช้พื่นที่สาธารณะเหมือนกันไม่ใช่ใครอยากทำอะไรตามใจตัวก็ทำได้
ทั้งการแสดงดนตรีก็ยังเป็นทางออกที่ดีและงดงามทางหนึ่งในการคลี่คลายบางปัญหาให้กับหลายบุคคล ในการใช้ความรู้ความสามารถด้านนี้รวบรวมรายได้ ช่วยเพื่อนนักเรียนที่ขัดสนบ้าง ช่วยเพื่อนที่กำลังเจ็บป่วยอัตคัด หรือญาติพี่น้องใกล้ชิดบ้าง แม้จนเป็นกิจกรรมการกุศลเพื่อประโยชน์สาธารณะ
การขออนุญาตมิใช่เรื่องทำไม่ได้ หรือไม่ต้องทำ หากเป็นกระบวนการเข้าใจกันระหว่างรัฐกับประชาชน แต่กระบวนการจะเป็นอย่างไร เข้าใจกันจริงแท้เช่นบุคคลอารยะไหม
เรื่องนี้ยังคงต้องถกเถียงเพื่อความเข้าใจกระจ่างร่วมกันอีก ในการจัดการบ้านเมืองที่สร้างสรรค์ มีคนที่มีความสามารถทำกิน ขจัดคนที่หากินกับเด็กหรือที่มาของสินค้ามนุษย์ เมืองที่ผู้คนเมตตากรุณาซึ่งมิได้ใช้แต่กับขอทาน
บ้านเมืองที่ไร้วณิพกขับขานคงเงียบเหงาน่าดู เพราะแม้แต่นกยังเที่ยวเกาะสายไฟฟ้าได้อิสระไปครึ่งค่อนเมือง
แต่นั่นแหละ จะใช้กฎหมายไปเล่นงานนกเหล่านั้นหรือ
ที่มา นสพ.มติชนรายวัน
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน