สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พ.ร.บ. ทวงหนี้ฉบับใหม่ เรื่องที่ SME ควรรู้

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

กลับมาพบกันอีกครั้งหลังได้หยุดพักผ่อนกันหลายวัน แต่เรื่องที่ SME ยังคงต้องระมัดระวังในการดำเนินธุรกิจ คือ ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ

สถาบันการเงินหลายแห่งได้ปรับลดเป้าหมายในการปล่อยสินเชื่อ เพิ่มความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อ และได้ให้ความสำคัญกับการติดตามทวงถามหนี้ เนื่องจากปัญหา NPL ที่เพิ่มสูงขึ้นมาก
ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไข จะต้องเผชิญกับการติดตามทวงถามหนี้จากเจ้าหนี้มากยิ่งขึ้น

ผมจึงขอนำเสนอข้อควรรู้เกี่ยวกับกฎหมายทวงหนี้ฉบับใหม่ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2558 และจะมีผลบังคับใช้อีก 180 วัน โดยมีประเด็นที่สำคัญ คือ เจ้าหนี้ประเภทใดที่การทวงหนี้ตกอยู่ภายใต้การควบคุมตามกฎหมายนี้ ลูกหนี้ประเภทใดอยู่ภายใต้ความคุ้มครองตามกฎหมายนี้ และการทวงหนี้ที่ต้องห้ามตามกฎหมายมีลักษณะอย่างไรบ้าง

ในมาตรา 3 พระราชบัญญัตินี้ ผู้ทวงถามหนี้ หมายความว่า เจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้ให้สินเชื่อ ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้จัดให้มีการเล่นการพนันเป็นปกติธุระตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน และเจ้าหนี้อื่นซึ่งมีสิทธิรับชำระหนี้อันเกิดจากการกระทำที่เป็นทางการค้าปกติ หรือเป็นปกติธุระของเจ้าหนี้ ทั้งนี้ไม่ว่าหนี้ดังกล่าวจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม และให้หมายความรวมถึงผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ดังกล่าว ผู้รับมอบอำนาจช่วงในการทวงถามหนี้ ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ และผู้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ด้วย

ส่วนลูกหนี้ หมายความว่า ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา และให้หมายความรวมถึงผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นลูกหนี้ที่เป็นนิติบุคคล ไม่ว่าจะเป็น ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัท สมาคม มูลนิธิวัด หรือนิติบุคคลอื่น ๆ แม้จะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายฉบับนี้ เจ้าหนี้ก็ไม่มีความผิด

สำหรับการทวงหนี้ที่ต้องห้าม ตามมาตรา 11 ของกฎหมายนี้ มีดังนี้

1 การข่มขู่ การใช้ความรุนแรง หรือการกระทำอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น

2 การใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้หรือผู้อื่น

3 การแจ้งหรือเปิดเผยเกี่ยวกับความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้

4 การติดต่อลูกหนี้โดยไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อให้ทราบว่าเป็นการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เว้นแต่กรณีการบอกกล่าวบังคับจำนองด้วยวิธีการประกาศทางหนังสือพิมพ์ ซึ่งเจ้าหนี้ไม่สามารถติดต่อลูกหนี้ด้วยวิธีการอื่น หรือกรณีอื่นใดตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

5 การใช้ข้อความเครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้ทางบนซองจดหมายในการติดต่อลูกหนี้ที่ทำให้เข้าใจได้ว่า เป็นการติดต่อเพื่อทวงถามหนี้ เว้นแต่ชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้ไม่ได้สื่อให้ทราบได้ว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้

6 การทวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสมในลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดความใน (5) มิให้นำมาใช้บังคับกับการทวงถามหนี้ เป็นหนังสือเพื่อจะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาล

ส่วนการทวงถามหนี้ในลักษณะที่เป็นเท็จหรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดตามมาตรา 12 มีข้อห้ามดังนี้

1. การแสดงหรือการใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือเครื่องแบบที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นการกระทำของศาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ

2. การแสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าการทวงถามหนี้เป็นการกระทำโดยทนายความ สำนักงาน

3. การแสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าจะถูกดำเนินคดี หรือจะถูกยึด หรืออายัดทรัพย์สิน หรือเงินเดือน

4. การติดต่อหรือการแสดงตนให้เชื่อว่าผู้ทวงถามหนี้ดำเนินการให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิตหรือรับจ้างบริษัทข้อมูลเครดิต

นอกจากนี้ ตามมาตรา13 ยังมีข้อห้ามการทวงถามหนี้ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมดังนี้

1. การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ เกินกว่าอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

2. การเสนอหรือจูงใจให้ลูกหนี้ออกเช็คทั้งที่รู้อยู่ว่าลูกหนี้อยู่ในฐานะที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้
สำหรับบทลงโทษนั้น มาตรา 40 ระบุว่าบุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา 12(2)(3)หรือ (4) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 41 บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา11(1) หรือมาตรา 12(1) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ เนื่องจากการทวงถามหนี้ในปัจจุบันมีการกระทำที่ไม่เหมาะสมต่อลูกหนี้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ถ้อยคำที่เป็นการละเมิดสิทธิบุคคลอย่างรุนแรง การคุกคามโดยการขู่เข็ญ การใช้กำลังประทุษร้าย รวมถึงการใช้ข้อมูลเท็จและการสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่บุคคลอื่น

ถ้าหากเจ้าหนี้ใช้หลักคุณธรรมในการติดตามทวงถามหนี้ ลูกหนี้รู้หน้าที่คือเป็นหนี้แล้วต้องใช้หนี้ ถ้ามีปัญหาในการชำระหนี้ ก็ต้องไปพบปะเจ้าหนี้เพื่อเจรจาหาข้อยุติร่วมกัน พระราชบัญญัติ ฉบับนี้ก็ไม่มีความจำเป็นครับ

ขอให้เจ้าหนี้และลูกหนี้ได้ร่วมมือช่วยเหลือเกื้อกูลกันด้วยเหตุและผลเพื่อร่วมกันฟันฝ่าวิกฤติครับ



สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พ.ร.บ. ทวงหนี้ฉบับใหม่ SME ควรรู้

view