จากประชาชาติธุรกิจ
วิกฤตการเงินโลกที่ปะทุขึ้นในสหรัฐก่อนลุกลามไปทั่วโลก ได้สั่นคลอนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในอเมริกาและยุโรป จากวิกฤตในครั้งนี้คณะกรรมการกำกับดูแลด้านการธนาคารแห่งบาเซิล (Basel Committee on Banking) ได้สร้างหลักเกณฑ์ Basel III ขึ้นมา เพื่อดูแลการดำรงเงินกองทุนและบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของสถาบันการ เงินทั่วโลก เพื่อเตรียมรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต โดยได้มีการกำหนดเงื่อนไขสำหรับสถาบันการเงินให้ (1) ดำรงเงินกองทุน (2) บริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง และ (3) เพิ่มมาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่มีความสำคัญต่อระบบการเงินโลก
โดย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา "มูดีส์ฯ" ได้ออกรายงาน "ASEAN Banks Well Placed for Basel III Capital and Liquidity Ratio Compliance" ซึ่งระบุว่า ธนาคารและสถาบันการเงินในอาเซียน โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ มีความพร้อมที่จะปรับกฎระเบียบในการบริหารงานให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ Basel III ก้าวขึ้นไปอีกขั้นภายในปี 2557-2559 นี้
โดยจากการประเมินแล้ว มูดีส์ฯเชื่อว่า สถาบันการเงินในอาเซียนพร้อมรับเกณฑ์ที่สูงขึ้นสำหรับ 1) Common Equity Tier 1 (CET1) ซึ่งถือเป็นเงินกองทุนที่มีคุณภาพสูงสุด เช่น หุ้นสามัญและกำไรสะสม 2) อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Capital Ratio) ซึ่งเป็นเกณฑ์ในการกำหนดอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำขึ้นมาใหม่ และ 3) เรื่องการเพิ่มคุณภาพเงินกองทุนเพื่อให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยการประเมินนั้นได้มองไปถึง Capital Buffers ที่จะเพิ่มขึ้น และเครดิตที่จะเพิ่มขึ้นในช่วง 12-18 เดือนหลังจากนี้ด้วย
นายอัลกา อันบาราสุ รองประธานมูดีส์ฯและนักวิเคราะห์อาวุโส ระบุว่า "ธนาคารในอาเซียน สามารถสะสมทุนได้ดี และสามารถบรรลุเงื่อนไขในการสะสมเงินทุนขั้นต่ำในระดับต่อไปตามเงื่อนไขของ หลักเกณฑ์ Basel III ได้" โดยมูดีส์ฯหวังว่าธนาคารพาณิชย์ในสิงคโปร์จะปรับเกณฑ์ CET1 ให้อยู่ที่ราว 9% ฟิลิปปินส์ 8.5% และประเทศอื่น ๆ อยู่ที่ราว 7%"
นอกจากนี้ รายงานจากมูดีส์ฯยังเรียกร้องให้ชาติในอาเซียนแต่ละแห่ง ประกาศ รายชื่อสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (Systemically Important Financial Institutions:SIFIs) ภายในสิ้นปีนี้ โดยการคัดเลือก SIFIs นั้นจะพิจารณาจาก 5 ปัจจัยหลัก (1) ปริมาณการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ (Global Activity) (2) ขนาดสินทรัพย์ (Size) (3) ความเชื่อมโยงกับสถาบันการเงินอื่นทั้งในด้านสินทรัพย์และหนี้สิน (Interconnectedness) (4) การเป็นผู้ให้บริการทางการเงิน ซึ่งสำคัญต่อเสถียรภาพของระบบการเงินโดยรวม (Substitutability) และ (5) ปริมาณการทำธุรกรรมที่ซับซ้อน (Complexity)
อย่างไรก็ดี มูดีส์ฯชี้ว่าปัญหาสำหรับอาเซียนคือ แต่ละประเทศมีการตีความสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องคุณภาพสูง (High Quality Liquid Asset) และกระแสเงินทุนไหลออก (Outflow) ต่างกัน
ประกอบกับ ระบบการธนาคารที่ยังคงแตกต่างกัน ทำให้เงื่อนไขขั้นต่ำสำหรับ Liquidity Coverage Ratio (LCR) ไม่เหมือนกัน และยังไม่สามารถเปรียบเทียบได้ในระดับภูมิภาค โดยมูดีส์ฯมองว่าศักยภาพของธนาคารพาณิชย์ในอาเซียนพร้อมที่จะปรับค่า LCR ขั้นต่ำให้อยู่ที่ราว 60% แม้ว่าธนาคารส่วนใหญ่จะสามารถปฏิบัติตามได้ถึง 100%
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน